ปี 2022 เป็นปีที่เศรษฐกิจมาเลเซียโตเร็วสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ หลังจากที่อุปสงค์ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตไวที่สุดในเอเชียในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก Bank Negara Malaysia และ Department of Statistics แสดงให้เห็นว่า GDP ของมาเลเซียเพิ่มขึ้น 8.7% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 สอดคล้องกับความคาดหวังของทางการมาเลเซีย และผลสำรวจของ Bloomberg ก็แสดงผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียมีค่ามัธยฐานของการเติบโตอยู่ที่ 8.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2022 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวดีกว่าคาดที่ 7% หนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ราว 2.6% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยลงของรัฐบาล
การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียอาจจะชะลอตัวลงเหลือ 4% ในปีนี้ และอาจจะหลุดออกจากกลุ่ม 13 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจเติบโตสูง จากการติดตามข้อมูลของ Bloomberg
ขณะที่นโยบายแจกเงิน รวมถึงให้อาหารและเชื้อเพลิงอุดหนุน จะช่วยรักษาระดับอุปสงค์ให้อยู่แค่เท่ากับปีก่อนเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแค่ 1% แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลง
การส่งออกในเดือนธันวาคมเติบโตเกือบ 6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้และชะลอตัวลงอย่างมาก หลังจากตัวเลขที่ขยายตัวเป็นสองหลักติดต่อกัน 16 เดือน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในระดับปานกลางในปีนี้ แต่รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า โดยอุปสงค์ในประเทศจะยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในปี 2023 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซียมาอย่างยาวนานถึง 14 ปีติดต่อกัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จาก RHB Bank เผยว่า การส่งออกที่ชะลอตัวลงตามความต้องการทั่วโลกที่ลดลง อาจถูกลดทอนบางส่วนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น
หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียเพิ่มการกู้ยืม 4 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อปีที่แล้วเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ตอนนี้รัฐบาลกำลังเปลี่ยนเป้าหมายไปเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ลง
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตรียมเปิดเผยแผนการใช้จ่ายใหม่สำหรับปี 2023 ในอีกสองสัปดาห์ ซึ่งอาจรวมถึงการประมาณการเศรษฐกิจใหม่ และการมุ่งเน้นระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: