×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

เตรียมเพิ่มฟรีโฟลท! MAKRO จ่อขายหุ้นเพิ่มทุน 2.27 พันล้านหุ้น จัดสรรผู้ลงทุนรายย่อยแบบ Small Lot First ผ่าน 3 ช่องทางออนไลน์

18.11.2021
  • LOADING...
MAKRO

หลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อมุมัติไฟลิ่งการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ MAKRO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง MAKRO ก็เริ่มเดินหน้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 2,270 ล้านหุ้นทันที โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XB วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เพื่อกำหนดอัตราจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ส่วนนักลงทุนรายย่อยจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ผ่านช่องทางออนไลน์ SCB, BBL และ TrueMoney Wallet

 

วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย หุ้น บมจ.สยามแม็คโคร หรือ MAKRO เปิดเผยว่า หลังจาก MAKRO ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) จำนวนไม่เกิน 2,270 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อย

 

การเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็นไม่ต่ำกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัท

 

อีกทั้งส่งผลให้หุ้นของบริษัทเป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงมีโอกาสได้รับเลือกเข้าสู่การคำนวณในดัชนีที่สำคัญต่างๆ โดย MAKRO จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงนำไปชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการต่อไป

 

ความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน มีดังนี้ 

  1. สำหรับผู้จองซื้อรายย่อย จะจัดสรรหุ้นด้วยวิธี Small Lot First ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด (SETTRADE) โดยจองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น (Selling Agents) 3 ราย ได้แก่ 1. แอปพลิเคชัน SCB Easy 2. แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking และ 3. แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet 

 

ส่วนช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนนั้น เบื้องต้นจะแจ้งให้ทราบหลังจากได้รับอนุมัติแบบคำขอเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับแล้ว

 

  1. สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO, บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ที่จะได้รับการจัดสรรหุ้นบางส่วนจากหุ้นสามัญของบริษัททั้งหมดที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) ได้กำหนดให้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XB วันแรก 

 

ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ซื้อหุ้นสามัญของ MAKRO และ CPALL และ CPF ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป จะไม่ได้รับสิทธิ์จองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO ที่เสนอขายในครั้งนี้ และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 จะเป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเดิม (Record Date) ของ MAKRO CPALL และ CPF ที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น

 

โดยได้กำหนดอัตราส่วนการใช้สิทธิ์ (Ratio) จองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO ที่มีการกำหนดไว้ ดังนี้ 

 

  1. ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญของ MAKRO ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย 

 

  1. ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPALL ในอัตราส่วน 15 หุ้นสามัญของ CPALL ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย 

 

  1. ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPF ในอัตราส่วน 70 หุ้นสามัญของ CPF ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย

 

ด้าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO สามารถจองซื้อผ่านตัวแทนรับจองซื้อหุ้น (Subscription Agents) 2 ราย ได้แก่ การจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy และแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking 

 

หรือในกรณีที่ไม่สะดวกจองซื้อผ่านช่องแอปพลิเคชันดังกล่าวข้างต้น ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถจองซื้อได้ที่สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขาทั่วประเทศไทย โดยสามารถจองซื้อตามสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรร หรือเกินกว่าสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรร โดยไม่กำหนดจำนวนจองซื้อสูงสุดของการจองซื้อหุ้นเกินกว่าสิทธิ์ที่ได้รับการจัดสรร) หรือน้อยกว่าสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรรก็ได้

 

ทั้งนี้การจัดสรรหุ้น จะจัดสรรด้วยระบบของ SETTRADE ตามสิทธิ์ที่ได้รับแก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายที่จองซื้อในรอบแรก โดยสิทธิ์ในการได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเกินกว่าสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 บริษัทแต่ละราย จะคำนวณจากการนำสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 3 บริษัทที่แสดงความจำนงจองซื้อเกินกว่าสิทธิ์ที่ยังได้รับการจัดสรรไม่ครบในแต่ละรอบมารวมกัน และจะจัดสรรเพิ่มแก่ผู้จองซื้อเกินกว่าสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นเดิมใน MAKRO CPALL และ CPF จนกว่าหุ้นจะหมดหรือครบตามจำนวนที่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิ์จองซื้อ ทั้งนี้จะเป็นไปตามรายละเอียดตามที่เปิดเผยในไฟลิ่ง

 

ส่วนกรณีที่ผู้จองซื้อหุ้นรายเดียวกันยื่นใบจองซื้อมากกว่า 1 ใบ ระบบการจัดสรรของ SETTRADE จะรวมจำนวนหุ้นที่จองซื้อจากทุกใบจองเป็นยอดเดียว โดยผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิ์จองซื้อหุ้นสามัญ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรรทาง www.settrade.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

 

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ MAKRO กล่าวว่า หลังจากที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ MAKRO มีธุรกิจแบบครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจค้าส่งแบบ B2B (Business to Business หรือ การค้ากับผู้ประกอบการ) ธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือ การค้ากับผู้บริโภค) และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการขยายตลาดต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 MAKRO มีศูนย์จำหน่ายสินค้ารวม 145 สาขา ประกอบด้วย สาขาในไทย 138 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย (ภายใต้แบรนด์ LOTS Wholesale Solutions) จีน และเมียนมา และมีการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick.com Makro Application และ Makro Line Official Account

 

ส่วนกลุ่มโลตัสส์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านค้ารวม 2,164 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 222 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 192 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,750 แห่ง อีกทั้งกลุ่มโลตัสส์ยังเป็นผู้นำธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในไทยเมื่อพิจารณาจากศูนย์การค้าที่มีการบริหารพื้นที่เช่า 199 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 720,000 ตารางเมตร (ไม่รวมศูนย์การค้าที่ลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) รวม 23 แห่ง)

 

นอกจากนี้กลุ่มโลตัสส์ยังเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในประเทศมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจผ่าน Lotus’s Malaysia ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 16 แห่ง และบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า 57 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวมประมาณ 296,000 ตารางเมตร มีอัตราเช่าพื้นที่ร้อยละ 92

 

“มั่นใจว่าจากการรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จะเกิดการสร้างมูลค่าจากการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (Synergy) ช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในระบบหน่วยงานสนับสนุน (Back Office) โดยจะร่วมมือกันพัฒนาร้านค้าและช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ครบครัน (Omni-channel) ให้ครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียนที่ยังมีอัตราการเข้าถึงร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ในระดับต่ำ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) อินเดีย เป็นต้น ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ที่เป็นการผสมผสานระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (Offline and Online) ในกลุ่มสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค และความสามารถที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันในการจัดหาสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้า” สุชาดา กล่าว

 

ส่วนผลการดำเนินงานตามข้อมูลทางการเงินรวมเสมือนงวด 9 เดือนแรกปี 2564 ซึ่งรวมงบการเงินในอดีตของกลุ่มโลตัสส์หลังปรับปรุงรายการเกี่ยวกับการซื้อขายธุรกิจเทสโก้และธุรกรรมการจัดหาเงิน รวมถึงปรับปรุงรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมด การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด และธุรกรรมการรีไฟแนนซ์ บริษัทมีรายได้รวม 319,563 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,344 ล้านบาท 

 

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2563 MAKRO มีรายได้รวม 218,760 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 6,524 ล้านบาท ขณะที่ บจ.ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในกิจการโลตัสส์ในไทยและมาเลเซีย มีรายได้รวมเสมือน 211,107 ล้านบาท และกำไรรวมเสมือน 1,514 ล้านบาท ซึ่งกล่าวได้ว่าหลังจากการรับโอนกิจการ MAKRO จะกลายเป็นบริษัทที่มีรายได้รวมถึง 429,867 ล้านบาท

 

การที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์เป็นการปรับโฉมทางธุรกิจ โดยมีตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) และกลยุทธ์ที่โดดเด่น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพและโอกาสการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงยกระดับเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อพิจารณาจากยอดขายค้าปลีกในปี 2563 อยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย MAKRO ถือเป็นผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่อันดับ 2 ในทวีปเอเชียเมื่อพิจารณาจากยอดขายปี 2563 ขณะที่กลุ่มโลตัสส์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ ที่มีร้านค้าหลากหลายรูปแบบอยู่ทั่วประเทศ และเป็นผู้ประกอบการชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าของบริษัทในประเทศไทยและมาเลเซีย

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising