×

สมคิด ให้นโยบายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมมือเอกชน ผลิตกำลังคนตอบโจทย์ประเทศ

29.10.2019
  • LOADING...
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มอบนโยบายในการประชุมหารือเรื่อง การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา โดยการประชุมหารือในครั้งนี้มีการนำเสนอนโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคน 

 

โดย ดร.สมคิด กล่าวว่า การเชิญมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาประชุมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับทราบความต้องการกำลังคนของตลาด และพิจารณาสัดส่วนการผลิตกำลังคนในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องปรับอย่างไร หลักสูตรเดิมสามารถคงอยู่ได้ แต่ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม 

 

ในขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องเข้ามาร่วมผลิตกำลังคนร่วมกับมหาวิทยาลัย พูดคุยกันว่ามีความต้องการอย่างไร เพื่อจะเป็นแนวทางในการผลิตกำลังคนร่วมกันเพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมาย โดยมีบีโอไอ ช่วยดูแลสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยได้มอบหมายให้ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ  

 

“หลายมหาวิทยาลัยมีทรัพยากร มีหลักสูตรพร้อม แต่ต้องดูว่าตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ บุคลากรที่ผลิตออกมามีคุณภาพสามารถใช้ได้ทันต่อความต้องการหรือไม่ ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้เชิญภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจะได้รู้ความต้องการอย่างแท้จริง สิ่งที่เราทุกคนต้องทำในวันนี้คือ ตอนนี้ประเทศเรามีความต้องการกำลังคนเท่าไร มหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการผลิตกำลังคนเท่าไร เพียงพอหรือไม่ และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนอย่างไร และนำทุกอย่างมาแมตชิ่งกัน เพื่อจะได้ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ หรือ Manpower Planning ใน 5 ปี” ดร.สมคิด กล่าว 

 

ขณะที่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ทันต่อความต้องการเร่งด่วนด้านการลงทุน ซึ่งการรอกำลังคนที่จบวุฒิปริญญาจะไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนทักษะที่ได้จากวุฒิการศึกษาอาจตอบโจทย์ได้ไม่ครอบคลุมต่อความต้องการของสถานประกอบการ กระทรวง อว. ซึ่งมีหน้าที่ดูแล และพัฒนากำลังคน จึงมีนโยบายในการพัฒนากำลังคนกลุ่ม Non-Degree เพื่อเป็นการ Upskill, Reskill รองรับการลงทุน เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพสูง 100,000 คน ที่พร้อมสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่อีอีซี นอกพื้นที่อีอีซี ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม S-curve และอุตสาหกรรมเศรษกิจใหม่ BCG 

 

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวง อว. และ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2.5 เท่า โดยต้องเป็นหลักสูตรที่กระทรวง อว. และ อีอีซีรับรอง และต้องไม่ซ้ำกับมาตรการสิทธิประโยชน์ภาษี 2 เท่าที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ มาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 31 ธันวาคม 2563 แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมให้เสร็จภายในปี 2563 

 

“สอวช. อยู่ระหว่างเร่งมือในการจัดทำรายละเอียดทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยจัดทำรายละเอียดทั้งในส่วนตำแหน่งงาน และสมรรถนะ คุณลักษณะที่จำเป็นของตำแหน่งงานนั้นๆ โดยเมื่อจัดทำรายละเอียดเสร็จ ก็จะมีการเปิดรับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถจัดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมายตามที่กำหนดมาลงทะเบียนยื่นคำขอ เพื่อให้กระทรวง อว. พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงาน RTO (Registered Training Org.) และรับรองหลักสูตร เมื่อสถานประกอบการส่งบุคลากรมาอบรมหลักสูตรตามที่ได้รับการรับรอง สถานประกอบการสามารถขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า จากกรมสรรพากร” 

 

“ส่วนสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ก็สามารถแจ้งตำแหน่งงาน และโปรไฟล์บุคลากรที่ต้องการจ้างงานมายังกระทรวง อว. เพื่อพิจารณารับรอง และเมื่อรับรองแล้วสถานประกอบการสามารถขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ได้ 1.5 เท่า จากกรมสรรพากร โดยการดำเนินงานลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ Upskill Reskill ให้กับบุคลากรบริษัทให้มีสมรรถภาพในการทำงานที่ตอบโจทย์ตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X