วันนี้ (16 สิงหาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวขอเสนอญัตติ เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยพริษฐ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่าภารกิจที่สำคัญในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและคืนความปกติให้ประเทศไทยคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มองว่าขาดความชอบธรรม ทั้งกระบวนการ เนื้อหา และที่มา รวมทั้งมีส่วนในการนำพาประเทศไทยมาสู่วิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน
พริษฐ์กล่าวอีกว่า การดำเนินจัดทำตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนต้องเข้าคูหา 4 ครั้ง แบ่งเป็น 1. ประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะมีการเสนอร่างใดๆ เข้ารัฐสภาเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชน แม้จะไม่มีความจำเป็นในแง่ของกฎหมาย หากผลประชามติออกมาชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้ไม่ว่าใครหรือเรื่องอะไรจะขัดเจตนารมณ์ของประชาชนไม่ได้ 2. ประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจัดทำหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภา 3. เลือกตั้ง สสร. ว่าอยากให้ใครเป็นตัวแทนประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 4. ประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดย สสร.
พริษฐ์ย้ำด้วยว่า เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดที่สำคัญของประชามติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือคำถามที่จะใช้สอบถามกับประชาชนในมติครั้งนั้น หากเราต้องการให้ประชามตินี้นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทมติได้จริง
พรรคก้าวไกลจึงเสนอคำถามในการทำประชามติครั้งที่ 1 คือ เห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เป็นฉบับปัจจุบัน โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ด้วยเหตุผล 4 ประการ
- คำถามลักษณะนี้คือการถามถึงหลักการสำคัญว่าควรมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่
- เป็นคำถามถึงหลักการสำคัญว่า สสร. นั้นควรจะมาจากการเลือก 100% หรือไม่ แต่ไม่ลงรายละเอียดจนเกินไป
- เป็นคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ
- เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาชุดที่แล้วเคยลงมติเห็นชอบมาแล้ว
พริษฐ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ที่เปิดให้มีการจัดประชามติได้ผ่าน 3 กลไก คือ 1. ครม. เสนอและเห็นชอบให้จัดประชามติ 2. สมาชิกรัฐสภาเสนอ และ สส. สว. เห็นชอบให้จัดประชามติ และ 3. ประชาชน 50,000 คนเสนอ และ ครม. เห็นชอบให้จัดประชามติ
พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อความรวดเร็วในการจัดทำประชามติสามารถดำเนินการผ่านทั้งสามกลไกคู่ขนานกันได้ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองที่เคยประกาศว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่วมมือกับเราให้ญัตตินี้ถูกพิจารณาโดยเร็วที่สุดทันทีที่มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุม สส. สัปดาห์หน้า และเห็นด้วยกับคำถามในการทำประชามติข้างต้น