×

แบงก์ชาติสิงคโปร์เผย ไม่หวั่นแม้เพื่อนบ้านทยอยขึ้นดอกเบี้ย เน้นใช้วิธีบริหารอัตราแลกเปลี่ยนนำนโยบายดอกเบี้ย

30.10.2023
  • LOADING...
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS)

ราวี เมนอน ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยว่า นโยบายการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับที่เข้มงวดอย่างเหมาะสม ส่งสัญญาณว่าทางการสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มมีความลังเลแล้วก็ตาม

 

ธนาคารกลางอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพยุงค่าเงินและสกัดกั้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs คาดว่าทั้งสองประเทศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกกว่าในปัจจุบัน

 

เมนอนยังให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg TV ว่าการรักษาเงินดอลลาร์สิงคโปร์ให้อยู่บนเส้นทางที่แข็งค่าหมายความว่าค่าเงินยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ และเป็นการลดอัตราเงินเฟ้อนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจ

 

แม้ว่าสกุลเงินสิงคโปร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินใหญ่ของเอเชียกว่า 7 ใน 10 รวมถึงริงกิตมาเลเซียและหยวนจีน

 

สิงคโปร์พึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ ประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังคงนโยบายการเงินเดิม และยังคงความแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้ผ่านการทบทวนนโยบาย 2 ครั้งต่อปี แต่นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ธนาคารกลางสิงคโปร์จะตัดสินใจเชิงนโยบายในทุกๆ ไตรมาส

 

เมนอนซึ่งจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ หลังจากดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 12 ปี และจะเกษียณจากราชการในวันที่ 31 ธันวาคม ย้ำว่า การประกาศนโยบายที่บ่อยขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะมีการปรับเปลี่ยนบ่อยขึ้น อย่างการประชุม 2 ครั้งในปี 2022 ธนาคารกลางไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวใดๆ เลยและยังคงยึดมั่นในแนวทางระยะกลางเป็นหลัก

 

อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนเมื่อเดือนกันยายน ขณะที่เศรษฐกิจทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ลดลงยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับสิงคโปร์

 

ธนาคารกลางสิงคโปร์เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มบังคับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในภูมิภาคนี้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ ก่อนที่ระดับราคาจะสูงขึ้นด้วยซ้ำ โดยเมนอนกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของราคาอย่างรวดเร็วเกิดจากการกลับมาเปิดประเทศใหม่อีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด และยิ่งทวีความรุนแรงจากสงครามในยูเครน ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก

 

เมนอนยังเสริมว่า ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น ในการพยากรณ์ไม่มีใครที่ทำนายได้ถูกต้องตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วธนาคารกลางก็ทำหน้าที่ได้ดีในการจัดการกับแรงกดดันด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

 

เมนอนมองในแง่ดีว่า “ผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลางจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างจำกัด ตราบใดที่เหตุการณ์ไม่เลวร้ายลงกว่านี้ หลายคนเชื่อว่าในขณะที่ธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด และถือเป็นการเข้มงวดที่รวดเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เศรษฐกิจยังจำเป็นต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยเพื่อขจัดแรงกดดันด้านราคา ซึ่งอย่างน้อยในตอนนี้เราก็สามารถจินตนาการถึงหนทางที่จะลดอัตราเงินเฟ้อได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดภาวะถดถอยแล้ว”

 

จับตา ‘มาเลเซีย’ อีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 

 

นอกจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนกำลังจับตามองว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินหรือไม่ หลังค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 25 ปี 

 

โดยการตัดสินใจจะเกิดขึ้นในการประชุมของธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ในวันพฤหัสบดีนี้ (2 พฤศจิกายน) แม้ว่า Bloomberg Economics คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าธนาคารกลางมาเลเซียอาจประกาศมาตรการอื่นๆ เพื่อหนุนค่าเงินริงกิต

 

ทามารา เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Bloomberg Economics กล่าวว่า สำหรับมาเลเซียมีปัจจัยหลายประการที่สนับสนุน ‘การคงนโยบาย’ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่กลับมาใกล้ค่าเฉลี่ยระยะยาว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะทำให้ค่าเงินริงกิตกลับมาแข็งค่าขึ้น แต่จะเพิ่มอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจากนโยบายการคลังที่ตึงตัวและอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง 

 

อย่างไรก็ตาม เฮนเดอร์สันระบุว่า ค่าเงินริงกิตที่ใกล้ถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นตัวเลือกที่ไม่สามารถตัดออกไปได้ ค่าเงินของมาเลเซียร่วงลงสู่ระดับ 4.7958 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 25 ปี 

 

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ กล่าวในหมายเหตุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศกับสหรัฐอเมริกา และกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อเงินริงกิต โดยส่วนต่างของนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X