วันนี้ (23 พฤศจิกายน) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าทลายเครือข่าย นพ.บุญ วนาสิน พร้อมกับผู้ร่วมขบวนการรวม 9 ราย โดย นพ.บุญ วนาสิน ผู้ต้องหา กับพวก ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2537 ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2566 – เดือนพฤศจิกายน มีผู้เสียหายมาแจ้งความ รวม 247 ราย
จากนั้น สน.ห้วยขวาง จึงส่งเรื่องมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า คดีมีความสลับซับซ้อน จึงแต่งตั้งคณะ บก.น.1 เป็นพนักงานสอบสวน รวมพยานหลักฐานพบพฤติกรรมของ นพ.บุญ และพวก มีการระดมทุน ชักชวนจากตัวแทน บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่าเป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุนให้ นพ.บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ และครอบครัว
โดยมีการแจ้งว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ 16,000 ล้านบาท ใน 5 โครงการ ประกอบไปด้วย โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า 4,000 ล้านบาท, โครงการ Wellness Center ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4,000-5,000 ล้านบาท, โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง รวม 2,000 ล้านบาท, เข้าร่วมลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 4,000-5,000 ล้านบาท และ Medical Intelligence อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี งบลงทุน 100 ล้านบาท
5 โครงการดังกล่าวหลังระดมทุนเรียบร้อยแล้วจะให้ผู้เชี่ยวชาญ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) ดูแลโครงการทั้งหมด และมีแผนการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2567 แต่พฤติกรรมในการหาแหล่งเงินทุนของ นพ.บุญ และพวก มีลักษณะการไปกู้ยืมเงินกับแหล่งเงินกู้ โดยมีภรรยาและลูกสาวเป็นผู้ค้ำประกัน เซ็นสลักหลังในเช็คทุกฉบับมอบให้ผู้เสียหาย ในช่วงแรกมีการชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงให้กับบางคน ต่อมาไม่มีการจ่ายเลย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบว่าหลังจากได้เงินทุน 7,500 ล้านบาท พบว่าให้โบรกเกอร์ทยอยไปถอนเงินครั้งละ 100 ล้านบาท โดยโบรกเกอร์จะได้ดอกเบี้ยและเปอร์เซ็นต์เป็นค่าตอบแทน ซึ่งการกระทำของ นพ.บุญ และโบรกเกอร์จะไปชักชวนผู้ร่วมลงทุนที่เป็นนักเล่นหุ้นกระเป๋าหนัก
ต่อมากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง ผู้ที่เสียหายมากที่สุดร่วมลงทุนมากถึง 600-700 ล้านบาท เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ รวมทั้งหมด 247 ราย ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนตุลาคม 2567
ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการนำไปใช้จ่ายในธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่จริง 4-5 โรงพยาบาลหรือไม่ รวมถึงต้องไปตรวจสอบในช่วงที่มีการนำเข้าวัคซีนโควิดว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ใด
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นพ.บุญ มีรถยนต์ 19 คัน ซึ่งพบว่าหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์รวมถึงโฉนดที่ดิน 21 แปลง พบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลอาญาออกหมายจับ 9 ราย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 คือ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี, จารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี ภรรยา, นลิน อายุ 51 ปี บุตรสาว
กลุ่มที่ 2 คือ ศิวิมล อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสาร สัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน และ จิดาภา อายุ 53 ปี เลขาส่วนตัวของ นพ.บุญ
และกลุ่มที่ 3 โบรกเกอร์ คือ อัจจิมา อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน, ภาคย์ อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน, ภัทรานิษฐ์ อายุ 55 ปี นายหน้า และผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน
และธนภูมิ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ซึ่งขณะนี้ตำรวจจับได้แล้ว 6 ราย และมีการนำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อยแล้ว
ส่วน นพ.บุญ ได้ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพบว่าเดินทางออกจากไทยไปตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ล่าสุดทราบว่า นพ.บุญ เดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนแล้ว อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล ส่วนลูกและภรรยาอยู่ระหว่างติดตามตัวคาดว่าอยู่ในประเทศไทย
สำหรับพฤติการณ์ นพ.บุญ ชุดสืบสวนพบว่า พยายามจ่ายเช็คให้กับเจ้าหนี้ โดยใช้เช็คที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการขึ้นเงินได้ เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องความผิดการฟอกเงินที่มีอัตราโทษสูง และจะต้องถูกยึด/อายัดทรัพย์ อีกทั้งพฤติกรรมกลุ่มผู้ต้องหายังทำการตลาด ซื้อโฆษณา สื่อออนไลน์ จากสำนักพิมพ์หลายแห่งเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตามจะพยายามถึงที่สุดในการตามล่าตัว ตามหาทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหายให้ได้ ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ที่จะลงทุนให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่