สมาคมการตลาดฯ เผยกลยุทธ์สร้าง National Branding พร้อมเปิดเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ เป็นยุคแห่งเมตตาไมตรี รายใหญ่ต้องพึ่งพารายเล็ก สร้างการเติบโตร่วมกัน พร้อมมองหาธุรกิจใหม่กระจายความเสี่ยง
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลายลง ประกอบกับการเปิดประเทศ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภาครัฐและเอกชนมีความเคลื่อนไหวให้การสนับสนุน SMEs เพื่อเดินหน้าสู่ New S-Curve ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้บริโภคถึงจุดอิ่มตัวแล้วในแง่ของ การโฆษณา แบรนด์ต้องทำอย่างไรถึงจะดึงลูกค้าให้ซื้อของในออนไลน์
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- Brand & Marketing Trend 2022: เปิดเทรนด์ยุคใหม่ของโลกหลังโควิด แบรนด์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ สงครามยูเครน-รัสเซีย รวมถึงโรคระบาดที่ยังไม่หายไปซึ่งมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปี 2566 อาจไม่ได้เห็นสัญญาณบวกมากนัก
ดังนั้น ในมุมภาคธุรกิจและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเฝ้าระวังกับความไม่แน่นอน เพราะยังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ต้องเฝ้าระวังทั้งในเชิงเศรษฐกิจ Geopolitics เทคโนโลยี และความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร สุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าการตลาดจะยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะเสริมความสามารถและเพิ่มขีดการแข่งขันให้กับประเทศ
ดร.บุรณิน ฉายภาพต่อถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดยระบุว่าต้องเริ่มจากการทำตลาดที่ไม่แบ่งกั้น
“เราจะไม่พูดถึง Above the Line, Below the Line, Offline หรือ Online แต่เส้นตรงเหล่านั้น จะมาเชื่อมกันเป็นวงกลมที่มีลูกค้าอยู่ตรงกลาง จนกลายเป็น On-live Marketing”
ถัดมาคือ ปัจจุบันนักการตลาดจะไม่ใช่แค่ชื่อตำแหน่งอีกต่อไป ทุกคนสามารถเป็นนักการตลาดได้ทั้งหมด และนักการตลาดจะกลายมาเป็นหัวใจหลักของทุกองค์กร
รวมถึงปัจจัยเรื่องอายุงาน ต่อไปจะไม่ได้เป็นตัวกำหนดหน้าที่หรือตำแหน่ง โดยบทบาทหลักจะขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน ซึ่งจะเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ขึ้นไปตำแหน่งระดับผู้บริหาร และจะเห็นคนวัยเกษียณที่มีการอัปสกิลตัวเองให้ได้ทำงานในบทบาทอื่นมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดขององค์กรไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ปัจจุบันองค์กรใหญ่ต้องเรียนรู้จากองค์กรเล็ก องค์กรเล็กต้องเรียนรู้จากองค์กรใหญ่ ตามด้วยการสร้างคุณค่าในยุคนี้ Value Creation สำคัญมาก โดยคุณค่านี้ตีความได้ทั้งในมิติของสินค้าและบริการ ซึ่งการแข่งขันทางราคาไม่ได้แปลว่าต้องถูกที่สุด แต่ต้องคุ้มค่าที่สุด
นอกจากนี้ คนและเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกัน ภายใต้การบริหารข้อมูลรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ และสุดท้ายนอกจาก Metaverse แล้ว ในอีกมุมหนึ่งเรากำลังก้าวสู่ยุคแห่งความเป็นมิตรและการพึ่งพากัน หรือเรียกว่ายุคแห่งเมตตาและไมตรี เป็นการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องพึ่งพารายเล็กให้เติบโตไปด้วยกัน
สำหรับแกนหลักๆ ของการเปลี่ยนแปลงแบบ Game Changer ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่
- Perspective Changer ต้องมีมุมมองและแนวคิดชัดเจน
- Practice Changer เปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ใหม่ๆ
- Platform Changer เราไม่ได้อยู่ในยุค Online หรือ Offline อีกต่อไป แต่เราก้าวเข้าสู่ยุคของ Blended Experiences in Multi Distribution Channel ลูกค้ามองหาประสบการณ์ที่มีความต่อเนื่อง
- Planet Changer กระแสรักษ์โลกไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นแบรนด์ต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน
สำหรับสมาคมการตลาดมองว่าถึงจุดที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งที่จะทรานส์ฟอร์มตัวเอง จากการเป็นแค่แพลตฟอร์มหรือพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาเป็นผู้ผลักดันและเพิ่มศักยภาพให้นักการตลาดไทย
โดยมีแผนการดำเนินงานหลักเพื่อสร้าง National Branding ประกอบด้วยการสนับสนุนนักการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามด้วยการรวมรวมและเผยแพร่ความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดที่ถูกต้อง และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กลุ่มผู้บริหาร ผู้ประกอบการ และนักการตลาดไทย โดยได้พยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีมมากขึ้น
ทั้งนี้เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ที่ผ่านมาการทำธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น แต่วันนี้เริ่มมีต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพราะต้นทุนพลังงานถูกกว่าแถบยุโรป ค่าครองชีพถูก จึงต้องดึงจุดแข็งของประเทศมาเชื่อมกับเทรนด์การตลาด เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมธุรกิจให้เติบโตขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ธุรกิจต้องระวังเรื่องซัพพลายเชนที่มีความผันผวน รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ย ลามไปจนถึงค่าเงิน และที่สำคัญการทำธุรกิจเดียวอาจมีความเสี่ยง ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้า (EV) แต่ภายใต้รถ EV คือมีคอมพิวเตอร์ทำงานอยู่ ซึ่งอนาคตเราไม่ได้มองว่ารถ EV จะช่วยลดโลกร้อนอย่างเดียว แต่จะช่วยสร้างความสะดวกและจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่และชิป จึงต้องพยายามสร้างฐานให้เกิดดีมานด์ แล้วซัพพลายก็จะตามมา พอโลกเปลี่ยน เราก็หนีไม่พ้นที่ต้องปรับตัว