เบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสของภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 โดยจะเห็นได้จากรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่ผ่านมา 1 ใน 4 ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลป่วยเป็น ‘โรคเบาหวาน’
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 สมาคมแพทย์ต่อมไร้ท่ออเมริกา (American Association of Clinical Endocrinologists) จึงออกคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทยได้ดังนี้
- รับประทานหรือฉีดยาเบาหวานตามแพทย์สั่ง
- เตรียมยาเบาหวานและอุปกรณ์ เช่น เข็มฉีดยา ชุดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้เพียงพอ กรณีมีการประกาศภาวะฉุกเฉินต้องเตรียมเพิ่มจากเดิมอีก 30 วัน
หากไม่สามารถซื้อจากร้านยาได้ อาจสั่งซื้อผ่านอีเมล (กรณีนี้อาจเทียบเคียงได้กับโครงการรับยาใกล้บ้านผ่านร้านขายยาคุณภาพสำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการบริการส่งยาทางไปรษณีย์ของบางโรงพยาบาลที่ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ)
- พยายามอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ หากออกนอกบ้านควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ระมัดระวังการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น
- ล้างมือให้บ่อยด้วยการฟอกสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม และหลังสั่งน้ำมูกหรือไอจาม
หากไม่มีสบู่ สามารถใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% (จะสังเกตว่าอเมริกาแนะนำความเข้มข้นต่ำกว่าไทย ซึ่งกำหนดให้ใช้อย่างน้อย 70%)
- ไอจามปิดปากด้วยทิชชู่หรือการงอข้อศอก (ไอใส่ข้อพับหรือแขนเสื้อส่วนบนแทน) จากนั้นทิ้งทิชชู่ลงถังขยะทุกครั้ง
- ระมัดระวังไม่ให้มือสัมผัสตา ปาก หรือจมูกโดยไม่จำเป็น
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด โดยเฉพาะหากเคยสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 หรือเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ต้องโทรปรึกษาหรือไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติเสี่ยงให้โรงพยาบาลทราบ
สำหรับผู้ที่มี ‘โรคความดันโลหิตสูง’ ร่วมด้วย อาจได้ยินข่าวมาก่อนหน้านี้ว่าให้ระมัดระวังยากลุ่ม ACEI หรือ ARB (ยาความดันฯ ที่ลงท้ายด้วย -pril หรือ -sartan) แต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 แพทย์โรคหัวใจอเมริกา (HFSA / ACC / AHA) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุว่า “ปัจจุบันยังไม่มีการทดลองหรือการศึกษาทางการแพทย์ที่พบผลข้างเคียงในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับประทานยากลุ่มนี้”
ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงจึงไม่ควรหยุดยาเอง และที่สำคัญต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันฯ ให้ได้ตามเกณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรง ทั้งนี้ญาติก็สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยให้รับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่งได้
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: