×

ป่วยง่าย ซึมเศร้า หรือร่างกายเราจะขาดวิตามินดี! วิกฤตสุขภาพของคนยุคโควิด-19 ที่ไม่ควรมองข้าม [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2020
  • LOADING...
ป่วยง่าย ซึมเศร้า หรือร่างกายเราจะขาดวิตามินดี! วิกฤตสุขภาพของคนยุคโควิด-19 ที่ไม่ควรมองข้าม [Advertorial]

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • คนไทยกว่า 42% มีภาวะขาดวิตามินดี พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร หรือแม้แต่เด็กเล็กก็เช่นกัน
  • ทีมนักวิจัยของ Queen Mary University of London ยืนยันว่า วิตามินดีช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ล่าสุด Jon Rhodes ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ยืนยันว่าวิตามินดีมีสรรพคุณต่อต้านการอักเสบ และช่วยให้ร่างกายรับมือกับไวรัสต่างๆ ได้ดีขึ้น
  • งานวิจัยแบบสุ่มที่เผยแพร่ใน Postgraduate Medical Journals ในหัวข้อ การรับประทานวิตามินดีปริมาณสูงในระยะสั้น สำหรับโควิด-19 เทียบกับยาหลอก เผยผลวิจัยที่เกี่ยวเนื่องของวิตามินดีที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานโควิด-19
  • ผลวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Post-Acute และ Long-Term Care Medicine (JAMDA) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการขาดวิตามินดีของคนในช่วงปลายชีวิต มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้าถึง 75%
  • แล้วจะทำอย่างไรให้ร่างกายเราได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ 

เรารู้และเข้าใจกันดีว่า ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด แต่ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอาคารโดยเฉพาะคนเมือง และการมาถึงของชีวิตวิถีใหม่จากผลกระทบของโควิด-19 ประชากรเกือบทั่วโลกจำต้องกักตัวอยู่บ้าน งดเว้นกิจกรรมเอาต์ดอร์ โอกาสที่จะพาตัวเองออกมาสัมผัสแสงแดดยิ่งน้อยเข้าไปอีก นำไปสู่การเกิดภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดีในหลายประเทศ จนกลายเป็นวิกฤตสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ 

อย่าประเมินภาวะขาดวิตามินดีว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะในต่างประเทศภาวะขาดวิตามินดีเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นมีการจัดตั้งสมาคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหลายประเทศ เช่น The Vitamin D Society ที่ประเทศแคนาดา หรือ National Health Service (NHS) บริการสุขภาพแห่งชาติ ที่พยายามกระตุ้นเตือนให้คนออกมาตากแดด หรืออย่างน้อยควรรับวิตามินดี 10 ไมโครกรัม หรือ 2 เท่าของปริมาณที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้คนไทยควรได้รับต่อวัน แม้แต่สาธารณสุขอังกฤษก็แนะให้ประชาชนควรได้รับวิตามินดีตลอดทั้งปี ยิ่งถ้าเข้าข่ายไม่ค่อยออกกำลังกายกลางแจ้ง อยู่แต่ในอาคาร และสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวกายเมื่อออกไปข้างนอกยิ่งเสี่ยงต่อภาวะพร่องวิตามินดี

พฤติกรรมคนเมืองยิ่งเสี่ยง พนักงานออฟฟิศขาดวิตามินดีเยอะกว่าที่คิด
คุณอาจจะคิดว่าภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดีน่าจะเกิดในประเทศเมืองหนาว แดดแรงแบบเมืองไทยไม่น่าจะใช่กลุ่มเสี่ยง แต่เคยมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Bangkok Medical Journal ปี 2015 เก็บข้อมูลพนักงานออฟฟิศ 211 แห่งทั่วกรุงเทพฯ พบว่า 36.5% หรือทุก 1 ใน 3 คนของพนักงานออฟฟิศขาดวิตามินดี นี่ยังไม่นับรวมกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น คนที่มีผิวสีเข้ม, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยโรคตับ, และคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน 

 

อาจารย์หมอธรณัส กระต่ายทอง อายุรแพทย์ที่ปรึกษาคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา
Chief Medical Officer ศูนย์ V-precision (ในเครือโรงพยาบาลวิภาวดี)

 

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก อาจารย์หมอธรณัส กระต่ายทอง อายุรแพทย์ที่ปรึกษาคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา Chief Medical Officer ศูนย์ V-precision (ในเครือโรงพยาบาลวิภาวดี) ที่บอกว่า “คนไทยกำลังเข้าสู่วิกฤต พบคนไทยกว่า 42% ที่ขาดวิตามินดี พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุจะพบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนวิตามินดี 2 มาเป็นวิตามินดี 3 และอีกกลุ่มที่พบเยอะคือกลุ่มคนเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร ไม่กล้าออกแดดเพราะกลัวดำ หรือกลัวว่าจะเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือแม้แต่เด็กเล็กก็เช่นกัน เพราะผู้ปกครองไม่ค่อยปล่อยให้เด็กออกมาเล่นกลางแจ้ง”  

จากข้อมูลยังพบว่า คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขาดวิตามินดีน้อยกว่าในภาคกลาง อาจเพราะวิถีชีวิตที่ต่างกัน

งานวิจับพบ…วิตามินดีช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
อย่างที่รู้ว่าวิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูก หากได้รับไม่เพียงพออาจทำให้แคลเซียมดูดซึม และมีผลดีต่อกระดูกไม่เต็มที่ แต่เรื่องใหญ่และคงต้องหันมาตระหนักกันให้มากขึ้นคือ เริ่มมีงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องถึงความเชื่องโยงระหว่างวิตามินดีกับโรคอื่นๆ อาจารย์หมอธรณัสเสริมในเรื่องนี้ว่า ภาวะซึมเศร้า ภาวะติดเชื้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตะคริว เบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน ไปจนถึงต้นตอของมะเร็ง มีความเชื่อมโยงกับการขาดวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญ

ทีมนักวิจัยของ Queen Mary University of London ยืนยันว่า วิตามินดีช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ล่าสุด Jon Rhodes ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ยืนยันว่าวิตามินดีมีสรรพคุณต่อต้านการอักเสบ และงานวิจัยบางแห่งระบุว่า มันช่วยให้ร่างกายรับมือกับไวรัสต่างๆ ได้ดีขึ้น

หรือในการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่เผยแพร่ใน Postgraduate Medical Journals ในหัวข้อ การรับประทานวิตามินดีปริมาณสูงในระยะสั้น สำหรับโควิด-19 เทียบกับยาหลอก พบว่าวิตามินดีมีผลในการช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน โดยมีการตรวจระดับวิตามินดีในเลือด (25(OH)) ก่อนทำการวิจัยทั้งสองกลุ่มตัวอย่างพบว่า มีวิตามินดีในเลือดน้อยกว่า 20 ng/ml

การศึกษาจะให้ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่มได้รับวิตามินดีในรูปแบบ Cholecalciferol 60,000 IU (รูปแบบกิน) ติดต่อกัน 7 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินดีในเลือดให้มากกว่า 50 ng/ml เทียบกับยาหลอก ผลวิจัยพบว่าผู้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ได้รับวิตามินดี จะมีค่าวิตามินดีในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 ng/ml ภายใน 7 วัน และไม่พบเชื้ออีก ซึ่งคิดเป็น 62.5% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินดี ไม่มีใครมีปริมาณวิตามินดีในเลือดมากกว่า 50 ng/ml และมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ไม่พบเชื้อภายใน 7 วัน คิดเป็น 20.8% ผลวิจัยสรุปได้ว่า การได้รับวิตามินดีปริมาณสูงในผู้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 จะช่วยส่งเสริมให้หายจากการติดเชื้อได้

“ในร่างกายของเราจะมี Vitamin D Receptor หรือตัวรับที่จับกับวิตามินดีบน T cell และ B cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เซลล์มะเร็ง” อาจารย์หมอธรณัส อธิบายเสริม 

 

 

วิตามินดีช่วยให้สมองหลั่งสารผ่อนคลายความเครียด หากสารสื่อประสาทต่ำอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าซึ่งกำลังจะกลายเป็นวิกฤตสุขภาพระดับโลก ด้วยสภาวะกดดันจากสภาพเศรษฐกิจหรือความกดดันที่เกิดจากสังคมรอบตัว วิตามินดีอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้น…แม้จะไม่ถึงกับหายขาดก็ตาม

ทีมนักวิจัยจาก Trinity College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ เผยผลวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Post-Acute และ Long-Term Care Medicine (JAMDA) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการขาดวิตามินดีของคนในช่วงปลายชีวิต มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้าถึง 75% จากการติดตามผลเป็นระยะเวลา 4 ปี 

อาจารย์หมอธรณัสอธิบายว่า “วิตามินดีเป็นตัวสร้างสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้สมองหลังสารเซโรโทนิน (Serotonin) มากขึ้น มีผลช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า ถ้าสารสื่อประสารเหล่านี้ต่ำก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า นี่เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ และหลายคนก็ยังไม่รู้ ดังนั้นคนที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าให้ลองหาสาเหตุอื่นร่วมด้วย อาจเกิดจากการขาดวิตามินดีก็ได้” 

วิตามินดียังมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพต่างๆ ให้กับร่างกาย อาทิ นำออกซิเจนจากเลือดส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ได้ดีขึ้นขณะออกกำลังกาย ลดอาการเมื่อยล้าและอักเสบของกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ 

 

 

ถ้าไม่อยากป่วยง่าย เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และร่างกายอ่อนแอจากโรคอื่นๆ พาตัวเองไปโดดแดดย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

“สาเหตุหลักๆ ที่คนขาดวิตามินดีเพราะไม่ค่อยโดดแดด ร่างกายคนเราสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้ใต้ชั้นผิวหนัง ผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี วิธีป้องกันการขาดวิตามินดีคือ ให้ออกมาสัมผัสแดดบ้าง แดดที่เหมาะสมควรจะเป็นแดดตอนเที่ยงถึงบ่ายสอง ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 10-20 นาที จึงจะได้รับปริมาณรังสียูวีบีที่เพียงพอที่จะเปลี่ยนวิตามินดี 2 ให้กลายเป็นดี 3 ได้”

“วิตามินที่เราได้จากแสงแดดคือวิตามินดี 3 (Cholecalciferol) และยังมีวิตามินที่ได้จากอาหารคือวิตามินดี 2 (Ergocalciferol) ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น พบมากในปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และนม แต่วิตามินดี 2 ที่เราได้จากอาหารจะถูกดึงมาใช้ต้องพึ่งวิตามินดี 3 อยู่ดี”  

 

 

ประเด็นต่อมาคือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า อยู่ในภาวะพร่องวิตามินดีหรือเปล่า อาจารย์หมอธรณัสแนะให้พบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจวัดระดับค่า 25-hydroxy-vitamin D เพื่อดูว่าเราต้องเสริมวิตามินดีในปริมาณเท่าไร 

“ทำไมบางคนกินวิตามินดีเหมือนกัน ในปริมาณเท่ากัน แต่ระดับวิตามินดีกลับเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การดูดซึมวิตามินดีในลำไส้ไม่ดีพอ พบในคนไข้ที่เยื่อบุทางเดินอาหารมีแผล หรืออายุที่มากขึ้น การเปลี่ยนวิตามินดี 2 เป็นวิตามินดี 3 ก็ทำงานแย่ลง และพันธุกรรมก็เป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้ เดี๋ยวนี้มีการทำ Nutrigenomic Testing ทำให้รู้ว่า Vitamin D Receptor (VDR) ในร่างกายเราทำงานดีหรือไม่” 

ถ้ายังไม่สะดวกตรวจ แต่ก็แอบกังวลว่าจะขาดวิตามินดีหรือไม่ อาจารย์หมอแนะนำว่า ให้ลองสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ ว่าคุณอาจขาดวิตามินดีก็ได้ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หรือเริ่มมีอาการซึมเศร้า การเสริมวิตามินดี 3 ในรูปแบบของอาหารเสริมก็เป็นทางเลือก ช่วยทำให้ประสิทธิภาพของวิตามินดีทำงานได้อย่างเต็มที่

ทางการแพทย์อาจจะเสริม Active Vitamin D3 ให้กับกลุ่มคนไข้โรคไต เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้ไตไม่สามารถเปลี่ยนวิตามินดี 3 ได้ จึงไม่สามารถควบคุมเรื่องของบาลานซ์ของฟอสเฟสกับแคลเซียมจึงต้องเสริม Active Vitamin D3 

แล้วเราต้องกินทุกวิตามินเสริมหรือเปล่า อาจาร์หมอบอกว่า “ต้องดูว่าเรากำลังขาดอะไร วิตามินดีเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ซึมเศร้า เบาหวาน อันนี้เป็นฮอร์โมน เป็นวิตามินที่สำคัญ ส่วนวิตามินบีและซีเราก็พบได้ในอาหาร แม้ว่าวิตามินดีจะรับจากอาหารได้เช่นกัน แต่อย่าลืมว่าต้องโดดแดด ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่าทำงานออฟฟิศ หรือชีวิตประจำวันไม่มีโอกาสโดนแดดเลย และเริ่มสังเกตอาการต่างๆ ที่กล่าวมา ควรตรวจหาค่าวิตามินดี ถ้าค่าต่ำเมื่อไร ลองเสริมวิตามินดีเข้าไป และสังเกตร่างกายเราว่าอาการเหล่านี้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะการขาดวิตามินดีอาจเป็นเส้นผมบังภูเขา ที่เราแก้ได้แค่ร่างกายได้รับวิตามินดีเพียงพอ” 

เมื่อวิตามินดีมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า และเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมอง ไปจนถึงความสามารถในการรับมือกับไวรัสต่างๆ และคนทุกวันก็มีโอกาสขาดวิตามินดีได้ เห็นทีนี่จะไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพธรรมดาๆ ถ้าไม่รีบแก้ไขมีแนวโน้วที่จะกลายเป็นวิกฤตสุขภาพในอนาคตเลยก็ได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X