×

รศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หมอผู้ลบคำสบประมาทของคนอื่นด้วยการลงมือทำ

21.12.2017
  • LOADING...

ถ้าคุณเข้าข่ายเรียนดี มีเกรดเด่น ค่านิยมของพ่อแม่ไทยหลายคนก็อยากให้ลูกเรียนต่อและสอบเข้าคณะแพทย์ให้ได้ เพราะอนาคตจะได้สบาย

 

หมอไทยน่าจะมีเส้นทางชีวิตแบบนี้กันเยอะ ไม่ต่างจาก รศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ที่มีชีวิตเหมือนนักเรียนแพทย์ทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เขาสนใจเรียนพันธุศาสตร์ ศึกษาพวกดีเอ็นเอ ยีน และพันธุกรรม ในวันที่ยังไม่มีใครเข้าใจว่าจะเรียนไปทำไม

 

เขาเดินหน้าอย่างไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไปเรียนต่อที่อเมริกาถึง 6 ปี งานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องพันธุกรรมอย่างจริงจังคือเรื่องมะเร็ง ซึ่งเขานำความรู้ความเข้าใจตรงนั้นมาต่อยอดที่เมืองไทยด้วย

 

จนวันนี้การรักษามะเร็งจากการตรวจยีนและดีเอ็นเอกลายเป็นศาสตร์ที่หลายโรงพยาบาลสนใจ และคุณหมอเองก็ยังทำหน้าที่ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการรักษาอยู่เสมอ

 

แม้อาจจะไม่มีใครเห็นด้วยอีกกี่ครั้งก็ตาม

 

 

ครอบครัวอยากให้คุณเรียนหมอเพราะอะไร

พ่อแม่จะบอกตั้งแต่เด็กว่าเรียนหมอนะลูก เพราะค่านิยมสมัยนั้นเขามองว่าการเป็นหมอมันมีความมั่นคง อยู่รอดได้ เลี้ยงตัวเองได้ แล้วก็ไม่ต้องหางานเลยเพราะว่าจบมาก็จะมีงานทำ ซึ่งเราก็รู้อยู่แค่นี้ แต่ถ้าถามว่าชอบไหม ตอนจะเลือกคณะเพื่อสอบเอ็นทรานซ์ก็ยังเฉยๆ แต่ไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ชอบการเป็นหมอ ตอนนั้นคือถามว่าชอบอะไรเราก็ยังไม่รู้ แต่ก็เข้าไปเรียนก่อน

 

หลังจากสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็น่าจะสบายขึ้นแล้วนะ

ไม่เลยครับ คือทุกขั้นก็เป็นเหมือนการเริ่มต้นอีกช่วงหนึ่งของชีวิต สอบเข้าได้ก็มาเจอการเรียนที่ยากขึ้นไปอีก ซึ่งมองย้อนกลับไปชีวิตก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา มันเป็นอีกก้าวหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเติบโต คือพอถึงเวลาเราเรียนจบแล้วก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ที่โรงพยาบาล ไปเริ่มต้นใหม่กับการเรียนต่อต่างประเทศ มันไม่ได้สบายขึ้นหรอก

 

 

คุณเป็นคนตั้งใจเรียนขนาดไหน

ตั้งใจเรียนมากๆ ครับ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเรื่องเกรดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่อย่าลืมว่ามันก็ต้องคิดมุมกลับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา คือเวลาไปสมัครเรียนต่อหรือสมัครงาน สิ่งหนึ่งซึ่งเขาใช้ในการตัดสินเราก็หนีไม่พ้นเรื่องเกรด เขาต้องตัดสินคุณสมบัติคนคนหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เลยต้องดูจากความตั้งใจเรียนอย่างสม่ำเสมอนั่นแหละ

 

เพื่อนๆ นักเรียนแพทย์รุ่นผมก็เรียนหนักกันทุกคน สมัยปี 2 ปี 3 ผมเคยต้องสอบติดๆ กันทั้งสัปดาห์ เช้าหนึ่งวิชา บ่ายหนึ่งวิชา ซึ่งพอเนื้อหาที่ใช้สอบมันเยอะมาก เราก็ใช้วิธีการอ่านหนังสือสอบตั้งแต่กลางคืนจนถึงเช้า ทำแบบนี้ 4 วันรวด อาจจะนอน 2 ชั่วโมงแล้วก็ตื่นมาอ่านหนังสือตะลุยถึงเช้าแล้วก็ไปสอบ จริงๆ แล้วตอนเป็นนักเรียนแพทย์จะกลัวสอบตกมากกว่ากลัวผีอีกนะ อย่างตึกกรอสส์ (ตึกกายวิภาคศาสตร์) ที่เรียนผ่าศพอาจารย์ใหญ่ คืนก่อนสอบนักเรียนแพทย์อยู่กันจนดึกดื่น คือเรื่องผีไม่มีใครสนใจ ไปถามนักเรียนแพทย์ได้เลย ต่อให้ดึกแค่ไหนก็อยู่อ่านหนังสือได้

 

 

แล้วมันเป็นสิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุขหรือเปล่า

ผมค้นพบว่าเรียนหมอสนุกมากตอนขึ้นชั้นคลินิก ได้ดูแลคนไข้จริง ผมคิดเสมอว่าการเรียนหมอชั้นคลินิกคล้ายกับว่าเราคือนักสืบ คือจะค่อยๆ แกะรอย สืบหาหลักฐานไปเรื่อยๆ ว่าปัญหาคนไข้คืออะไร เกิดจากอะไรกันแน่ เจอปัญหาคนไข้ก็กลับไปอ่านหนังสือค้นคว้า พอเรารู้ก็เอาไปใช้แก้ปัญหาคนไข้ได้จริง รักษาคนไข้ได้ พอเราเข้าใจปัญหาต่างๆ จากคนไข้ ทำให้การเรียนไม่ต้องท่องจำอะไรเยอะ เพราะเข้าใจว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งพอไม่ต้องท่องจำมาก ก็ทำให้เรียนอย่างมีความสุข พอมีเวลามากขึ้น นอกจากเรียนแล้วก็เลยแบ่งเวลาทำกิจกรรมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเราทุ่มเททั้งการเรียนและกิจกรรมด้วย มันก็ทำให้เราพบสไตล์การเรียนของตัวเอง คือการเรียนแบบนี้เป็นวิธีการเรียนที่เหมาะกับเรา แล้วก็ทำให้เราไม่เรียนอย่างเป็นทุกข์ เรียนด้วย เล่นด้วย เรียนแล้วสนุก เอาไปใช้ได้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันใช่แบบนั้น

 

 

นอกจากเรียนที่เมืองไทยแล้ว คุณยังไปเรียนต่อเมืองนอกด้วย เพราะอะไร

ตอนเรียนจบเป็นแพทย์ทำงานรักษาคนไข้ก็ต้องเรียนรู้มากอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นอาจารย์สอนแพทย์อีกที ก็เป็นอีกระดับหนึ่งของการเรียน เนื่องจากหัวข้อที่ผมสนใจดันไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน คือสนใจเรื่องพันธุกรรม ดีเอ็นเอ คนก็งงว่าไปเรียนทำไม เรียนแล้วเอาไปทำอะไรเหรอ แต่ก็อยากลองเรียนดู เลยเลือกไปเรียนต่อที่อเมริกาเพราะสถาบันที่สอนวิชานี้มีไม่มาก ซึ่งวิธีการเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของหมอจะต่างจากการไปเรียนต่อปริญญาโทหรือเอก แทนที่จะไปเรียน (study) ในห้องเรียนฟังครูบรรยาย การเรียนผู้เชี่ยวชาญเป็นการฝึกอบรม (train) คือต้องไปทำงานจริงที่โรงพยาบาล ผมไปฝึกอบรมอายุรศาสตร์ก่อน 3 ปี ถึงไปต่อเรื่องพันธุศาสตร์อีก 3 ปี ซึ่งกว่าจะสอบ กว่าจะบินไปสัมภาษณ์แต่ละโรงพยาบาลมันก็ไม่ง่าย แล้วยิ่งตอนที่ต้องไปเรียนต่อจริงๆ ก็ยิ่งไม่ง่ายเลย ผมไปทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในชิคาโก ขนาดคิดว่าเราก็ฝึกภาษาอังกฤษมาดีระดับหนึ่งแล้ว แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่เลย ทั้งหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ คนไข้ ญาติ เขาพูดกันไฟแลบจนเรายืนอึ้งไปหมด สื่อสารกับใครไม่ได้ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนเป็นกะเหรี่ยงที่อยู่ท่ามกลางฝรั่ง ฟังเขาพูดก็ไม่ออก ฟังไม่ทัน พูดก็ไม่ทัน พูดแล้วเขาก็ฟังเราไม่รู้เรื่อง ระบบการทำงานก็ต่างจากบ้านเรา ประมาณ 6 เดือนกว่าจะปรับตัวได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากที่นั่นคือ ถ้าเราทำงานได้ดีคนจะเห็นเอง และทำให้เขาเห็นข้อดีของแพทย์ไทย เราอาจจะพูดน้อย แต่เราทำงานเยอะ มีประสบการณ์และทักษะการดูแลคนไข้ดีกว่าแพทย์อเมริกาที่เรียนจบพร้อมกัน

 

พอฝึกอบรมอายุรศาสตร์ครบ 3 ปี ก็ได้เวลาไปต่อพันธุศาสตร์ ผมสนใจสาขานี้เลยเลือกไปฝึกอบรมที่สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ (National Human Genome Research Institute) สังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ที่รัฐแมรีแลนด์ วงการแพทย์จะรู้จักดีในชื่อ NIH สถาบันใหญ่มาก เป็นที่รวมของนักวิจัยดังๆ ระดับโลกเต็มไปหมด ทำวิจัยอย่างเดียว ปรากฏว่านักวิจัยในสถาบันจีโนมส่วนใหญ่เป็นหมอเด็กทั้งนั้น เพราะคนไข้โรคพันธุกรรมส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผมเรียนมาทางโรคผู้ใหญ่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องเด็ก ก็มองไปถึงมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเหมือนกัน เลยตัดสินใจไปขอทำวิจัยกับทีมนักวิจัยที่สถาบันมะเร็ง (National Cancer Institute) แทน เข้าไปขอเขาทำวิจัยกับเขาดื้อๆ เลย ตอนแรกเขาก็งงที่จู่ๆ ใครจากไหนไม่รู้นอกสถาบันมาขอทำงานด้วย แต่เขาก็ยินดีรับนะ ได้มีโอกาสทำงานข้ามสถาบันก็สนุกดี ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก ที่นั่นเขาจะมีลักษณะของการเป็นชุมชนของนักวิจัยที่ดี ขอให้มีความสนใจร่วมกันก็มาทำงานร่วมกันได้ เราก็ใช้แนวเดิมคือ พูดให้น้อย ทำให้เยอะมากกว่า ช่วงที่อยู่ NIH ทำผลงานวิจัยได้หลายเรื่อง ตอนใกล้ครบ 3 ปีเขาเสนอตำแหน่งให้ด้วยนะ อยากให้เราอยู่ต่อ แต่ผมขอกลับเมืองไทย

 

 

หลังกลับมาเมืองไทยอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ศิริราช

กลับมาก็ต้องเปลี่ยนบทบาทไม่ใช่แค่หมออย่างเดียวแล้ว แต่เราเป็นอาจารย์สอนหมออีกที และชีวิตก็ไม่เหมือนกับการเป็นหมอทั่วไปที่ดูแลคนไข้เท่านั้น พอเป็นอาจารย์ก็มีหน้าที่พันธกิจหลายอย่าง ทั้งต้องดูแลคนไข้ ต้องสอนหนังสือนักเรียนแพทย์ แล้วก็ต้องทำวิจัยด้วย ชีวิตเหมือนกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ คือเริ่มทำงานวิจัยของตัวเอง เราต้องเริ่มต้นทุกอย่างเอง หันไปทางไหนก็เหมือนจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญหรือสนับสนุนเรื่องพวกนี้ สภาพแวดล้อมที่เมืองไทยมันต่างจากตอนอยู่ที่อเมริกามาก ที่ NIH มีกลุ่มนักวิจัย มีสังคม มีทรัพยากร พร้อมให้เราทำวิจัยเรื่องอะไรก็ได้ที่เราสนใจ แต่อยู่เมืองไทยมันไม่มีอะไรแบบนั้น ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

 

อาจารย์หยิบงานมะเร็งที่ศึกษามาวิจัยที่เมืองไทยอย่างไรบ้าง

นับว่าตัวเองโชคดีที่เรื่องมะเร็งกับพันธุกรรมตื่นตัวขึ้นมาช่วงที่มีข่าว แอนเจลินา โจลี ผ่าตัดเต้านมเพราะรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงมะเร็งจากกรรมพันธุ์ ข่าวดังมากเลยทำให้ทุกคนสนใจเรื่องโรคมะเร็งว่าสามารถตรวจทางพันธุกรรม ตรวจดีเอ็นเอได้ คิดว่าเป็นโอกาสที่ทุกคนให้ความสนใจ หลังจากนั้นการขอทุนวิจัยก็ง่ายขึ้น หรือพูดเรื่องนี้ไปใครๆ ก็รับฟัง จนตอนนี้เราทำงานวิจัยกันเป็นเครือข่ายใหญ่จากหลายมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะศึกษาเรื่อง ‘การแพทย์แม่นยำ’ (Precision Medicine) คือเราใช้การตรวจดีเอ็นเอคนไข้มะเร็งแต่ละคนให้ทราบว่ามีพันธุกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไร และสามารถทำนายได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์อย่างนี้เหมาะกับการรักษาด้วยยาสูตรไหน ทำให้แพทย์สามารถเลือกยา หรือเลือกสูตรการรักษาได้จำเพาะมากขึ้น เพราะคนไข้มะเร็งแต่ละคนมีการกลายพันธุ์ที่ต่างกัน ผมเชื่อว่าถ้าใช้วิธีนี้กับโรคมะเร็ง การรักษาจะมีความแม่นยำขึ้น มีผลการรักษาดีขึ้น

 

มองย้อนกลับไปจากจุดที่คนมาบอกว่าพันธุศาสตร์ เรื่องยีน ดีเอ็นเอ มันไม่มีประโยชน์ มาจนปัจจุบันที่ทุกคนบอกว่า เราจะต้องศึกษาเรื่องปัจจัยทางกรรมพันธุ์ของทุกๆ โรคนะ มันกลายเป็นความรู้ที่ทุกคนหันมาสนใจมากขึ้น แล้วก็จัดให้มันเป็นส่วนสำคัญของการวิจัยทางการแพทย์ทั้งหลาย ผมดีใจนะ

 

 

หลายโปรเจกต์ที่อาจารย์ทำเรื่อยมา ยังอยากทำอะไรในอนาคตต่อจากนี้

ความเชี่ยวชาญของผมอยู่ในด้านพันธุกรรมและดีเอ็นเอ อย่างแรกที่อยากทำคือ เราอยากประยุกต์องค์ความรู้นี้ไปใช้กับการแก้ปัญหาทางการแพทย์อื่นๆ หรือโรคอื่นๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะมะเร็งอย่างเดียว อย่างที่สองคือจะทำอย่างไรให้งานวิจัยเหล่านี้พัฒนาไปเป็นวิธีการวินิจฉัยและรักษาที่คนไข้ไทยเอาไปใช้ได้ เพราะเวลาพูดถึงเรื่องดีเอ็นเอ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลเกินตัว ค่าใช้จ่ายสูง ต้องอาศัยแล็บที่ไฮเทคซับซ้อน แต่เราอยากทำให้ของพวกนี้เข้าถึงง่ายขึ้น มีราคาถูก และอย่างที่สาม ในด้านการวิจัย เราอยากเห็นสภาพแวดล้อมของระบบวิจัยที่เอื้อให้คนที่สนใจอยากทำงานวิจัย อยากสร้างระบบนิเวศของการวิจัยให้เหมือนที่อเมริกา

 

ทุกวันนี้อาจารย์ชอบการเป็นหมอแล้วหรือยัง

ต้องชอบแล้วสิ ผมรู้สึกชอบตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ช่วงปี 3 ขึ้นปี 4 เป็นช่วงที่รู้แล้วว่าเรียนไปทำอะไร เพราะเป็นช่วงที่ได้เอาความรู้ที่เรียนมาประยุกต์มากขึ้น ตอนเรียนปีแรกๆ เหมือนเรียนเรื่องอาวุธ จับมีดจับดาบ พอมาช่วงขึ้นคลินิกเป็นช่วงที่เหมือนเราฝึกการใช้อาวุธพวกนั้น ลับมีดก่อนจะออกรบ คือพอรู้ว่าเราเรียนเราทำไปเพื่ออะไร สิ่งที่เราทำมันมีความหมาย การจะทำอะไรให้ดีสักอย่างเราต้องทุ่มเทกับมัน หลายคนอาจจะมองว่าจะทำได้แบบนั้นเราต้องมีแพสชัน ซึ่งมันก็ดี แต่ผมมองว่าแพสชันเป็นเรื่องของอารมณ์ซะเยอะ พอทำไปสักพักถึงจุดที่เหนื่อยมากๆ หรือมีอุปสรรคเกิดขึ้น จะเริ่มท้อ ไขว้เขว หลายคนอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามาถูกทางแน่เหรอ ชอบจริงไหม อยากทำจริงหรือเปล่า บางคนอาจจะหมดแพสชันแล้วก็ล้มเลิกไปเลย แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากการทำเพราะแพสชัน เป็นการทำเพราะมี เพอร์โพสแล้ว เราจะเข้าใจว่าทำงานนั้นเพราะอะไร แม้จะเป็นช่วงของอุปสรรค ก็จะทำให้เราผ่านพ้นมาได้ เพราะรู้เหตุผลของการลงมือทำ คือมีแพสชันมันดีนะ แต่ขอให้เจอเพอร์โพสของตัวเองด้วยในที่สุด แล้วเราจะอยู่กับมันได้นาน

FYI
  • ติดตามฟังเรื่องราวชีวิตการเรียนและการทำงานของคุณหมอมานพในมุมอื่นๆ เพิ่มเติมได้จากงาน Worst of the Best เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้ที่นี่เลย www.facebook.com/worstofthebest 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising