×

โบรกชี้ ตลาดหุ้นอยู่ในจุดที่ ‘โอกาส-ความเสี่ยง’ มากพอกัน จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ช่วง 2 ทุ่ม ชี้ชะตาตลาดช่วงท้ายปี

10.11.2022
  • LOADING...

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกอยู่ในโทนของการฟื้นตัว ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 +4.5%, Dow Jones +11.2% แต่ Nasdaq ยังค่อนข้างอ่อนแอ -0.7% ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปที่ดิ่งลงแรงก่อนหน้านี้ก็ฟื้นตัวได้เช่นกัน อย่างเช่น ดัชนี Euro Stoxx 50 +11.3% 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชีย แม้จะดูอ่อนแอกว่า แต่โดยรวมก็ยังปรับขึ้นได้ประมาณ 3-5% ซึ่งรวมถึงดัชนี SET ที่ +3.7% ล่าสุดดัชนี SET ปิดที่ 1,619.23 จุด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


“เราอยู่กับ SET ที่อยู่กึ่งกลางพอดี เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นจะไปทางบวกหรือทางลบได้มากพอๆ กัน” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าว 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามากำหนดทิศทางของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลกหลังจากนี้คงจะหนีไม่พ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะประกาศออกมาในวันนี้ (10 พฤศจิกายน) 

 

“เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไปต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนนี้ เพราะประธาน Fed แต่ละสาขามีคิวจะออกมาให้สัมภาษณ์หลายราย ซึ่งจะใช้ตัวเลขนี้เป็นสำคัญในการกำหนดการใช้โทนคำพูด และโทนคำพูดของแต่ละคนก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ”

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกมานี้ยังฟันธงได้ยาก แต่สาระสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตามองคือ ตัวเลขที่ออกมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หากเงินเฟ้อออกมาสูงขึ้น แต่สูงขึ้นน้อยกว่าที่คาด ก็มีโอกาสจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมจะเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า 

 

ตอนนี้นักลงทุนต้องโฟกัสที่หุ้นเป็นรายตัวอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัย คือ 

 

  1. กำไรไตรมาส 3 ที่ออกมา 
  2. การปรับประมาณการของนักวิเคราะห์ 
  3. การคาดการณ์ของผู้บริหารสำหรับไตรมาส 4 

 

อีกประเด็นสำคัญที่จะกระทบต่อหุ้นไทยคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งตอนนี้นักลงทุนในตลาดให้น้ำหนักของการปรับขึ้นและไม่ขึ้นพอๆ กัน 

 

“หาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เศรษฐกิจอาจเริ่มรับไม่ไหว เอกชนก็อาจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นจะต้องเผชิญกับ Discount Rate ที่สูงขึ้น ทำให้ Valuation ถูกลดทอนลง” 

 

ส่วนผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่มีแนวโน้มที่พรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ซึ่งมีโอกาสจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีหน้าที่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากรีพับลิกันมักจะมีนโยบายที่เอื้อตลาดทุนและภาคธุรกิจ อีกทั้งมีแนวโน้มจะสนับสนุนการลดหย่อนภาษีด้วย 

 

ด้าน อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมปีนี้ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาคืนนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดทิศทางตลาดหุ้นโลกและไทย โดยล่าสุดความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะออกชะลอตัวลงอยู่ระดับต่ำกว่า 8% สอดคล้องกับมุมมองของฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ เช่นกัน

 

หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนมิถุนายนปีนี้ที่ระดับ 9.1% จากนั้นเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนกันยายนปีนี้ปรับลดลงมาเหลือ 8.1% 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาเป็นไปตามที่คาดการณ์ จะเป็นปัจจัยที่ Fed จะเริ่มถอนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอ ซึ่งความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีการปรับมุมมองว่า หากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ออกมาต่ำกว่า 8 หรือ 7.9% จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง โดยความเห็นวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักถึง 60% ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยชะลอลงเหลือ 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไปของ Fed วันที่ 13-14 ธันวาคมปีนี้ Fed ส่วนที่เหลือให้น้ำหนักอีก 40% คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอัตรา 0.75% เปลี่ยนมุมมองจากเดิมว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.50 และ 0.75% ในน้ำหนักเท่ากัน

 

ดังนั้นหากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ออกมาต่ำกว่า 8% ตามที่คาด ถือเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศทั้งตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังต้องการความชัดเจนจากผลการเลือกตั้งในประเทศ

 

เนื่องจากเริ่มเห็นถึงความชัดเจนและจุดพีคของดอกเบี้ยที่คาดว่าจะไปสูงสุดที่ระดับ 5-5.25% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จากนั้นก็จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวไปตลอดทั้งปี 2566 เพื่อใช้ควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงไปถึงเป้าหมายที่ระดับ 4% 

 

อย่างไรก็ดี หากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนตุลาคมปีนี้ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้ ในระยะสั้นอาจสร้างความผันผวนให้ภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกได้ แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปถึงข้อมูลตัวของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนปีนี้ต่อเนื่องไปอีก เพราะจะเป็นข้อมูลที่เฟดจะนำมาประกอบการพิจารณาปรับดอกเบี้ยในครั้งสุดท้ายของปีนี้ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising