“ตอนแรกที่แม่ตายแล้วเราอายุ 15 ปี คิดว่าตายแล้ว ฉันจะทำอย่างไรกับบ้านนี้ จะอยู่ได้ไหม ควรขายไหม ตอนนั้นงงไปหมด คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร โชคดีที่เราไม่ได้ทำอะไร ถ้าเราคิดไม่ออกก็อยู่เฉยๆ เรียนหนังสือ ใช้ชีวิตที่ควรต้องทำในวัยนั้นไป พอกลับมาอีกทีตอนอายุ 20 ปี ไม่ถึงกับเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว เลยคิดว่าถึงเวลาจัดการได้แล้ว”
หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ กล่าวถึงบ้านจักรพงษ์
วันนี้เราได้มาเยือนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนมหาราช ที่ปัจจุบันคับคั่งไปด้วยโรงแรมและร้านค้าทันสมัยมากมายที่ทยอยเปิดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวจะบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ย่านเก่าแก่แห่งนี้ยังคงมีผู้คนแวะเวียนมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมาเที่ยววัด แวะพักที่คาเฟ่ หรือหาของกินอร่อยๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ
แต่หากย้อนกลับไปราวร้อยกว่าปีที่แล้ว บนถนนเส้นนี้มีสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่โตโอ่อ่าอยู่ไม่มาก และหนึ่งในนั้นคือบ้านหลังใหญ่ที่คนละแวกนั้นเรียกกันว่า ‘วัง’ แต่ผู้เป็นเจ้าของกลับมองว่าสถานที่แห่งนี้คือบ้าน หรือ My Home อันแสนอบอุ่น
ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ถึงประวัติความเป็นมาของบ้านจักรพงษ์ การบูรณะบ้านครั้งใหญ่ และการดัดแปลงบ้านให้กลายเป็นบูติกโฮเทลในชื่อจักรพงษ์วิลล่า (Chakrabongse Villa)
หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์
ประวัติความเป็นมาของบ้านจักรพงษ์
หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 เพื่อเป็นบ้านของหม่อมปู่ หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
“พวกเราเรียกว่าบ้านจักรพงษ์ เพราะพ่อเขียนไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า บ้านในหัวใจของเขาคือ วังปารุสก์ เขาเกิดและโตที่นั่นก็เลยรักที่สุด ห้ามเรียกที่นี่ว่าวัง เพราะคนแถวนี้ชอบเรียกวัง แต่จริงๆ วังที่เราเข้าใจต้องมีเจ้าอาศัยอยู่ ซึ่งเราไม่ได้เป็นเจ้า จึงไม่ควรเรียกวัง พ่อก็บอกไม่ให้เรียกวัง มีหลายเหตุผลที่ไม่ควรเรียกวัง ตอนเด็กๆ เราจะคอยบอกว่าให้เรียกอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอแก่แล้วถ้าจะเรียกวังก็เรียกไป ถ้าเรียกกับเราก็จะคอยบอกว่าจริงๆ ไม่ใช่วัง” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่าบ้าน
ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ผสมผสานระหว่างบ้านไทยและตะวันตก เนื่องจากในยุคสมัยนั้นเจ้านายนิยมสร้างบ้านสไตล์ฝรั่ง จึงมอบหมายให้สถาปนิกชาวอิตาลีอย่าง มาริโอ ตามัญโญ ผู้ออกแบบพระที่นั่งอัมพรสถานและมิวเซียมสยาม มารับหน้าที่ออกแบบบ้านจักรพงษ์ให้มีความสวยงามทันสมัยเหมือนฝั่งตะวันตก แต่ทางด้านการใช้งานต้องเหมาะกับเขตเมืองร้อนอย่างประเทศไทย จึงเกิดเป็นบ้านสองชั้นที่มีหอคอยไว้ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการต่อเติมพื้นที่ชั้น 3 โดย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ พระสหายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานยิ่งขึ้น
จากจุดนี้จะมองเห็นหอคอยได้อย่างชัดเจน
“หม่อมปู่ไม่ได้ประทับที่นี่ เพราะท่านอาศัยอยู่ที่วังปารุสก์เป็นหลัก แต่ด้วยความที่ท่านชอบล่องเรือตอนกลางคืน จึงอยากมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ หม่อมปู่จึงมาบ้านหลังนี้เพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์ รับประทานข้าว และพาเพื่อนมาลงเรือกันที่บ้านหลังนี้ ที่นี่จึงถือเป็นบ้านรอง” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว ก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงแรกไม่มีใครประทับอยู่ที่นี่อย่างถาวร เนื่องจากคุณพ่อหรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ บ้านจึงถูกปล่อยร้างเป็นเวลาหลายปีจวบจนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สำเร็จทางศึกษาและเสกสมรสกับ หม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา จึงได้เสด็จกลับมาเมืองไทยปีละครั้ง และเมื่อนั้นบ้านจักรพงษ์ก็จะกลับมาสุกไสวอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
เมื่อตั้งใจมาอยู่อย่างถาวรจึงต้องบูรณะครั้งใหญ่
ช่วงเวลาที่บ้านจักรพงษ์แห่งนี้เป็นบ้านอย่างแท้จริง เกิดขึ้นตอนที่หม่อมราชวงศ์นริศราย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวร และพบว่าบ้านจักรพงษ์ต้องบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ บรรดาข้าวของต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเก็บไว้จึงถูกนำมาชุบชีวิตขึ้นอีกครั้ง
การตกแต่งภายในบ้านจักรพงษ์
“พอดิฉันกลับมาจัดบ้านเป็นเรื่องเป็นราว มีหลายอย่างต้องซ่อมแซมเพราะไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเรื่องระบบประปา ท่อน้ำ หรือสายไฟต่างๆ ต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย ส่วนกำแพงก็ทำใหม่ ทาสีบ้านใหม่ บางห้องต้องติดเครื่องปรับอากาศ ห้องน้ำก็ต้องทำใหม่ โดยยังรักษาบรรยากาศดั้งเดิมของบ้านไว้ ไม่ใช่ทำอะไรที่น่าเกลียด แต่หลายอย่างก็แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เช่น พื้นหินอ่อน หรือพื้นไม้ เนื่องจากสมัยนั้นใช้วัสดุคุณภาพดี ทนทาน” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าให้ฟังพร้อมชี้จุดต่างๆ ภายในบ้านที่ได้รับการปรับปรุงเสียใหม่ ในขณะที่บางส่วนยังคงอยู่ในสภาพที่ดีแม้ผ่านมาร่วมร้อยปี
“ห้องที่เรานั่งอยู่ตรงนี้เป็นห้องที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด จากเดิมที่ตรงนี้เป็นเฉลียง หันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนที่กลับมาอยู่ถาวร ดิฉันเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็น Family Room หรือห้องที่นั่งแบบสบายๆ เหมาะสำหรับเวลาลูกหรือญาติมาเยือน จึงเป็นห้องที่ดิฉันชอบที่สุด เพราะเห็นทั้งสวนและแม่น้ำ มีบรรยากาศครึ่งบ้านครึ่งสวน สามารถนั่งทำงานตรงนี้ก็ได้ บ้านหลังนี้ดูใหญ่ แต่มี 4 ห้องนอนเท่านั้น ซึ่งก็น่าสนใจและแปลกดี เพราะคนอาจคิดว่าเหมือนอยู่กันเยอะมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว
Family Room
การบูรณะบ้านครั้งนี้เองที่ทำให้หม่อมราชวงศ์นริศราได้เจอข้าวของต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เช่น เครื่องดนตรี เครื่องเงิน ภาพวาด และภาพถ่ายที่หาดูได้ยากยิ่ง สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้บ้านจักรพงษ์กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
ส่วนการตกแต่งภายในดูสวยงามแปลกตาด้วยเฟอร์นิเจอร์และของประดับที่มีกลิ่นอายของไทย จีน และตะวันตก ซึ่งเป็นความชอบของหม่อมราชวงศ์นริศราที่ตกแต่งบ้านหลังนี้ด้วยตนเองแทบทั้งหมด
“การตกแต่งภายในเป็นการผสมผสานระหว่างของที่ซื้อเองและของที่ตกทอดมา ดิฉันชอบเฟอร์นิเจอร์ไทยมาก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบความคลาสสิกของตะวันตก เลยผสมผสานกันหลายแนว ซึ่งเราโชคดีที่มีของตกทอดจากใต้ถุนบ้าน เลยคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างบรรยากาศเหมือนในอดีตได้ในบางส่วนก็น่าจะดี” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว
เมื่อโลกเปลี่ยน บ้านจักรพงษ์และชุมชนย่อมต้องปรับตัว
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านจักรพงษ์แล้ว สภาพแวดล้อมและสังคมภายนอกก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จากเดิมที่บนถนนมีเพียงวัดโพธิ์และบ้านจักรพงษ์เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันมีตึกรามบ้านช่องและร้านรวงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้บ้านจักรพงษ์ต้องปรับตัวให้เข้ายุคสมัย
“ย้อนกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีก่อนตอนก่อตั้งกรุงเทพฯ ตรงนี้เป็นย่านของคนจีน ซึ่งปัจจุบันย้ายไปอยู่ตรงสำเพ็งและเยาวราช แต่ตรงท่าเตียนก็ยังมีคนจีนค้าขายอยู่ที่ตลาดท่าเตียน ซึ่งเป็นตลาดปลาแห้ง ส่วนบริเวณวัดโพธิ์จะมีร้านขายสมุนไพรและยาไทยโบราณ ไม่ได้เป็นย่านท่องเที่ยวอย่างทุกวันนี้
“สมัยเด็กที่เรียนอยู่โรงเรียนจิตรลดา เพื่อนก็ถามว่าบ้านเธออยู่ที่ไหน พอเราบอกว่าอยู่ที่นี่ ก็มักไม่มีคนมา (หัวเราะ) แม่น้ำก็เปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นท่าเรือหน้าบ้านมักมีเรือมาจอด เราก็จะคอยโบกมือทักทายกับเด็กบนเรือ มีแม่ค้ามาพายเรือมาขายของตอนเย็น แม่น้ำยังไม่เสียงดังเท่าปัจจุบัน
“พอมีการทำผังเมืองก็พยายามทำให้ที่ตรงนี้กลายเป็นย่านท่องเที่ยว ซึ่งหลายคนก็ไม่เห็นด้วย อยากให้ผสมผสานและรักษาชุมชนท้องถิ่นบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่จะหายไป ถามว่าคนต่างชาติมากรุงเทพฯ หลายคนก็ชอบโรงแรม 5 ดาว 6 ดาว หรือห้างสรรพสินค้า แต่อีกส่วนก็อยากได้บรรยากาศกรุงเทพฯ ที่แตกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ไม่อย่างนั้นเราอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ไมอามีหรือนิวยอร์กก็ได้ เพราะมีเอกลักษณ์เช่นกัน แถวนี้ก็มีเอกลักษณ์ที่เราควรเก็บรักษาไว้”
ยุคสมัยของการบุกเบิกโรงแรมสไตล์บูติกแห่งแรกของชุมชนริมน้ำ
จากวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ที่ส่งผลกระทบถึงทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่บ้านจักรพงษ์ได้ส่งผลให้หม่อมราชวงศ์นริศราอยากดัดแปลงพื้นที่บางส่วนภายในบ้านจักรพงษ์ให้กลายเป็นโรงแรมขนาดเล็ก แต่มีบริการชั้นเลิศ มอบความสะดวกสบายที่ครบครัน จนเป็นที่มาของจักรพงษ์วิลล่า (Chakrabongse Villa)
“ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง รายได้ก็แทบไม่มี เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เลี้ยงคนที่ทำงานอยู่กับเราได้ ตอนนั้นเปิดสำนักพิมพ์ River Books บริเวณพื้นที่หน้าบ้านแล้ว เลยคิดว่าอยากลองทำโรงแรม และด้วยความที่ไม่รู้เรื่องอะไรก็คิดว่าสนุกดี เพราะเราชอบแต่งห้อง ทำโรงแรมน่าจะง่าย แต่ตรงกันข้ามเลย (หัวเราะ)”
การตกแต่งภายในจักรพงษ์วิลล่า
จักรพงษ์วิลล่า (Chakrabongse Villa) เป็นโรงแรมที่มีทั้งหมด 7 ห้องพัก แบ่งเป็น 4 วิลล่า ได้แก่ Pool View Suites, River View Suites, Thai House Suites และ Garden View Suites รวมถึงอีก 3 ห้องพักที่ตกแต่งในสไตล์โมร็อกโก สิ่งเหล่านี้ล้วนเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ดิฉันมองโรงแรมเป็นพัฒนาการที่ออร์แกนิก ไม่ได้วางแผนไว้ เหมือนชีวิตของเราก็ออร์แกนิก เราไม่ได้วางแผนว่าอายุเท่านี้จะต้องเป็นซีอีโอ คิดว่ามีโอกาสมาบางทีก็คว้าไว้ บางทีก็ไม่คว้า ชีวิตเดินมาอย่างนี้ โรงแรมก็เลยเป็นแบบนั้น ถือเป็นการเติบโตแบบออร์แกนิก” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว
บริเวณสระว่ายน้ำเป็นที่ตั้งของน้ำพุที่ออกแบบโดยองค์พีระ หรือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
ถึงตอนนี้ไม่ว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นวัง บ้าน หรือโรงแรม แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดย่อมอยู่ที่หัวใจของผู้อยู่อาศัย เราจึงได้ลองถามนิยามของคำว่าบ้านจักรพงษ์ในความรู้สึกของหม่อมราชวงศ์นริศรา ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นเรียบง่ายแต่จับใจ
“บ้านจักรพงษ์เป็นบ้านที่รักที่สุดเป็น My Home ที่เป็นบ้านจริงๆ ที่อื่นที่เราไปอยู่ก็ต้องเรียกว่าบ้านเหมือนกัน แต่จริงๆ ไม่ได้อยู่ในจิตใจ คิดถึงบ้านก็ต้องคิดถึงที่นี่” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- ในวันที่ 26-28 มีนาคมนี้ ทางจักรพงษ์วิลล่าได้จัดงาน ‘ท่านหนูและเกิดวังปารุสก์’ เพื่อรำลึกถึงวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือนามย่อ ท่านหนู ที่ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การพาทัวร์เดินชมวัดย่านท่าเตียน สาธิตการวาดภาพ นวดเท้า การร้อยพวงมาลัย และชิมอาหารและเครื่องดื่มจากร้านต่างๆ โดยมีค่าเข้างาน 200 บาท และ 1,500 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการเดินชมความสวยงามภายในพระตำหนัก พร้อมไกด์บรรยายเรื่องราวต่างๆ แบ่งเป็นวันละ 4 รอบ พร้อมรับหนังสือ เกิดวังปารุสก์ หรือหนังสือในราคาเดียวกัน กลับบ้านไปด้วย งานเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. สามารถเดินทางได้ด้วย MRT ลงสถานีสนามไชย จากนั้นเดินเพียง 300 เมตร
- สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองบัตรได้ที่ www.facebook.com/ChakrabongseVillas หรือโทร 0 2222 1290, 08 6987 0493