×

Low Carbon Tourism เทรนด์การเที่ยวของคนรักษ์โลก เมื่อทุกรอยเท้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

08.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • จากการประมาณการของ อรูนิมา มาลิค นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์และเพื่อนร่วมงานของเขา พบว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ 4.5 กิกะตัน หรือราวๆ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี คิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบติดจรวด จากเดิม 3.9 กิกะตันสู่ 4.5 กิกะตันในปี 2013 และถึง 6.5 กิกะตันในปี 2025
  • Low Carbon Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีใจความสำคัญว่า ‘เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้น้อยที่สุด’
  • สำหรับประเทศไทยมีโครงการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอยู่หลายพื้นที่ เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือบริเวณหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด โดยเฉพาะเกาะหมาก ซึ่งประกาศธรรมนูญ 8 ข้อเพื่อผลักดันให้ตนกลายเป็นเกาะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุดในประเทศ

คุณคิดว่าทุกกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไร จากการประมาณการของ อรูนิมา มาลิค นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์และเพื่อนร่วมงานของเขา คำตอบคือ 4.5 กิกะตัน หรือราวๆ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี คิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบติดจรวด จากเดิม 3.9 กิกะตันสู่ 4.5 กิกะตันในปี 2013 และถึง 6.5 กิกะตัน ในปี 2025 โอ้ว! แค่นิสัยชอบเที่ยวของมนุษย์ทำไมโหดร้ายต่อโลกเหลือเกิน แต่จะให้นอนอยู่บ้านเฉยๆ ชีวิตก็แลจะเหี่ยวเฉาไปนิด หรือจะให้เดินทางแบบตัวเปล่าเล่าเปลือยติดเกาะเหมือนทอม แฮงส์ ในหนังเรื่อง Cast Away ก็ดูรันทดเกินไป

 

THE STANDARD พาคุณไปรู้จัก Low Carbon Tourism วิถีท่องเที่ยวอีกหนึ่งรูปแบบซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำและรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

 

รอยเท้าคาร์บอน ร่องรอยการมีอยู่ของมนุษย์นักปล่อยก๊าซ

Low Carbon Tourism เกี่ยวกับอะไรกับ Carbon Footprint ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าทุกกิจกรรมของมนุษย์ล้วนปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าคุณจะกิน วิ่ง เดิน นั่ง หรือแค่นอนเฉยๆ ไม่ขยับร่าง กระบวนการสันดาปในร่างกายก็ยังผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอยู่ดี Carbon Footprint (CF) หรือ รอยเท้าคาร์บอน เป็นค่าทางวิทยาศาสตร์ที่คำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศ โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าผ่านการวัดผลทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็อย่างเช่นไอเสียจากท่อรถยนต์ ส่วนทางอ้อมวัดได้จากปริมาณก๊าซซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ เช่น เรากินขนม 1 ห่อ กว่าจะได้ขนมที่กินนั้น กระบวนการผลิตปลดปล่อยก๊าซเท่าไรก็นำตัวเลขตรงนี้มาคำนวณด้วย

 

เมื่อเข้าใจว่า Carbon Footprint คืออะไร เราจะเห็นภาพเลยว่าทุกครั้งที่ปักหมุดเดินทางไปไหนต่อไหนก็แล้วแต่ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกไม่มากก็น้อย ท่องเที่ยว 1 ครั้ง แน่นอนว่าต้องมีที่พัก ในห้องพักมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวก มียวดยานพาหนะไว้เดินทาง ถ้าเป็นรถยนต์ ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยก็น้อยหน่อย ถ้าเป็นเครื่องบิน ค่าคาร์บอนก็จะสูงลิบพอๆ กับเพดานบินบนท้องฟ้าเลยทีเดียว การโดยสารเครื่องบิน 1 ครั้ง ประมาณค่าเทียบเท่ารถยนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอด 1 ปี คิดดูสิว่ายามนี้โลกของเราบินวันละกี่พันเที่ยวบิน มากมายนับไม่ถ้วน หวังหม่ำมื้ออร่อยสักมื้อก็ต้องผ่านกรรมวิธีปรุงด้วยเครื่องมือทันสมัย หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส เตาอบ ฯลฯ ไหนจะวัตถุดิบชั้นเลิศที่ผ่านการนำเข้าและเพาะเลี้ยงโดยเทคโนโลยีอีก

 

ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้งจึงก่อให้เกิด Carbon Footprint มหาศาลเกินคาดเดา เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนเยอะเกินการควบคุมจากธรรมชาติ ก๊าซพวกนี้ก็จะทำลายชั้นบรรยากาศ ปล่อยให้แสงอาทิตย์สาดส่องพื้นผิวโลกโดยง่าย และทำหน้าที่กักเก็บความร้อนไม่ให้สะท้อนกลับออกไป โลกเราเลยร้อนระอุคล้ายเตาอบที่ไม่มีอากาศถ่ายเท อุณหภูมิในโลกจึงสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น สัตว์ป่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ปะการังฟอกขาวหลายแสนตัว และอีกสารพันปัญหาเกี่ยวเนื่อง อะไรจะลุกลามใหญ่โตขนาดนั้น แต่ทั้งหมดคือเรื่องจริงและเป็นเพียงแง่มุมเดียวของปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าลืมว่าโลกเรายังมีประเด็นอื่นอีกเพียบ

 

 

รักษ์โลกด้วยการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)

เห็นปัญหารวมๆ ไปแล้วกลับมาสู่ประเด็นหลักของเรื่อง Low Carbon Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีใจความสำคัญว่า ‘เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้น้อยที่สุด’ การเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำจึงดูละม้ายคล้ายคลึงกับการเที่ยวแนวอนุรักษ์อยู่กลายๆ เที่ยวอย่างไรจึงจะได้รับความสะดวกสบาย สนุกสนาน ทว่าปลดปล่อยคาร์บอนแต่น้อย ลักษณะของการเที่ยวจึงเป็นการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะควบคู่ไปกับการใช้จักรยานในการพาไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน เลือกพักในโรงแรมที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เน้นการท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เที่ยวแบบลึกซึ้งกับคนท้องถิ่น ละเลียดไปกับคุณค่าของวิถีชีวิตของชุมชนอย่างใกล้ชิด จะว่าไปแคมเปญ Go Local ของ ททท. ก็มีความคล้ายอยู่หลายส่วน

 

ในต่างแดนมีหลายประเทศเริ่มรณรงค์ให้เที่ยวแบบ Low Carbon ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เม็กซิโก ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่ต่างกันออกไป แต่มีใจความสำคัญเดียวกันคือเที่ยวอย่างไรก็ได้ แต่ให้ลดการปล่อยปริมาณก๊าซให้ได้มากที่สุด สำหรับประเทศไทยมีโครงการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอยู่หลายพื้นที่ เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือบริเวณหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด ที่ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันวิจัย กิจกรรมหลักได้แก่ ปั่นจักรยานและพายเรือคายักที่เกาะหมาก, ปล่อยลูกเต่าลงทะเลที่เกาะขาม, ปลูกปะการังที่เกาะหวาย, ทำกิจกรรม Seed Bomb, ยิงเมล็ดพืชปลูกป่า, เล่นน้ำตกที่เกาะกูด และรับประทานอาหาร Low Carbon Menu เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งที่ผ่านมาทาง อพท. ได้เก็บผลการปล่อยคาร์บอน และพบว่าในทริปนั้นสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 56% เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติในพื้นที่

 

 

เปิดธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อ

นอกจากแรงความพยายามผลักดันของ อพท. เอง ทางชุมชนก็สนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากธรรมนูญ 8 ข้อของเกาะหมาก จังหวัดตราด เพื่อผลักดันให้ที่นี่กลายสถานที่ท่องเที่ยวปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดในประเทศไทย

 

นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า “การท่องเที่ยวบนเกาะหมากมีการเติบโตและอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนที่เข้ามาสร้างที่พักและนำเสนอกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เช่น เจ็ตสกี การเปิดสถานบันเทิง ฯลฯ จุดนี้เองที่ชาวบ้านและชุมชนบนเกาะหมากซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของทรัพยากรต้องมาทบทวนและทำความเข้าใจร่วมกัน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำ ‘ธรรมนูญเกาะหมาก’ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของฝ่ายชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว”

 

ธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อ ประกอบไปด้วย

  1. ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รีนำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก
  2. รถจักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกิน 70% ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก
  3. ไม่สนับสนุนการใช้วัสดุจากโฟมหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใส่อาหาร
  4. ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และของเหลือรับประทานลงในที่สาธารณะและแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด
  5. ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง
  6. ห้ามส่งเสียงดัง กระทำการรบกวน หรือเป็นการเดือดร้อนในเวลา 22.00-07.00 น.
  7. ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน
  8. ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ

 

เที่ยวเองไม่ง้อทัวร์ก็ทำได้

จริงๆ การเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism ไม่จำเป็นต้องรอให้คนจัดทัวร์หรือมีโปรเจกต์พิเศษจากภาครัฐ เพราะเราสามารถเที่ยวได้ง่ายๆ ด้วยการวางแผนเที่ยวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จากขับรถเองก็เลือกโดยสารรถสาธารณะ จากนอนโรงแรมหรูก็เปลี่ยนมาพักโฮมสเตย์ หรือเลือกที่พักที่มีระบบการจัดการเอื้อต่อธรรมชาติ กินอาหารรสอร่อยที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่น และหากเป็นไปได้ ในหนึ่งทริปก็สมควรมีกิจกรรมรักษ์โลกที่ชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนของเรา เช่น กิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ เป็นอาทิ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI

วิธีเที่ยวง่ายๆ ของคนไม่เอาถ่าน

  • หยิบแต่ของจำเป็นใส่กระเป๋า
  • เลี่ยงบริการซักรีดแบบรายชิ้น
  • ใช้น้ำอย่างประหยัด
  • ลดการใช้พลาสติกและหันมาใช้ถุงผ้า
  • ดูแลที่พักดุจบ้านตนเอง
  • ใช้บริการขนส่งสาธารณะ
  • ซื้อของฝากที่เป็นวิธีการผลิตสีเขียว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising