×

‘โควิดนี้ฉันต้องผอม’ ผลวิจัยเผย ผู้ชายเกือบครึ่งเครียดเรื่องรูปร่างในช่วงโรคระบาด

11.05.2021
  • LOADING...
ผู้ชาย เครียด เรื่อง รูปร่าง

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ‘Post-Pandemic Body’ หรือรูปร่างที่มาในช่วงโรคระบาดสร้างความเครียดและความกังวลใจให้กับใครหลายคน
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนวิตกกังวลกับรูปร่างของตัวเองในช่วงนี้ ไม่เพียงเพราะว่าพวกเขาขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแบบเมื่อก่อน แต่ยังมีเรื่องของ ‘ความกดดัน’ จากการเลื่อนดูหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย การได้เห็นคนโพสต์รูปหน้ากระจกพร้อมซิกซ์แพ็กกับเอวที่คอด แล้วย้อนกลับมาดูรูปร่างตัวเองที่มีไขมันน้อยๆ ตรงพุงก็อดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้
  • ผลการสำรวจจากมูลนิธิ Campaign Against Living Miserably (CALM) พบว่า 48% ของผู้ชายในช่วงวัย 16-40 ปี กำลังดิ้นรนอย่างหนักจากความรู้สึกที่พวกเขามีต่อรูปร่างตัวเองในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา
  • มูลนิธิ CALM มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนแนวคิด ‘มองร่างกายในแง่บวก’ (Body Positivity) ในผู้ชายด้วย ผ่านโครงการที่ชื่อ CALM Body Talks เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ชายไม่ค่อยได้ถกประเด็นนี้กันอย่างจริงจังเท่าผู้หญิง ทำให้พวกเขาอาจติดอยู่กับความกังวลนี้เป็นเวลานาน

ตั้งแต่โรคระบาดโควิด-19 เข้ามา หลายคนอาจบอกลาเครื่องชั่งน้ำหนัก เพราะรู้ดีว่ามาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างการสั่งปิดยิมหรือฟิตเนสจะส่งผลอย่างไรกับตัวเลขบนตราชั่งบ้าง

 

ในช่วงล็อกดาวน์จากโรคระบาด หลายคนต้องอยู่บ้านทำงานเนื่องจากนโยบาย Work from Home ซึ่งนอกจากจะทำให้เราอดเข้าฟิตเนสเช่นเมื่อก่อน ยังทำให้เราได้แต่นั่งๆ นอนๆ อยู่ในห้องไม่ได้ไปไหน มากสุดก็แค่ห้องน้ำกับห้องครัว

 

การขยับร่างกายอันน้อยนิดและไม่ได้เผาผลาญเพียงพอกับแคลอรีที่รับเข้าไป ส่งผลให้ตัวเลขบนตราชั่งค่อยๆ ขยับขึ้นเรื่อยๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะปูเสื่อโยคะและพยายามออกกำลังกายตามยูทูบ สุดท้ายก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเราอยู่ดี ‘Post-Pandemic Body’ หรือรูปร่างที่มาจากช่วงโรคระบาด จึงสร้างความเครียดและความกังวลใจให้กับใครหลายคน

 

แคริน ชวาร์ตซ์ (Karin Schwartz) นักจิตวิทยาคลินิกในลอสแอนเจลิส กล่าวว่า 90-100% ของผู้ที่มีความผิดปกติในการกิน (Eating Disorders) รู้สึกกดดันในการลดน้ำหนักหลังจากผ่านช่วงโรคระบาดมาได้ และครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้มีความผิดปกติในการกินก็รู้สึกทุกข์ใจกับความกดดันนี้ด้วยเช่นกัน

 

“ผู้คนพยายามจะเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อคลายการล็อกดาวน์ไปแล้ว ซึ่งพวกเขาหมายถึงการมีรูปร่างที่ผอมกว่าเดิม” แครินกล่าว

 

และผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับสาวๆ เท่านั้น เพราะผลการสำรวจจากมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตาย Campaign Against Living Miserably (CALM) และข้อมูลจากอินสตาแกรม พบว่า 48% ของผู้ชายในช่วงวัย 16-40 ปี กำลังดิ้นรนอย่างหนักจากความรู้สึกที่พวกเขามีต่อรูปร่างตัวเองในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ในผู้ชายจำนวน 2,000 คนที่ตอบแบบสอบถาม เกินกว่าครึ่งหรือ 58% กล่าวว่า โรคระบาดทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีกับร่างกายตัวเอง มีเพียง 26% เท่านั้นที่พึงพอใจสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ และอีก 21% ที่รู้สึกไม่สะดวกใจจะพูดคุยเรื่องนี้กับใคร

 

“ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ผมเห็นหลายคนออกกำลังกายที่บ้านผ่านไลฟ์ในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของพวกเขา ผมเลยคิดว่า ‘มา ถ้าอย่างนั้นเรามาลองบ้าง’ แต่พอทำไปสักพัก ผมก็รู้สึกว่าไม่ใช่วิธีสำหรับผม ผมทำไม่ได้ และรู้สึกผิดต่อตัวเองมาก

 

“ทุกคนในโซเชียลมีเดียดูเหมือนจะมีร่างกายที่ฟิตและสุขภาพดีอยู่ตลอดเวลา แต่ผมกลับตรงกันข้าม พอเห็นว่าเสื้อผ้าเก่าๆ เริ่มใส่ไม่ได้แล้ว ไปช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่ๆ ก็ไม่ได้ ตอนนั้นแหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองดูแย่ และรู้สึกไม่มีความสุขกับร่างกายตัวเองเลย” สเปนเซอร์ คูเปอร์ (Spencer Cooper) วัย 22 ปี กล่าว

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูลนิธิ CALM มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนแนวคิด ‘มองร่างกายในแง่บวก’ (Body Positivity) ในผู้ชายด้วย ผ่านโครงการที่ชื่อ CALM Body Talks เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ชายไม่ค่อยได้ถกประเด็นนี้กันอย่างจริงจังเท่าผู้หญิง ทำให้พวกเขาอาจติดอยู่กับความกังวลนี้เป็นเวลานาน

 

“ผู้หญิงประสบปัญหาเรื่องรูปร่างทุกวัน และนั่นก็ทำให้พวกเธอริเริ่มขับเคลื่อนประเด็น Body Positivity ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากคุณลองเลื่อนดูแฮชแท็ก #bodypositivity หรือ #selflove ในอินสตาแกรม คุณจะเห็นว่าพวกเธอแชร์ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองในช่วงล็อกดาวน์อย่างไรบ้าง รวมถึงข้อความและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่เจอปัญหาเดียวกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องยากเล็กน้อยสำหรับผู้ชาย เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้”

 

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนวิตกกังวลกับรูปร่างของตัวเองในช่วงนี้ ไม่เพียงเพราะว่าพวกเขาขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแบบเมื่อก่อน แต่ยังมีเรื่องของ ‘ความกดดัน’ จากการเลื่อนดูหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย การได้เห็นคนโพสต์รูปหน้ากระจกพร้อมซิกซ์แพ็กกับเอวที่คอด แล้วย้อนกลับมาดูรูปร่างตัวเองที่มีไขมันน้อยๆ ตรงพุงก็อดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้

 

“ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าอินสตาแกรมส่งผลให้ผู้ชายหลายคนเกิดความกดดัน และคิดว่าตัวเองจะต้องตัวใหญ่หนา มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างเป็นปัญหาที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงมานานแล้ว และตอนนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในหมู่ผู้ชาย เพียงแต่พวกเขาพูดคุยเรื่องนี้ในวิธีที่ไม่เหมือนกัน เพราะภาพจำของร่างกายผู้ชายมีมานานหลายทศวรรษ พวกเขาจึงไม่ค่อยได้ถกเถียงเรื่องนี้กันมากนัก” ไซมอน กันนิง (Simon Gunning) ซีอีโอของมูลนิธิ CALM กล่าว

 

ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่เพียงแค่ความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงล็อกดาวน์ แต่ควรนำมาพูดถึงภาพที่ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความสวยความหล่อที่สังคมกำหนด ซึ่งสร้างความกดดันในการออกกำลังกายและรักษารูปร่างในช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่อำนวยเช่นนี้

 

ด้วยเงื่อนไขด้านมาตรการความปลอดภัยที่ทำให้การลดน้ำหนักเป็นเรื่องยาก ช่วงนี้อาจจะต้องใจดีกับตัวเองมากๆ อย่ากดดันเกินไป ดื่มน้ำและนอนหลับอย่างเพียงพอ รวมถึงเลือกวิธีกินกับวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้มากที่สุด


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising