×

ครบรอบ 23 ปีอัลบั้ม HIStory ของ Michael Jackson ที่ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ตลอดกาล

14.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • อัลบั้มเน้นเนื้อหามุมมองทางสังคมของไมเคิลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ การเหยียดเชื้อชาติ คอร์รัปชัน และเรื่องการโดนสื่อโจมตี
  • สำหรับเพลง ‘You Are Not Alone’ ก็สร้างเสียงฮือฮา เพราะในมิวสิกวิดีโอไมเคิลแสดงคู่กับภรรยาของเขาในตอนนั้น ลิซา มารีย์ เพรสลีย์ ลูกสาวของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่ทั้งคู่กึ่งเปลือย
  • ด้านทุนการโปรโมตอัลบั้มมีการสร้างรูปปั้นสูง 9.1 เมตร ซึ่งจำลองหลายอันเพื่อไปวางที่สำคัญ เช่นนำไปล่องแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน
  • ไมเคิลได้เปิดเวิลด์ทัวร์ ‘HIStory World Tour’ ที่เล่นมากกว่า 80 โชว์ทั่วโลก โดยมีคนชมมากกว่า 4.5 ล้านคน ซึ่งหนึ่งในคอนเสิร์ตก็คือที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1996 ที่จัด ณ ลานกลางแจ้งที่เมืองทองธานี

 

มิวสิกวิดีโอ Scream

 

ใครที่เป็นแฟนคลับตัวยงของราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็คสัน และบันทึกวันสำคัญต่างๆ ของเขาช่วงเส้นทางสายอาชีพสู่การเป็นหนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี ก็จะรู้กันว่าวันที่ 16 มิถุนายน ปี 1995 เป็นวันแรกที่สตูดิโออัลบั้มเดี่ยวของเขา HIStory หรือแบบชื่อเต็ม ‘HIStory: Past, Present and Future, Book I’ วางแผงวันแรก ซึ่งปล่อยมาเป็น Box Set สองซีดี แผ่นแรกรวบรวมเพลงอมตะของเขา ทั้ง Billie Jean, Man In The Mirror และ I Just Can’t Stop Loving You ส่วนแผ่นที่สองคือเพลงใหม่หมด โดยอัลบั้มนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำยอดขายได้เกิน 20 ล้านแผ่นทั่วโลก และมีชื่อเสนอเข้าชิงสาขาอัลบั้มแห่งปีที่งานแกรมมี่ปี 1996 อีกด้วย

 

HIStory เป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 9 ของไมเคิลที่จัดจำหน่ายโดยค่าย Epic Records และสังกัด MJJ Productions ที่เขาจัดตั้งเพื่อดูแลผลงานทุกภาคส่วนของตัวเอง โดยเนื้อหาเพลงใหม่จะเน้นมุมมองทางสังคมของไมเคิลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ การเหยียดเชื้อชาติ คอร์รัปชัน และเรื่องสื่อที่เขาถูกโจมตีอย่างหนักช่วงสองปีก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศ โดยสื่อได้ตั้งฉายาเขาว่า ‘Wacko Jacko’

 

ด้านซาวด์เพลงของอัลบั้มนี้ก็ถือว่าล้ำหน้าสำหรับสมัยนั้น และเป็นแนวที่ต้องเรียกว่า ‘Michael Jackson Only’ เพราะไมเคิลได้ทดลองการนำพวกเสียงสังเคราะห์ อิเล็กทรอนิกส์มาผสมผสานกับความเป็นป๊อป ฮิปฮอป สวิง ฟังก์ ฮิปฮอป โซล และยังแทรกซาวด์ประสานเสียง Gospel เข้าไปด้วย ซึ่งแปลกใหม่และยกระดับการสร้างสรรค์เพลง เพราะผลลัพธ์นี้เพลงจากอัลบั้ม HIStory ได้เข้าถึงฐานผู้ฟังหลายฟอร์แมตบนคลื่นวิทยุและขึ้นชาร์ตทั่วโลก

 

 

 

ซิงเกิลเพลงแรกของอัลบั้มนี้คือ ‘Scream’ ที่ไมเคิลร้องกับน้องสาว เจเน็ต แจ็คสัน และได้คู่หู จิมมี แจม และ เทร์รี ลูอิส ที่ทำงานกับเจเน็ตเป็นประจำมาโปรดิวซ์ให้ โดยเพลงนี้เปิดตัวที่อันดับ 5 ของชาร์ต Billboard Hot 100 ในอเมริกา ส่วนมิวสิกวิดีโอที่ได้ มาร์ก โรมาเนค มากำกับให้ก็เป็นหนึ่งในวิดีโอที่แพงสุดในประวัติศาสตร์กับคอนเซปต์ยานอวกาศ จนชนะรางวัลแกรมมี่สาขา Best Music Video และศิลปินคนอื่นยังคงนำมาเป็นแรงบันดาลใจตอนทำมิวสิกวิดีโอ เช่น TLC กับเพลงคลาสสิก ‘No Scrubs’ ในปี 1999

 

สำหรับซิงเกิลเพลงที่สองสไตล์บัลลาดอย่าง ‘You Are Not Alone’ ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไมเคิลในฐานะศิลปินเดี่ยว โดยได้ศิลปินอาร์แอนด์บี อาร์. เคลลี มาทำให้ และกลายเป็นเพลงลำดับที่ 13 ของไมเคิลที่ได้ขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ต Billboard Hot 100 (และเป็นเพลงสุดท้ายเช่นกัน) ความฮือฮาของเพลงนี้ก็หนีไม่พ้นมิวสิกวิดีโอกำกับโดย เวย์น ไอแชม ที่ไมเคิลแสดงคู่กับ ลิซา มารีย์ เพรสลีย์ (ลูกสาวของเอลวิส เพรสลีย์) ภรรยาของเขาในตอนนั้น ในมิวสิกวิดีโอเราจะเห็นทั้งคู่กึ่งเปลือยจนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งตลอดเวลาช่วงนั้นไม่ว่าสองคนนี้จะไปไหน

 

‘Earth Song’ ซิงเกิลที่สามซึ่งเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติของโลกได้สานต่อเมสเสจเหมือนในเพลงก่อนๆ ของไมเคิล เช่น We Are The World และ Heal The World ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะกับมิวสิกวิดีโอที่ได้ช่างภาพชื่อดัง นิก แบรนดต์ มากำกับให้ และยกกองไปถ่ายทั่วทุกมุมโลก เพลงนี้ประสบความสำเร็จบนชาร์ตเพลงของประเทศอังกฤษ ขึ้นถึงอันดับหนึ่งช่วงคริสต์มาสปี 1995 ที่เป็นธรรมเนียมว่าศิลปินหลายคนจะแข่งกัน และพอไมเคิลเสียชีวิตในปี 2009 ทาง เซลีน ดิออน, อัชเชอร์, เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน, แคร์รี อันเดอร์วูด และ สโมกีย์ โรบินสัน ก็ได้ร่วมไว้อาลัยและร้องเพลงนี้ที่งาน Grammy Awards ปี 2010

 

 

 

ส่วนอีกหนึ่งซิงเกิลอย่าง They Don’t Care About Us ก็สร้างกระแสอย่างรุนแรงกับเนื้อเพลง ‘Jew me, sue me, everybody do me’ ที่นักวิจารณ์หาว่าไมเคิลมีการต่อต้านยิว จนคลื่นวิทยุบางสถานีตัดสินใจไม่ยอมเปิดเพลงนี้ ถึงแม้ไมเคิลจะมีการออกมาขอโทษหากเขาได้สร้างความไม่พอใจให้ใคร ซึ่งไมเคิลก็ได้ทำมิวสิกวิดีโอสองเวอร์ชันที่กำกับโดย สไปค์ ลี อันแรกไปถ่ายในสลัม (Favela) ชื่อ Dona Marta ในเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่ตอนแรกเจ้าหน้าที่ภาครัฐพยายามต่อต้านเพราะกลัวภาพลักษณ์ของประเทศจะไม่ดี ส่วนเวอร์ชันที่สองก็ไปถ่ายในเรือนจำ พร้อมไมเคิลใส่กุญแจมือ และมีการแทรกฟุตเทจภาพของเหตุการณ์โศกนาฏกรรม เช่นการโดนเหยียดผิวของชาวแอฟริกัน-อเมริกันกับกลุ่ม Klu Klux Klan (KKK) เป็นต้น ซึ่งทุกวันนี้มิวสิกวิดีโอเวอร์ชันในเรือนจำก็ยังคงส่งผลกระทบในอเมริกาเป็นอย่างมาก สืบเนืองจากปัญหาสังคมของชาวผิวสีกับหน่วยตำรวจที่ยังคงรุนแรงทุกวันนี้ และศิลปินหลายคนเช่น ไชล์ดิช แกมบิโน (Childish Gambino) ต้องออกมาพูดเหมือนในเพลง ‘This Is America’

 

ด้านทุนการโปรโมตอัลบั้ม HIStory ก็ถือว่ามหาศาลแบบเฉียดพันล้านบาทเหมือนชุดอัลบั้มก่อนๆ ทั้ง Dangerous และ Bad ซึ่งไมเคิลมีการถ่ายโฆษณายาวสี่นาทีเพื่อโปรโมตอัลบั้มนี้ชื่อ ‘The Eastern Europe Redeemer’ ที่กำกับโดย รูเพิร์ต เวนไรต์ ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งมาในคอนเซปต์กองทัพทหารแบบประเทศยุโรปตะวันออกที่ไมเคิลเป็นผู้นำ และเดินขบวนฝ่าฝูงชนแฟนคลับที่คลั่งไคล้เขา โดยโฆษณานี้ใช้ทหารและตัวประกอบนับร้อยชีวิต และตอนหลังโฆษณาก็จะเห็นการหล่อรูปปั้นของเขาที่มีการสร้างจริงแบบสูง 9.1 เมตรโดย ไดอานา วอลก์แซก (Diana Walczak) ซึ่งนำมาสกรีนลงปกอัลบั้ม และต่อมาช่วงโปรโมตอัลบั้ม HIStory ในยุโรปก็มีการจำลองรูปปั้นอีกหลายรูปปั้นเพื่อไปวางที่สำคัญ เช่นนำไปล่องแม่น้ำเทมส์ในลอนดอนเป็นต้น โดยทุกวันนี้ใครอยากเห็นก็สามารถไปที่เขตปกครอง Best ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตั้งไว้ตรงลานจอดรถของร้าน McDonald’s

 

https://www.youtube.com/watch?v=bELemyiPzAY&feature=youtu.be

 

รูปปั้นที่เขตปกครอง Best ในประเทศเนเธอร์แลนด์

 

ปิดท้ายด้วยเวิลด์ทัวร์ ‘HIStory World Tour’ ที่เล่นมากกว่า 80 โชว์ในห้าทวีปทั่วโลกตั้งแต่ปี 1996 ถึง 1997 โดยมีคนชมมากกว่า 4.5 ล้านคน และทำยอดขายสูงถึง 200 ล้านเหรียญ ซึ่งหนึ่งในคอนเสิร์ตนั้นก็คือที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1996 ที่จัด ณ ลานกลางแจ้งที่เมืองทองธานี โดยก่อนหน้านั้นไมเคิลเคยมาประเทศไทยช่วงทัวร์ ‘Dangerous World Tour’ ในปี 1993 ที่เล่นสองรอบ ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย สำหรับ ‘HIStory World Tour’ ก็กลายเป็นคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ครั้งสุดท้ายของไมเคิลไปโดยปริยาย เพราะในตอนแรกไมเคิลจะจัดทัวร์คอนเสิร์ต ‘This Is It’ อย่างยิ่งใหญ่ในปี 2009 แต่มาเสียชีวิตไปก่อน

 

ในวันนี้พอเราย้อนกลับไปดูอัลบั้ม HIStory อีกครั้ง เราก็ได้เห็นศิลปินที่ไม่เคยหยุดนิ่งและกล้าท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อก้าวให้สูงขึ้น ทั้งในเชิงตัวผลงานเพลง วิดีโอ แผนการตลาด หรือแม้แต่แตะประเด็นสังคมต่างๆ ที่ในยุค 90s ยังเป็นอะไรที่เซนสิทีฟและสุ่มเสี่ยง แต่ไมเคิลก็ทำให้เห็นว่าประโยคที่พูดกันว่า “เป็นไปไม่ได้” อาจไม่มีอยู่จริง หากศิลปินเดินข้าม Comfort Zone ของตัวเองและกล้าคิด กล้าทำ

 

คงเป็นไปได้ยากที่โลกเราจะได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของยุคอัลบั้ม HIStory อีกครั้งกับศิลปินในสมัยนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนผันและวิวัฒนาการของการบริโภคดนตรีในยุคออนไลน์ที่แปรปรวนและทุกอย่างผ่านไปรวดเร็ว แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ไมเคิลได้สร้างยุค HIStory ไว้ให้จารึก ทั้งยังเป็นการบ่งบอกว่าดนตรีและป๊อปคัลเจอร์ก็ไม่มีวันเป็นรองใครอย่างแน่นอน

 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X