ด้วยความที่ ‘ไก่ทอด’ เป็นตลาดที่มีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดฟาสต์ฟู้ดทำให้ ‘McDonald’s’ ที่เป็นเจ้าตลาดเบอร์เกอร์อดใจไม่ไหว ขอฮึดสู้อีกสักตั้ง!
ย้อนกลับไป McDonald’s เริ่มจริงจังกับไก่ทอดเมื่อราว 7 ปีก่อนด้วยการเปิดตัว ‘แมคไก่ทอดจัมโบ้’ ที่มีจุดเด่นกับขนาดใหญ่กว่าเดิม 45% ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนากว่า 1 ปี และใช้เงินอีกกว่า 50 ล้านบาทในการโปรโมต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ไก่ทอด’ คว้าเมนูขายดีบน GrabFood ส่วน ‘กาแฟ’ เป็นเครื่องดื่มยอดนิยม ทุกๆ 1 นาที มียอดสั่งซื้อกว่า 15 แก้ว
- The Pizza Company สั่งลุย! ขยาย ‘ชิค-อะ-บูม’ แบรนด์ไก่ทอดน้องใหม่ ชิงตลาด 2.5 หมื่นล้าน ที่ลูกค้าอยากได้ ‘รสชาติใหม่ๆ’
- ตลาดไก่ทอด 2.8 หมื่นล้านระอุ Burger King ส่ง ‘ชิกเก้นคิง’ เป็นน้องใหม่ลงสู่สังเวียน วางขายเป็นแห่งแรกในโลก
วันเวลาผ่านไปไม่มีใครรู้ว่า ไก่ทอดของ McDonald’s ประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะแบรนด์เองก็เลี่ยงที่จะพูดถึงยอดขาย แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งไปเลยด้วยการมีเมนูอยู่เรื่อยๆ
จนมาถึงยุคของ ‘กิตติวรรณ อนุเวชสกุล’ ที่ขึ้นเป็นแม่ทัพที่เป็นผู้หญิงคนแรกของ McDonald’s ในปีที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจหันมาโฟกัสเมนูไก่ทอดอีกครั้ง
“แม้ตลาดไก่ทอดจะมีการแข่งขันสูง แต่นี่เป็นตลาดที่ใหญ่มากและยังมีโอกาสอีกมาก” กิตติวรรณ อนุเวชสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าว และระบุเพิ่มว่า “ปัจจุบันเมนูจากไก่ (ไก่ทอดและเบอร์เกอร์) มีสัดส่วนยอดขาย 17% ปีนี้เราต้องการขยับขึ้นเป็น 25-30%”
ให้ ChatGPT มาช่วยค้นหารสชาติที่ลูกค้าชอบ
ไม่แปลกที่ McDonald’s อยากขายไก่ทอดมากขึ้น ข้อมูลจาก GrabFood ระบุว่า ปีที่ผ่านมาเมนูที่ขายดีที่สุดคือ ‘ไก่ทอด’
ในเมื่อคนไทยชอบไก่ทอด McDonald’s เองก็ขายอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้มีรสชาติที่ถูกปาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตบเท้าเข้ามาซื้อครั้งที่ 2
สิ่งที่ McDonald’s ทำคือนอกจากใช้ข้อมูลภายในแล้ว ยังใช้ ChatGPT ซึ่งเป็น AI มาแรงแห่งยุคมาช่วยประเมินว่ารสชาติแบบไหนที่ผู้บริโภคชอบที่สุด โดยเฉพาะ Gen Z ที่จะพัฒนาเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญต่อไปในอนาคต
“เราเชื่อว่าจุดแข็งของ McDonald’s จะสามารถสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง” แม่ทัพของ McDonald’s กล่าว
ไม่ใช่แค่ McDonald’s เท่านั้นที่อยากเบียดเข้าไปชิมลางในพื้นที่ของ KFC แต่ที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดฟาสต์ฟู้ดก็ตบเท้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้ง Burger King ที่เปิดตัวไก่ทอด ‘ชิกเก้นคิง’ (Chicken King) ซึ่งมีการระบุว่าไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ Burger King ลุกขึ้นมาขายไก่มีกระดูก (Bone-in Chicken) ซึ่งก่อนหน้านี้เมนูไก่ที่วางขายมักจะเป็นของกินเล่น
รวมไปถึง The Pizza Company ที่ได้ปั้น ‘ชิค-อะ-บูม’ หลังพบว่า ลูกค้าที่เดินเข้าร้านกว่า 25% ล้วนสั่งไก่มากินกับพิซซ่า และการทำเมนูไก่ที่ชัดเจนขึ้นจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและเฟิร์สจ็อบเบอร์
แน่นอน KFC ย่อมไม่อยู่เฉยๆ ให้คนอื่นมาฉกยอดขายไปจากตัวเอง ดังนั้นนอกจากการทำโปรโมชันรุนแรงแล้ว สิ่งที่เราเห็นคือการใช้งบนับ 100 ล้าน ในการดึงดารามาช่วยโปรโมตด้วยหวังจะดึงฐานแฟนคลับให้กินตาม
1 ปีของแม่ทัพคนใหม่ ดันยอดขายเพิ่ม 40%
อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมาของ ‘กิตติวรรณ’ ที่ได้เข้ามานำทัพ McDonald’s ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย ผลประกอบการในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 5 พันล้านบาท เติบโต 40% และมีกำไร 120 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปี 2564 มียอดขายเพียง 3.7 พันล้านบาท เรียกได้ว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 มียอดขายต่อเดือนสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
“กลยุทธ์เชิงรุกทั้งการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ตามด้วยการเพิ่มน้ำหนักบริการทั้งช่องทางหน้าร้านและเดลิเวอรี ตลอดจนการขยายสาขาไปในพื้นที่ทราฟฟิกสูง เจาะกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขายเราเติบโต”
ทิศทางในปี 2566 ของ McDonald’s นอกจากเจาะเรื่องไก่ทอดแล้ว กิตติวรรณระบุว่า McDonald’s ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เรื่องของการตั้งราคาและการจัดโปรโมชันที่น่าดึงดูด ผ่านการลอนซ์แคมเปญ อร่อยสุดคุ้ม ราคา 99 บาท ที่ต่อยอดมาจากปีที่ผ่านมา โดยแคมเปญดังกล่าวสามารถสร้างยอดขายมากกว่า 55 ล้านต่อเดือน
รวมถึงการร่วมมือกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรีจัดแคมเปญใหม่ๆ เข้ารองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันเดลิเวอรีเติบโต 40% ถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 20% แม้จะไม่โตแบบก้าวกระโดดเหมือนช่วงโควิด แต่ก็ถือว่ายังมีอัตราการสั่งเหมือนเดิม
ขณะที่ช่องทางนั่งกินหน้าร้านก็กลับมาเติบโต และการใช้จ่ายต่อบิลมากกว่า 100 บาท โดยทุกๆ ช่องทางจะเชื่อมกับแอปพลิเคชันที่มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 3 ล้านคน เพื่อสร้างความถี่ในการใช้บริการที่หน้าร้านและสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้าต่อเนื่อง
ลงทุน 300 ล้านใช้ขยายสาขาใหม่
พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมงบการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขาอีก 10-15 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 228 สาขา โดยการเปิดใหม่จะมุ่งไปที่สาขาไดรฟ์ทรูเป็นหลัก โฟกัสในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมกับรีโนเวตสาขาร้านเดิมอีกราวๆ 30 แห่ง
การรีโนเวตนอกจากจะช่วยสร้างความสดใหม่ให้กับสาขาแล้ว ยังจะเป็นการเติมจุดแข็งให้กับร้าน เนื่องจากจะเพิ่มปลั๊กไฟและ Free WiFi เข้ามาตอบโจทย์เทรนด์ทำงานในปัจจุบัน
จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ McDonald’s ตั้งเป้าสร้างรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปี 2566 และเชื่อว่า “บทเรียนที่ผ่านมาในช่วงที่เราเจอความท้าทายจะช่วยทำให้บริษัทพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการเติบโตได้ระยะยาว” กิตติวรรณกล่าว