ถึงจะมีประวัติศาสตร์การพบกันมายาวนานกว่า 131 ปี แต่ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่สองทีมแห่งแมนเชสเตอร์อย่าง ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะได้โคจรมาเจอกันเองในศึกนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ รายการฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ศึก ‘แมนเชสเตอร์ดาร์บี’ ที่จะลงสนามในเวลา 3 ทุ่มบ้านเราคืนนี้มีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งหากจะนับเกมที่เป็นการพบกันของ ‘คู่ปรับ’ (Rivalry) ตัวจริงในลักษณะใกล้เคียงกัน อาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงนัดชิงในปี 1996 ที่แมนฯ ยูไนเต็ด พบกับลิเวอร์พูล (ในความทรงจำของชุดขาว Armani และประตูชัยของ เอริก คันโตนา)
แต่นอกเหนือจากความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างสองทีม ยังมีสิ่งที่เป็นเหมือนผงชูรสให้เกมนี้มีความหมายมากขึ้นเป็นพิเศษ
เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เทรเบิลแชมป์’ เข้ามาเกี่ยวด้วย
แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ หากเราเปิดหนังสือประวัติศาสตร์ความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างสองทีมแห่งแมนเชสเตอร์ ก็จะพบว่าถึงแม้จะดูเหมือนไม่ได้เป็นคู่ปรับระดับอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ในแบบเดียวกับลิเวอร์พูล-แมนฯ ยูไนเต็ด หรือริเวอร์เพลท-โบคา จูเนียร์ส แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะ ‘ญาติดี’ กันเสียทีเดียว
“ผมไม่แม้แต่จะเอ่ยชื่อพวกมัน (แมนฯ ยูไนเต็ด) เลย” ไนเจล รอธแบนด์ แฟนบอลแมนฯ ซิตี้ที่เป็นพิธีกรรายการ ‘The Man City Show’ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ก่อนจะเฉลยความว่าเมล็ดพันธุ์ของความเกลียดชังนั้นได้รับการปลูกฝังมาจากพ่ออีกที
ในขณะที่ เจย์ ม็อตตี จากช่อง YouTube ‘Stretford Paddock’ บอกว่า “สำหรับผมคู่ปรับตัวจริงอย่างไรก็คือลิเวอร์พูล มันเป็นมากกว่าฟุตบอล มันเป็นเรื่องความไม่ถูกกันของคนสองเมือง เรื่องเศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง
“เพียงแต่กับแมนฯ ซิตี้ก็น้อยกว่ากันไม่เท่าไร และจากสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าความไม่ถูกกันเริ่มใกล้เคียงกันแล้ว”
ม็อตตียังบอกอีกว่าในอดีตแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดมักจะมองแฟนแมนฯ ซิตี้ต้อยต่ำกว่า ส่วนในสนามก็มีการฟาดฟันกันบ้างเป็นปกติ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในขณะที่แมนฯ ซิตี้ประสบความสำเร็จมากมายมหาศาล แมนฯ ยูไนเต็ดตกต่ำลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดความรู้สึกเริ่มอิจฉาทีมที่พวกเขาเคยมองว่ามีสถานะต่ำกว่าอย่างแมนฯ ซิตี้
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความจริงเมืองแมนเชสเตอร์ไม่ได้มีทั้งแมนฯ ซิตี้หรือแมนฯ ยูไนเต็ด
จุดเริ่มต้นของแมนฯ ยูไนเต็ด คือ ‘นิวตัน ฮีธ’ สโมสรฟุตบอลที่ก่อตั้งโดยการรถไฟแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ หรือ ‘LYR’ ในปี 1878 ที่ตั้งทีมมาเพื่อให้พนักงานได้ออกกำลังกายและไปแข่งกับทีมจากบริษัทเดินรถไฟเจ้าอื่น โดยมีสีชุดประจำทีมคือเขียวและทอง ที่แฟนบอลปีศาจแดงเข้าขั้นจะเรียกว่า ‘Green and Gold’ ส่วนแมนฯ ซิตี้ก่อตั้งทีมในอีก 2 ปีต่อมาในชื่อทีม ‘เซนต์มาร์กส์’ ซึ่งเป็นชื่อโบสถ์ที่อยู่ในเมือง โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้คนหนุ่มที่ไม่มีอะไรทำเพราะมีวิกฤตปัญหาการว่างงานสูง รวมถึงปัญหาสังคมรุมเร้า ทั้งเรื่องแก๊งอันธพาล ไปจนถึงคนติดเหล้า ได้ใช้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องช่วยนำทางในชีวิต
แต่กว่าที่สองทีมนี้จะได้เจอกันต้องรอถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 1881 โดยนิวตัน ฮีธ เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-0
หลังจากนั้นทั้งสองทีมต่างก็เดินตามเส้นทางของตัวเอง ซึ่งก็ถือว่าทั้งนิวตัน ฮีธ และเซนต์มาร์กส์ ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อาร์ดวิค’ (ตามย่านที่ทีมย้ายไปอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแมนเชสเตอร์) ในปี 1887 และกลายเป็นแมนฯ ซิตี้ในปี 1891 ต่างก็ทำผลงานกันได้ดี ครองความยิ่งใหญ่ในเมืองแมนเชสเตอร์ แล้วจึงค่อยๆ เติบโตขึ้นเข้าสู่ระบบฟุตบอลลีก กลายเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพ
เพียงแต่มีจุดตัดในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในฤดูกาล 1904/05 เมื่อแมนฯ ซิตี้ เกิดปัญหาเมื่อ บิลลี เมเรดิธ ดาวดังของทีมถูกจับได้ว่าล้มบอล และทีมก็ถูกจับได้ว่าทำผิดกฎค่าจ้างที่ในสมัยนั้นห้ามไม่ให้จ่ายค่าเหนื่อยเกิน 4 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ผลจากการกระทำผิดทำให้นอกจาก ทอม มาลีย์ ผู้จัดการทีมจะโดนลงโทษแบนตลอดชีวิต นักเตะอีก 17 คนยังถูกห้ามไม่ให้เล่นให้แมนฯ ซิตี้อีกต่อไป
แล้วนักฟุตบอลทั้ง 17 คนจะทำอย่างไร? ในสมัยนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือการเปิดประมูลนักฟุตบอลซึ่งจัดที่โรงแรมควีนในเมืองแมนเชสเตอร์ โดยฝ่ายนิวตัน ฮีธ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นแมนฯ ยูไนเต็ด จัดการสอยนักเตะดีๆ ของแมนฯ ซิตี้ไปเพียบ รวมถึงเมเรดิธ ที่กลายเป็นกำลังสำคัญช่วยให้ปีศาจแดงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ครั้งแรกในปี 1908, เอฟเอคัพในปี 1909 และแชมป์ลีกสมัยที่ 2 ในปี 1911
เหตุการณ์นี้หากอ่านดูจะรู้สึกว่าควรจะไม่ถูกกัน แต่ชาวเมืองกลับมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชาวแมนคูเนียน (ชาวเมืองแมนเชสเตอร์) เสียอย่างนั้น!
และความรู้สึกทำนองนี้ก็ยังคงอยู่ โดยในสนามก็แข่งกันไป แต่เมื่อไรที่ทีมใดทีมหนึ่งมีปัญหา อีกทีมก็พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วย เช่น เมื่อครั้งที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดถูกระเบิดลงในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แมนฯ ซิตี้ก็แบ่งสนามเมนโรดให้ใช้จนกว่าจะซ่อมแซมสนามเสร็จในปี 1949
เพียงแต่หลังจากนั้นแมนฯ ยูไนเต็ด ก็เริ่มกลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่กว่า โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของ เซอร์แมตต์ บัสบี ตำนานผู้จัดการทีมผู้พาทีมคว้าแชมป์ลีกถึง 5 สมัย เป็นรองแชมป์ 7 สมัย ได้อีก 2 เอฟเอคัพ และสำคัญที่สุดคือการคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพได้เป็นทีมแรกของอังกฤษในปี 1968 ซึ่งเกิดขึ้น 10 ปีหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่มิวนิก ซึ่งคร่า 8 ชีวิตนักเตะในชุด ‘บัสบี เบบส์’ ไปในครั้งนั้น
แต่ในปีเดียวกับที่แมนฯ ยูไนเต็ดได้แชมป์ยุโรป ฤดูกาลนั้นพวกเขาแพ้ในลีกให้กับแมนฯ ซิตี้ ซึ่งเบียดลุ้นแชมป์กันอย่างดุเดือดจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล (ในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในอีก 44 ปีต่อมา ในวันสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2011/12) และสุดท้ายทีมสีฟ้าของแมนเชสเตอร์ก็ได้แชมป์ลีกไปครอง เมื่อแมนฯ ยูไนเต็ดพลาดพ่ายซันเดอร์แลนด์ในเกมสุดท้าย ส่วนแมนฯ ซิตี้บุกไปเอาชนะนิวคาสเซิล 4-3
และการเบียดแย่งแชมป์ในฤดูกาลนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปของสองทีมในใจชาวแมนคูเนียน
ในสนามผู้เล่นสองทีมต่างก็ใส่กันยับ โดยเฉพาะในยุคอดีตที่เล่นกันหนักหน่วงโหดกว่ายุคปัจจุบันมาก ขณะที่บนอัฒจันทร์แฟนบอลทั้งสองทีมต่างก็พร้อมฉะกันตลอดเวลา
เกิดการแบ่งสีแบ่งฝ่ายในชาวเมือง ใครไปโรงเรียนก็จะต้องเลือกแล้วว่าจะอยู่สีไหน? แมนฯ ซิตี้ หรือแมนฯ ยูไนเต็ด?
แมนฯ ซิตี้ยังฝากรอยแผลสุดช้ำให้ในฤดูกาล 1973/74 เมื่อพวกเขาส่งคู่ปรับร่วมเมืองลงไปสู่ดิวิชัน 2 ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล โดยที่เจ็บหนักคือคนที่ทำประตูให้แมนฯ ซิตี้วันนั้นคือ ‘ราชาสตั๊ดเหินหาว’ เดนิส ลอว์ ตำนานศูนย์หน้าโอลด์แทรฟฟอร์ดที่ย้ายมาอยู่อีกฟากของเมือง และเป็นคนยิงประตูด้วยการตอกส้นให้ทีมขึ้นนำ
ทุกคนจดจำว่าลอว์ซึ่งในเวลาต่อมายอมรับว่า “เป็นประตูที่ทำให้เขาเศร้าที่สุดชนิดไม่สามารถมีอะไรปลอบใจได้” และหลังยิงได้ก็ไม่ยอมเดินกลับมาลงเล่นอีก เป็นผู้ส่งแมนฯ ยูไนเต็ดตกชั้น แต่ในข้อเท็จจริงหลังประตูของลอว์เกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อแฟนบอลแมนฯ ซิตี้ที่สะใจกับประตูนี้กรูกันลงมาในสนามจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้ตัดสินต้องยกเลิกเกม ก่อนจะมีการตัดสินให้แมนฯ ซิตี้ยังเป็นผู้ชนะในเกมนี้ และในความเป็นจริงต่อให้ลอว์ไม่ยิง หรือแมนฯ ยูไนเต็ดชนะ 10-0 ก็ยังตกชั้นอยู่ดี เพราะแต้มน้อยกว่าคู่แข่งทีมอื่นที่หนีตกชั้นด้วยกัน
เพียงแต่หลังจากนั้นคือยุคสมัยของแมนฯ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะหลังการมาของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือชาวสกอตแลนด์ผู้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เปลี่ยนปีศาจแดงให้กลายเป็นทีมอันดับหนึ่งของอังกฤษ และเป็นช่วงที่แมนฯ ซิตี้เริ่มตกต่ำอย่างมาก
ชะตากรรมทั้งสองทีมต่างกันราวฟ้ากับเหว นับจากปี 1980-2012 แมนฯ ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยอันดับที่เหนือกว่าแมนฯ ซิตี้ถึง 31 จาก 32 ปี และในขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ดยิ่งใหญ่เกรียงไกรคับอังกฤษ แมนฯ ซิตี้ก็กลายสภาพเป็นทีมที่น่าเวทนา ถึงขั้นตกชั้นก็มี
และที่เจ็บปวดที่สุดคือในปีที่แมนฯ ยูไนเต็ด สร้างประวัติศาสตร์คว้า 3 แชมป์ใหญ่ในฤดูกาลเดียวคือ พรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก หรือที่เรียกกันว่า ‘เทรเบิลแชมป์’ มาครองได้ในฤดูกาล 1998/99 ในปีนั้นแมนฯ ซิตี้ตกชั้นไปเล่นอยู่ในระดับดิวิชัน 2 หรือลีกชั้น 3 ของอังกฤษ
เทรเบิลแชมป์นี่เองที่เป็นจุดสุดยอดในประวัติศาสตร์ของชาวแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะเป็นสุดยอดผลงานที่ไม่เคยมีทีมใดในอังกฤษทำได้มาก่อน และยังไม่มีทีมใดทำได้อีกนับจากนั้น
ตรงนี้เองจึงทำให้เกมนัดชิงเอฟเอคัพที่สองทีมจากแมนเชสเตอร์ต้องมาเจอกันเองมีเดิมพันที่สูงขึ้นกว่าปกติมาก เพราะแมนฯ ซิตี้ ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กำลังมีความหวังในการคั่วเทรเบิลแชมป์เหมือนกัน หลังจากที่ปาดหน้าอาร์เซนอลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบสบายๆ และยังมีโอกาสได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกหนแรก เมื่อเขี่ยเรอัล มาดริดแชมป์เก่าตกรอบ โดยคู่แข่งในนัดชิงอย่างอินเตอร์ มิลานก็ถูกมองว่าเป็นรองกว่ามาก
ยิ่งถ้าแมนฯ ซิตี้คว้าแชมป์เอฟเอคัพในคืนนี้ได้ ก็มีโอกาสที่พวกเขาอาจจะทาบประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของคู่ปรับร่วมเมือง ซึ่งเคยมองพวกเขาเป็นแค่ ‘เพื่อนบ้านจอมโวยวาย’
ดังนั้นถึงจะมีการออกตัวจากนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดหลายคนว่าพวกเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องการหยุดแมนฯ ซิตี้จากการคว้าเทรเบิลแชมป์ แต่ต้องการจะทำ ‘ดับเบิลแชมป์’ ของตัวเองหลังจากที่ได้ลีกคัพมาครองก่อนแล้วถ้วยหนึ่ง แต่ลึกๆ ในใจนักเตะเหล่านี้ก็รู้ดีว่ามันมีความหมายแค่ไหน
จริงอยู่ที่เวลานี้พวกเขาอาจจะสู้ไม่ได้ในเรื่องความสำเร็จในสนาม แต่หากแมนฯ ซิตี้จะอดคว้าเทรเบิลแชมป์ด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง มันจะเป็นความสะใจในแบบที่มีเฉพาะคนไม่ถูกกันเท่านั้นที่รู้
และในทางตรงข้ามฝั่ง ‘ซิตี้เซนส์’ ก็ย่อมสะใจเช่นกันหากพวกเขาคว้าแชมป์เอฟเอคัพและไปลุ้นเทรเบิลแชมป์ต่อ
ดังนั้นในคืนนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเกมชิงแชมป์ธรรมดา
แต่มันจะเป็นการข่มกันไปอีกนาน อาจจะหลายปีหรือหลายสิบปีว่า “แมนเชสเตอร์เป็นสีอะไร”
ระหว่างสีฟ้าหรือสีแดง?
อ้างอิง:
- https://www.bbc.co.uk/sport/extra/54dmnima93/blue-v-red-the-battle-for-manchester
- https://www.theguardian.com/football/2023/jun/02/narrative-overload-fa-cup-final-is-a-domestic-finale-ripe-with-storylines
- https://www.theguardian.com/football/2023/jun/02/manchester-derbies-five-of-the-most-meaningful-meetings-since-1894
- https://www.theguardian.com/football/blog/2023/jun/02/manchester-united-v-manchester-city-the-fa-cup-finals-key-tactical-battles