×

ถอดรหัส Midlife Crisis ทำไมคนอายุเข้าเลข 4 ถึงมีความสุขน้อยที่สุด

15.08.2019
  • LOADING...
Midlife Crisis

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ความสุขของคนเรามักจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัว U ที่คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นชีวิตพร้อมกับความสุขที่สูงก่อนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น และค่อยๆ ขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหลังผ่านพ้นวัย 40 เป็นต้นไป คำถามคือปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร
  • คำตอบที่เป็นไปได้อาจเป็นเพราะความคาดหวังถึงชีวิตที่ดีตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก ไปจนถึงยีนที่อาจจะส่งผลต่อความสุขช่วงวัยกลางคน หรือเป็นเพราะคนที่ไม่มีความสุขอาจตายไปตั้งแต่ช่วงวัยกลางคนแล้ว!
  • ช่วงวัยกลางคนนั้น คนเราส่วนใหญ่ใช้เวลาในการนอนหลับน้อยที่สุด มีโอกาสจะเป็นไมเกรนมากที่สุด มีโอกาสจะไปนอนโรงพยาบาลเพราะโรคที่มาจากการนอนไม่พอมากที่สุด คิดว่าชีวิตเราไม่มีความหมายมากที่สุด และมีความเครียดจากงานที่เราทำมากที่สุด จึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลยว่าโอกาสที่คนเราจะตายจึงมีค่อนข้างมากในวัยกลางคน

ผมเชื่อว่าหลายคนที่ติดตามงานเขียนของผมมานาน จะทราบดีถึงผลงานวิจัยที่พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วความสุขของคนเราจะมีค่าต่ำที่สุดตอนประมาณอายุ 40 กว่าๆ หรือที่เราเรียกกันว่าหลักฐานของ Midlife Crisis หรือวิกฤตวัยกลางคนนั่นเอง

 

เป็นเวลานานเหมือนกันที่นักวิจัยทางด้านความสุขอย่างผมพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมความสุขของคนเราถึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัว U เมื่อเรานำมันมา plot กับอายุของคนเรา ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเราเริ่มต้นชีวิตพร้อมๆ กับความสุขที่ค่อนข้างจะสูง ก่อนที่ความสุขของเราจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และความสุขจะมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำที่สุดอายุประมาณ 40 ต้นๆ หลังจากนั้นก็จะเริ่มกลับมามีความสุขขึ้นอีกครั้งหลังจากอายุ 40 กว่าๆ เป็นต้นไปจนถึงวัยประมาณ 70 ที่กราฟความสุขกลับมามีค่าที่สูงพอๆ กันกับตอนที่เรายังวัยรุ่นอยู่

 

จากพัฒนาการของความสุขนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและอายุมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัว U ทั้งๆ ที่ช่วงวัยกลางคนนั้น คนส่วนใหญ่มักจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง และได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว (ซึ่งน่าจะเป็นช่วงชีวิตที่น่าจะมีความสุขที่สุดแต่กลับกลายเป็นว่ามีความสุขน้อยที่สุด)

 

สาเหตุส่วนหนึ่งของ Midlife Crisis อาจจะมาจากหลักฐานที่พบว่า เวลาที่เราเป็นวัยรุ่น คนส่วนใหญ่มักจะคิดกันว่า ‘ชีวิตในอนาคตของเราน่าจะดีกว่าที่กำลังเป็นอยู่’ แต่พอมาถึงวัยกลางคนปุ๊บ เรากลับพบว่าชีวิตมันไม่ได้ดีเท่ากับที่เคยคิดเอาไว้เลย (สรุปเป็นสมการคือ สำหรับคนส่วนใหญ่ ณ วัยกลางคน: ความจริง – ความคาดหวัง < 0) หลังจากนั้นเราก็ปรับให้ความคาดหวังของเราลดลงหลังจากวัยกลางคนจนทำให้ความจริงในวัยเริ่มชรามันดีกว่าความคาดหวังเยอะ

 

อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากยีน (genes) ของมนุษย์เรา ซึ่งทำให้เราเป็นอย่างนี้ของเราเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเลย 

 

ยกตัวอย่างงานวิจัยของ Andrew Oswald ที่พบว่า great apes อย่างเช่น ลิงชิมแปนซีก็มีช่วง Midlife Crisis คล้ายๆ กับคนเรา ทั้งๆ ที่ลิงชิมแปนซีไม่ต้องผ่านช่วงชีวิตต่างๆ นานาที่เหมือนกับมนุษย์

 

แต่มีอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถอธิบายตัว U ของความสุขนี้ได้ สาเหตุนี้ก็คือคนที่ไม่มีความสุขอาจตายไปตั้งแต่ช่วงวัยกลางคน ส่วนคนที่รอดชีวิตก็คือคนที่มีความสุขกว่าคนปกติทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลทำให้เกิดตัว U ของความสุขตามที่เราพบเห็นกัน

 

แต่ก่อนผมไม่เคยคิดว่าสาเหตุนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่จะมาอธิบายกราฟตัว U ในชีวิตของพวกเราได้เลย จนกระทั่งผมได้มาทำงานวิจัยชิ้นใหม่กับ แอนดรูว์ ออซวอลด์ และเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน 

 

เราทั้ง 6 คนพบว่า ไม่ใช่แค่ความสุขเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ลักษณะนี้กับอายุของคนเรา แต่ในช่วงวัยกลางคน โอกาสที่คนส่วนใหญ่คิดอยากฆ่าตัวตายนั้นมีค่าที่สูงที่สุด

 

ในช่วงวัยกลางคนนั้น คนเราส่วนใหญ่ใช้เวลาในการนอนหลับน้อยที่สุด มีโอกาสจะเป็นไมเกรนมากที่สุด มีโอกาสจะไปนอนโรงพยาบาลเพราะโรคที่มาจากการนอนไม่พอมากที่สุด คิดว่าชีวิตเราไม่มีความหมายมากที่สุด และมีความเครียดจากงานที่เราทำมากที่สุด

 

มันจึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลยว่า โอกาสที่คนเราจะตาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย หรือตายเพราะโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียด มีค่อนข้างมากในช่วงวัยกลางคน 

 

เพราะฉะนั้นผมและเพื่อนๆ ร่วมงานวิจัยจึงมีความเชื่อกันว่า เราควรจะเอาใจใส่กับคนที่อยู่ในช่วงวัยนี้เป็นพิเศษ ไม่ว่าเขาจะเป็นญาติพี่น้องหรือพนักงานในองค์กรของเราก็ตาม เพราะพวกเขาอยู่ในช่วงวัยที่ vulnerable หรือบอบบางที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนโดยผู้ชายที่อายุจะ 41 ในอีก 1 เดือนข้างหน้าแล้ว…

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ่านเพิ่มเติม

  • Blanchflower, D. G., & Oswald, A. J. (2008). Is well-being U-shaped over the life cycle? Social science & medicine, 66(8), 1733-1749.
  • Cheng, T. C., Powdthavee, N., & Oswald, A. J. (2015). Longitudinal evidence for a midlife nadir in human well‐being: Results from four data sets. The Economic Journal, 127(599), 126-142.
  • Schwandt, H. (2016). Unmet aspirations as an explanation for the age U-shape in wellbeing. Journal of Economic Behavior & Organization, 122, 75-87.
  • Weiss, A., King, J. E., Inoue-Murayama, M., Matsuzawa, T., & Oswald, A. J. (2012). Evidence for a midlife crisis in great apes consistent with the U-shape in human well-being. Proceedings of the National Academy of Sciences, 109(49), 19949-19952.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising