×

นักวิชาการชี้ การสู้รบอิสราเอล-ปาเลสไตน์ น่ากังวลกว่าที่ผ่านมา เตือนรัฐบาลไทยแสดงท่าทีระมัดระวัง หวั่นกระทบช่วยคนไทย

08.10.2023
  • LOADING...

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD แสดงความเห็นต่อสถานการณ์สู้รบครั้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ปะทุขึ้นวานนี้ (7 ตุลาคม) และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 ฝ่ายรวมแล้วมากกว่า 500 คน บาดเจ็บมากกว่า 3,000 คน

 

โดย ผศ.ดร.มาโนชญ์ ระบุว่า การสู้รบครั้งนี้ตึงเครียดและน่ากังวลกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตนั้นฝ่ายปาเลสไตน์มีแค่การโจมตีทางอากาศเช่นการยิงจรวดใส่อิสราเอล แต่ไม่มีการรุกภาคพื้นดิน ซึ่งกลุ่มฮามาสยังยึดคืนพื้นที่บางส่วน และจับทหารอิสราเอลเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองและแลกเปลี่ยนนักโทษ

 

ขณะที่การโจมตีครั้งนี้พบว่ามีการยกระดับจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยกลุ่มฮามาสทำการโจมตีด้วยจรวดมากกว่า 5,000 ลูก ขณะที่อิสราเอลยกระดับการโจมตีทางอากาศ

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ยังมองว่าทั้งสองฝ่ายมุ่งไปสู่เป้าหมายของตัวเอง และเดินหน้าปฏิบัติการสู้รบแบบถึงไหนถึงกัน โดยอิสราเอลมองว่าฮามาสโจมตีดินแดนของตน และประกาศว่าอยู่ในภาวะสงคราม พร้อมโจมตีกาซาอย่างหนักหน่วง ซึ่งการใช้คำว่า ‘สงคราม’ เป็นสัญญาณว่าจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และความสูญเสียในกาซาจะทวีคูณกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

โดยฉนวนกาซาพื้นที่ 365 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 2.5 ล้านคน ความหนาแน่นประชากร 6,500 คนต่อตารางเมตร อัดแน่น ถือว่าหนาแน่นมากเมื่อเทียบกับจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีพื้นที่ 400 กว่าตารางเมตร มีประชากรแค่ 1.9 แสนคน ซึ่งการโจมตีของอิสราเอลมีการถล่มในพื้นที่ชุมชน แต่ระบุว่าโจมตีเป้าหมายของกลุ่มฮามาสเพื่อเรียกความยอมรับจากประชาคมโลก

 

ส่วนฝั่งปาเลสไตน์ โฆษกฮามาสส่งสัญญาณเดินหน้าถึงที่สุด โดยบอกว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการตอบโต้ต่อความโหดร้ายที่ชาวปาเลสไตน์เผชิญตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยกยอดปัญหาทั้งหมดมาเปิดฉากโจมตีอิสราเอล โดยมีเป้าหมายสำคัญคือยุติการยึดครองดินแดนของอิสราเอล และการต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่จะปลดปล่อยปาเลสไตน์ พร้อมเรียกร้องชาวปาเลสไตน์ทุกภาคส่วนออกมาต่อสู้ และเรียกร้องประเทศมุสลิมต่างๆ ออกมาเคียงข้าง

 

ทางด้าน ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เป้าหมายปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสว่ามี 3 ประการที่สำคัญเป็นอย่างน้อย ได้แก่

 

  1. แก้แค้นต่อสิ่งที่อิสราเอลกระทำต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี นั่นคือการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ การกดขี่ข่มเหง การลุกไล่ครอบครองดินแดนแล้วนำมาสร้างเป็นนิคมชาวยิว การทำลายบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์ การจับกุมคุมขัง การปิดล้อมและโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ และที่สำคัญคือการล้ำเส้นเข้าไปรุกรานมัสยิดอัลอักซอหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

 

  1. เพื่อดึงความสนใจของประชาคมโลกให้หันมาสนใจประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ เพราะขณะนี้ความหวังที่จะมีรัฐปาเลสไตน์เลือนรางลงทุกที กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางล้มเหลวลง ขณะที่โลกลืมปัญหาที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกระทำและละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นปฏิบัติการของฮามาสครั้งนี้จึงเป็นการแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่าสันติภาพตะวันออกกลางจะยังไม่เกิดขึ้นหากปัญหาการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

  1. เพื่อจับตัวประกันที่เป็นชาวอิสราเอล โดยเฉพาะทหาร ให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยต่อรองแลกตัวประกันกับอิสราเอลทีหลัง โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวประกันที่เป็นทหารของอิสราเอลนั้นมีค่ามาก เพราะสามารถนำมาแลกกับนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจองจำในคุกของอิสราเอลได้ บางครั้งทหารอิสราเอล 1 นาย สามารถแลกนักโทษปาเลสไตน์ได้หลายร้อยคนเลยทีเดียว ขณะที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์อยู่ในคุกอิสราเอลกว่า 5,200 คน มีทั้งเด็ก คนชรา และผู้หญิง จำนวนมากถูกขังคุกโดยไม่มีคดี ไม่มีการไต่สวนความผิด

 

ทั้งนี้ สำหรับคำถามว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปขนาดไหน ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า “วันนี้ความขัดแย้งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะหนักหน่วงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และจะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นไปได้คือความขัดแย้งจะลุกลามจากกาซาไปเวสต์แบงก์”

 

โดยที่ผ่านมาเวสต์แบงก์เป็นปัญหาในการขยายพื้นที่ มีแค่การประท้วงหรือสลายการชุมนุม แต่ไม่มีการโจมตีด้วยอาวุธหนัก ยกเว้นกรณีการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน แต่วันนี้การสู้รบอาจลุกลามไปถึงเวสต์แบงก์ และดินแดนอื่นในอิสราเอลที่มีชาวปาเลสไตน์อยู่ ก็อาจจะมีการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์

 

อีกระดับที่น่ากังวลคือสงครามระดับภูมิภาค เพราะวันนี้มีหลายกลุ่มที่แสดงตัวว่าสนับสนุนปาเลสไตน์จนถึงการสิ้นสุดการยึดครองของอิสราเอล เช่น อิหร่านหรือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนปาเลสไตน์ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมคาดว่าจะมีการตอบโต้จากอิสราเอล และอาจทำให้ความขัดแย้งและการสู้รบขยายวงถึงระดับภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงมหาอำนาจโลกอย่างจีนเองก็อาจเข้ามาแข่งขันสนับสนุน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาชัดเจนว่าสนับสนุนอิสราเอล

 

ทั้งนี้ กรณีแรงงานไทยในอิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่าหากมองถึงการต่างประเทศของไทยต่อสถานการณ์นี้คือต้องระมัดระวังและรอบคอบอย่างที่สุด แต่ในอีกด้านคือการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนต่อคนไทยในอิสราเอล ซึ่งทางการไทยจำเป็นต้องหาแนวทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุด

 

ขณะที่การแสดงจุดยืนของไทยต้องระมัดระวังว่าการประณามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่พิจารณาบริบทรอบด้าน อาจทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการพูดคุยและช่วยเหลือคนไทย

 

“เราควรแสดงท่าทีโดยหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจบลงด้วยดีโดยเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์อย่างยั่งยืน บนแนวทางที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญ” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว

 

ภาพ: REUTERS / Ilan Rosenberg

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising