×

แบงก์ชาติเล็งหั่นเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ หุ้นธนาคารปรับตัวลงต่อเนื่อง ส่วนหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ลีสซิ่งไม่ตอบสนองมากนัก

โดย SCB WEALTH
19.06.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563 มีรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  1. สินเชื่อบัตรเครดิต ลดเพดานดอกเบี้ยลง 2% จากระดับ 18% เหลือ 16% ต่อปี และอนุญาตให้แปลงสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะเวลา 2 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 12% รวมถึงขยายเพดานวงเงินให้สินเชื่อจากเดิมไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้เป็น 2 เท่าของรายได้ สำหรับลูกค้าที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน

 

  1. สินเชื่อส่วนบุคคล ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดลงจาก 28% เป็น 26% ต่อปี, สินเชื่อ Installment Loan ลดจาก 28% เป็น 25% ต่อปี, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดจาก 28% เหลือ 24% ต่อปี นอกจากนี้ยังอนุญาตให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะเวลา 2 ปีที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี

 

  1. สินเชื่อเช่าซื้อ อนุญาตให้ปรับโครงสร้างหนี้และไม่ต้องจำกัดวงเงิน จากเดิมที่จำกัดวงเงินสำหรับรถจักรยานยนต์ 3.5 หมื่นบาท และรถทุกประเภทไม่เกิน 2.5 แสนบาท รวมถึงลดดอกเบี้ยลง 1% ตามสัญญาเช่าเดิม

 

  1. สินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่จำกัดวงเงินการช่วยเหลือ จากเดิมที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท

 

กระทบอย่างไร:

นับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบัน (19 มิถุนายน 2563) ราคาหุ้นธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลง 3.10% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ลีสซิ่งเคลื่อนไหวไม่มากนัก เพิ่มขึ้น 0.95%

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงชั่วคราวจะส่งผลกระทบจำกัดต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของหุ้นกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ลีสซิ่ง และหากพิจารณาตามการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยอิงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 พบว่าช่วยเรื่องความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง โดยสถาบันการเงินได้รับอนุญาตในการเร่งปรับโครงสร้างสำหรับลูกค้าที่ยังไม่ถูกจัดเป็น NPL นอกจากนี้ยังได้รับการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อและการกันเงินสำรองเป็นเวลา 2 ปี (2563-2564)

 

จากการสำรวจของ SCBS พบว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 6.68 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์และลีสซิ่งภายใต้การวิเคราะห์ของ SCBS มีสัดส่วนสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือเพียง 10% ต่อสินเชื่อรวมของกลุ่มไฟแนนซ์และลีสซิ่ง ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างมาก

 

ทั้งนี้ต้องติดตามการแถลงรายละเอียดมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทย

 

มุมมองระยะยาว:

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบของลูกหนี้ รวมถึงได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองตามกระบวนการ Management Overlay เพื่อรองรับความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สถาบันการเงินจะเร่งตั้งสำรองภายในปีนี้เพื่อรองรับ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง 

 

ดังนั้นในระยะยาวยังคงต้องติดตามทิศทาง NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising