×

ไมเนอร์ทุ่ม 4,483 ล้านเป็นเจ้าของ Bonchon ดีลนี้คุ้มค่าแค่ไหน เจาะเบื้องหลังความกรอบของไก่ทอดเกาหลี

06.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ในห้วงเวลา 5 เดือน ‘ไมเนอร์’ ตัดสินใจใช้เงิน 2 รอบเป็นมูลค่า 4,483 ล้านบาท ในการเป็นเจ้าของ ‘Bonchon’ เชนร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลีชื่อดัง น่าสนใจว่าไมเนอร์มองเห็นอะไรจึงได้ทุ่มทุนในครั้งนี้ 
  • ไมเนอร์มองโอกาสจากตลาดไก่ที่เติบโตสูง ปี 2551-2561 เติบโตถึง 229% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาไมเนอร์ไม่ได้มีร้านอาหารที่อยู่ในกลุ่มนี้อย่างจริงจังเลย
  • ‘เดลิเวอรี’ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไมเนอร์ตัดสินใจเข้าเป็นเจ้าของ Bonchon ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าตลาดเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นจาก 52,000 ล้านบาทในปี 2556 มาเป็น 84,000 ล้านบาทในปี 2561 หรือ 5 ปีมานี้เติบโตเฉลี่ย 10% และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 1.11 แสนล้านบาทในปี 2564
  • ภายใน 5 ปีต่อจากนี้วางแผนจะเปิดให้ครบ 150 สาขา ซึ่งหากมีโอกาสจะขยายให้เป็น 200 สาขา เฉพาะปี 2563 จะเปิดให้ครบ 70 สาขา พร้อมวางแผนบุกหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือภูเก็ต
  • ไมเนอร์ย้ำว่าดีลนี้มองอย่างไรก็คุ้มเมื่อเทียบกับศักยภาพของ Bonchon

ในห้วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ‘ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร ได้ตัดสินใจใช้เงิน 2 รอบเป็นมูลค่า 4,483 ล้านบาท ผ่านบริษัทลูกที่ดูแลธุรกิจอาหารในการเป็นเจ้าของ ‘Bonchon’ เชนร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลีชื่อดัง

 

ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2562 ใช้เงิน 2,000 ล้านบาท เข้าซื้อ Bonchon ทั้งสิ้น 40 สาขา

 

ครั้งที่ 2 สดๆ ร้อนๆ ในเดือนมีนาคม 2563 ใช้เงินอีก 2,483 ล้านบาท ครั้งนี้ไม่ได้เข้าซื้อสาขาเหมือนเคย แต่เข้าถือหุ้นในบริษัท Spoonful Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ของ Bonchon ในไทย และบริษัท สพูนฟูล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการร้าน Bonchon ที่ขยายต่อไปในประเทศไทย

 

ตีความหมายง่ายๆ คือตอนนี้ไมเนอร์ได้เข้าไปถือหุ้น 70% ของมาสเตอร์แฟรนไชส์ Bonchon ทำให้ต่อไปไมเนอร์คือผู้ดำเนินธุรกิจร้าน Bonchon ในไทย ตลอดจนเป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ในระยะเวลา 20 ปี แต่เพียงผู้เดียว รวมถึงให้สิทธิ์ในการให้แฟรนไชส์ต่อ 

 

น่าสนใจว่า ‘ไมเนอร์’ มองเห็นอะไรในตัว Bonchon จึงได้ทุ่มเงินเกือบ 4,500 ล้านบาทในการเป็นเจ้าของครั้งนี้ 

 

 

‘ตลาดไก่’ ยังโตได้อีกมาก 

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้ THE STANDARD เห็นว่าเหตุผลที่ไมเนอร์ตัดสินใจเข้าซื้อ Bonchon แบบเบ็ดเสร็จ นอกเหนือจากในพอร์ตร้านอาหารจะยังไม่มีร้านไก่ทอดแล้ว ‘ตลาดไก่’ ยังเติบโตได้อีกมาก 

 

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2561 ‘ตลาดไก่’ เติบโตถึง 229% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท 

 

ตัวเลขนี้มากกว่ามูลค่าของตลาดร้านอาหารอื่นๆ ที่ไมเนอร์มีอยู่แล้ว ทั้งตลาดเบอร์เกอร์ที่เติบโตเพียง 196% จากมูลค่า 3,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท, ตลาดพิซซ่า เติบโต 53% จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท และตลาดไอศกรีม เติบโต 104% จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 9,000 ล้านบาท

 

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

 

ความหวังสร้างการเติบโต

แต่ที่ลึกไปมากกว่านั้น ไมเนอร์ต้องการให้ Bonchon เป็นดั่งเครื่องยนต์ไอพ่นที่เข้ามาดึงการเติบโตให้กับธุรกิจอาหาร เพราะสิ่งที่ไมเนอร์กำลังเจอในปี 2562 ที่ผ่านมาคือการขายต่อร้านเดิม (Same-Store-Sales) ลดลง 3% ฉุดให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA Margin) ลดลง 3% และกำไรสุทธิลดลง 20%

 

แม้รายได้รวมจะเติบโต 3% มาอยู่ที่ 24,233 ล้านบาท หากรายได้ที่เพิ่มขึ้นล้วนมาจากการเปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น ซึ่งปี 2562 ไมเนอร์เปิดสาขาใหม่ในทุกแบรนด์รวมกัน 107 สาขา 

 

ทว่าปัญหาใหญ่ที่ไมเนอร์กำลังเจอไม่ได้เกิดกับ Bonchon ที่แม้ในปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่กำลังเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาดจนทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปในร้าน แต่สำหรับ Bonchon แล้ว ยอดขายต่อร้านในช่วง 2 เดือนแรกของปียังแข็งแกร่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากบริการส่งแบบเดลิเวอรีเข้ามาช่วยพยุงยอดขายไว้ 

 

ภาพ: ธนทัต จันทารักษ์ / THE STANDARD

 

‘เดลิเวอรี’ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไมเนอร์ตัดสินใจเข้าเป็นเจ้าของ Bonchon ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าตลาดเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นจาก 52,000 ล้านบาทในปี 2556 มาเป็น 84,000 ล้านบาทในปี 2561 หรือ 5 ปีมานี้เติบโตเฉลี่ย 10% 

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังประเมินเพิ่มเป็น 1.11 แสนล้านบาทในปี 2564 เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทั้งสิ้น เพราะไมเนอร์เองก็ต้องการบุกเดลิเวอรีอยู่แล้ว ด้วยเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มองข้ามไม่ได้ 

 

ขยายได้มากถึง 200 สาขา 

ความน่าสนใจของ Bonchon ยังไม่หมดแค่นั้น ด้วยจำนวนสาขาที่มีเพียง 42 สาขา ชัยพัฒน์บอกว่า Bonchon ยังเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ในเครือ เช่น The Pizza Company 570 สาขา, Swensen’s 322 สาขา, Sizzler 65 สาขา, Dairy Queen 522 สาขา และ Burger King 128 สาขา (ตัวเลขสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)

 

Bonchon ยังมีโอกาสขยายเพิ่มได้ถึง 200 สาขา โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่ Bonchon ยังไม่ได้ไป ซึ่งหากเทียบกับคู่แข่งในสังเวียนหลักอย่าง KFC ที่มีไม่น้อยกว่า 700 สาขา มวยรองบ่อนอย่าง Bonchon จึงมองว่ามีโอกาสอยู่อีกมาก เพราะเมื่อมองดีๆ Bonchon เองก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกับมวยรุ่นเก๋า และพร้อมขึ้นชกอย่างสบายๆ 

 

 

“เบื้องต้นไมเนอร์วางแผนขยายสาขา 5 ปีจะเปิดให้ครบ 150 สาขา ซึ่งหากมีโอกาสจะขยายให้เป็น 200 สาขา เฉพาะปี 2563 จะเปิดให้ครบ 70 สาขา พร้อมวางแผนบุกหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือภูเก็ต” 

 

ดีลนี้มองอย่างไรก็ ‘คุ้ม’

ยิ่งไปกว่านั้นความหอมหวนของ Bonchon ยังอยู่ที่อัตราคืนทุนเฉลี่ยแล้วน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งปกติแล้วร้านอาหารจะมีอัตราคืนทุนเฉลี่ย 3 ปี แปลได้ง่ายๆ คือกำไรของ Bonchon มีตัวเลขที่สูงเป็นอย่างมาก

 

จุดนี้สร้างความมั่นใจให้กับไมเนอร์ว่าทั้งกำไรขั้นต้นและกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA Margin) จะช่วยให้ Bonchon สามารถรับมือกับความสามารถในการทำกำไรที่อาจลดลง อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ 

 

นี่ยังไม่รวมกับฐานลูกค้าหลักที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (กลุ่ม Millennial และ Gen Z) ซึ่งมีความภักดีสูง จนสามารถนำไปต่อยอดกับร้านอาหารอื่นๆ ในเครือได้

 

ภาพ: ธนทัต จันทารักษ์ / THE STANDARD

 

“ดีลนี้มองอย่างไรก็คุ้ม ถ้าไม่คุ้มเราไม่ซื้อ และราคาที่จ่ายก็ไม่ได้แพงเลยเมื่อเทียบกับศักยภาพของ Bonchon ที่มีอยู่” ชัยพัฒน์ย้ำกับ THE STANDARD เมื่อถูกถามว่าคุ้มไหมกับการจ่ายเงิน 4,483 ล้านบาท 

 

ขณะเดียวกัน ชัยพัฒน์ยังขอไม่เปิดเผยว่าเมื่อ Bonchon เข้ามาอยู่ในเครือแล้วจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ที่แน่ๆ Bonchon จะได้พลังจากเครือข่ายที่มีอยู่ในมือ โดยเฉพาะซัพพลายเชนที่จะทำให้ต้นทุนลดลง 

 

รวมไปถึงอำนาจในการต่อรอง ‘แลนด์ลอร์ด’ หรือเจ้าของพื้นที่เช่า ซึ่งจะทำให้ Bonchon สามารถหาทำเลดีๆ ไปปักหลัก และเกมการตลาดที่จะเข้มข้นขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา Bonchon ไม่ได้ทำอะไรกับส่วนนี้มากนัก

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ Bonchon จะสร้างความคุ้มค่าอย่างที่ ‘ไมเนอร์’ หวังไว้ได้หรือไม่ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง 

 

ภาพ: ธนทัต จันทารักษ์ / THE STANDARD

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising