×

เปิดไทม์ไลน์กระบวนการยึด-อายัดเงินต้องสงสัยคดีเว็บพนันมินนี่ ที่ ‘พล.ต.อ. สุรเชษฐ์’ ถูกกล่าวหา

โดย THE STANDARD TEAM
16.07.2024
  • LOADING...
สุรเชษฐ์

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมมีรายงานข่าวว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีความพยายามยึดอายัดทรัพย์ในส่วนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)  

 

เนื่องจากมีการร้องเรียนจากชุดทำคดี ว่าเส้นทางการเงิน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เชื่อมโยงกับเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ เพราะปรากฏว่าผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ อาทิ พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ 

 

ขณะที่จากการตรวจสอบพบไทม์ไลน์และการหารือเรื่องการยึด-อายัดทรัพย์ของรอง ผบ.ตร. ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ณ วันนี้ (16 กรกฎาคม) ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  • 3 สิงหาคม 2566 ปปง. ได้รับรายงานจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ รายการดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงิน ณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก (คดีเว็บพนันมินนี่)

 

  • 18 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 10/2566 มีมติมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด

 

  • 9 มกราคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ยึด-อายัดทรัพย์สิน ณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก รวม 255 รายการ (ย.2/2567)

 

  • 12 มีนาคม 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 3/2567 มีมติส่งเรื่องที่พิจารณาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ไปยังอัยการเพื่อฟ้องยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 51/2567

 

  • 10 เมษายน 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 4/2567 มีมติเพื่อยึดอายัดทรัพย์เพิ่ม ณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก เพิ่ม 4 รายการ

    วันเดียวกันนี้พนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนได้เสนอเรื่องเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมยึด-อายัดทรัพย์สิน กรมธรรม์ประกันภัยของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และภรรยา

 

เนื่องจากมีเส้นทางการเงินการโอนจากบัญชี ครรชิต สองสมาน, เบญจมิน แสงจันทร์ และ พุฒิพงษ์ พูนศรี (บัญชีม้าผู้ต้องหาคดีพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ที่ พ.ต.ท. คริษฐ์ ใช้)

 

ทั้งนี้ไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ปปง. แจ้งว่าให้เสนอเข้าที่ประชุมในเดือนพฤษภาคม

 

  • 23 เมษายน 2567 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ปปง. เรื่องขอความเป็นธรรมและขอให้มีการสอบถามข้อมูลกับตนเองก่อนจะมีคำสั่งใดๆ ในหนังสือ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ระบุว่า ตนเองเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และขอโอกาสชี้แจง

 

สำนักเลขานุการ ปปง. ลงรับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เลขรับ 4614 เวลา 14.31 น.

 

  • 24 เมษายน 2567 มีรายงานว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์และภรรยา ได้ทำการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกฉบับจากบริษัทประกันภัย ยอดเงินเวนคืนประมาณ 10 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีส่วนตัว 

 

  • ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 5 มีการนำเรื่องการยึดทรัพย์กรมธรรม์ประกันชีวิต พล.ต.อ. สุรเชษฐ์และภรรยา เข้าวาระนี้ด้วย

 

ในวันเดียวกันที่ประชุมมีการนำเรื่องที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 มาพิจารณาประกอบ ที่ประชุมจึงมีมติให้ตรวจสอบเพิ่มเติม

 

  • กลางเดือนพฤษภาคม 2567 การประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. ตรวจสอบเพิ่มเติมเห็นว่าหนังสือร้องเรียนไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ ปปง. เพราะมีพยานหลักฐานว่าเงินที่จ่ายเบี้ยประกันโอนมาจากบัญชีม้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ และบัญชีโอนแถวแรก ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดไว้แล้วด้วย จึงเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเป็นวาระการประชุมในครั้งที่ 7 (เดือนมิถุนายน)

 

เลขา ปปง. มีบันทึกแจ้งให้นำรายการประชุมครั้งที่ 5 ประกอบ

 

  • 27 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่ามีการโอนเงินจากการเวนกรมธรรม์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เข้าบัญชีใหม่

 

  • 11 มิถุนายน 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 7/2567 มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 5

 

  • ปลายเดือนมิถุนายน 2567 มีการประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. นำรายงานการประชุมครั้งที่ 5 ที่ผ่านการรับรองมาประกอบรายงานการอายัดทรัพย์สินของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์และภรรยา เพื่อประมวลเสนออายัดทรัพย์ฯ ไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเข้าวาระการประชุมครั้งที่ 9 (9 กรกฎาคม 2567)

 

  • 8 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงเลขาธิการ ปปง. เรื่อง โปรดรับพยานหลักฐานไว้ประกอบการพิจารณา ระบุว่า หากมีการอายัดทรัพย์จะทำให้ตนเองเสียหาย ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร., เงินที่จ่ายกรมธรรม์ ตนเองให้เงินสดกับ พ.ต.ท. คริษฐ์ ไม่ทราบว่าทำไมการจ่ายจึงเข้าไปเกี่ยวกับเว็บพนัน 

 

สำนักงาน ปปง. รับเรื่องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.21 น. เลขรับ 20828 เลขาธิการ ปปง. รับไว้ในวันเดียวกัน เวลา 11.27 น.

 

  • 9 กรกฎาคม 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 9/2567 ที่ประชุมมีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบเพิ่มเติมเพื่อให้ความเป็นธรรม โดยให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน

 

  • 11 กรกฎาคม 2567 ปปง. มีหนังสือถึง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ให้ส่งเอกสารตามที่อ้างภายใน 15 วัน

 

จากกระบวนการที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในการตรวจสอบธุรกรรมของพนักงานสืบสวน ปปง. เจ้าหน้าที่ผู้สืบสวนพบหลักฐานว่าเงินที่โอนจ่ายเบี้ยประกันมีที่มาจากเส้นทางการเงินบัญชีม้าของผู้ต้องหาฟอกเงินคดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ชัดเจน มีการสืบสวนทำรายงานเสนอถึงคณะกรรมการธุรกรรมให้มีมติอายัดทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยตลอด

 

ระยะเวลาการดำเนินการของ ปปง. นับตั้งแต่รับเรื่องจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ (สิงหาคม 2566 ถึงกรกฎาคม 2567) เป็นระยะเวลาพอสมควร ประมาณ 1 ปี ย่อมเพียงพอสรุปความเห็นได้

 

และเมื่อเปรียบเทียบกับการยึดทรัพย์ของผู้ต้องหาในคดีเดียวกันรายก่อนหน้า เพียงแค่มีพยานหลักฐานว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินและมีพฤติการณ์นำเงินสดเข้าฝากจำนวนมากเกินกว่าฐานานุรูป คณะกรรมการธุรกรรมก็มีคำสั่งอายัดทรัพย์และนำคดีสู่ศาลแพ่งไปแล้ว ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับการยึดอายัดทรัพย์ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์

 

โดยหลังจากผ่านมาประมาณ 1 ปี ล่าสุดวันนี้ (6 สิงหาคม) ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเอกฉันท์ว่า มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน (คดีเว็บพนัน) ไปชำระเบี้ยประกันบางส่วน ตามสัญญาประกันชีวิตของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล และภรรยา และต่อมาผู้เอาประกันได้เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้นจึงถือได้ว่าเงินที่ได้จากการเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าวบางส่วนนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 


 

จึงให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และภรรยา รวม 3 รายการ มูลค่าประมาณ 480,000 บาท ไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X