×

เงินเยนร่วงแตะระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าต่อเนื่องยาวนานสุดในรอบ 50 ปี ด้าน BOJ ยังทุ่มซื้อบอนด์แบบไม่อั้น

20.04.2022
  • LOADING...
เงินเยน

สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี และเป็นการอ่อนค่าลงติดต่อกัน 14 วัน ซึ่งเป็นสถิติการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องที่ยาวนานสุดในรอบ 50 ปี สาเหตุหลักมาจากนักลงทุนกังวลส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังจากมีกระแสว่า Fed จะเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี ขณะที่ BOJ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินนโยบายกำหนดเป้าหมายบอนด์ยีลด์

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเป็นครั้งที่ 14 ติดต่อกัน ลดลง 0.3% มาอยู่ที่ 129.35 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักค้าเงินเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น 

 

ปัจจัยที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากมาจากการที่นักลงทุนให้ความสนใจเกี่ยวกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังมีกระแสคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ค่าเงินในญี่ปุ่นต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรืออาจจะเร็วกว่านั้น 

 

ชินสุเกะ คาจิตะ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของ Resona Holdings, Inc. ในโตเกียว กล่าวว่า โมเมนตัมขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์-เยน ดูเหมือนจะผ่านพ้นไม่ได้ในขณะนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผลตอบแทนบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นไปได้มากที่จะได้เห็นค่าเงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ตามคาดการณ์ของ Concensus

 

ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับพื้นฐานเพียง 3% ในวันนี้ (20 เมษายน) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.25% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตั้งไว้

 

ปัจจัยข้างต้นทำให้บรรดานักค้าเงินแห่ซื้อสกุลเงินดอลลาร์และเทขายเงินเยน โดยสัญญาณแรกที่ได้รับเกิดขึ้นเมื่อ เจมส์ บูลลาร์ด ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปี 2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ก่อนหน้านี้บูลลาร์ดกล่าวในการประชุมทางไกล ซึ่งจัดโดยสภาวิเทศสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป และมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ โดยเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่อัตราว่างงานซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 3.6% ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 3%

 

นักวิเคราะห์หลายราย ซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์จาก Daiwa Asset Management กล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายเงินเยนกันอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำต่อไป ซึ่งสวนทางกับ Fed ที่ต้องการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Brown Brothers Harriman & Co. กล่าวว่า ตราบใดที่ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Easy Monetary Policy) เงินเยนก็จะอ่อนค่าลงเรื่อยๆ และการเข้าแทรกแซงตลาดของ BOJ ก็แทบจะไม่ได้ผล

 

รายงานระบุว่า ทางการญี่ปุ่นได้เคยเข้าแทรกแซงตลาดครั้งหลังสุดด้วยการเทขายดอลลาร์และทุ่มซื้อเงินเยนในเดือนมิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย

 

ทางด้าน John Hardy หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ FX ที่ Saxo Bank ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แรงกดดันต่อค่าเงินเยนยังจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินอย่างจริงจัง หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคลายความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

 

BOJ เดินหน้าซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี หวังกำหนดเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 

ทางฝั่ง BOJ ได้เริ่มกลับมาซื้อพันธบัตรอีกครั้ง หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พุ่งสูงเกินเป้าหมายกรอบบนที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนว่า BOJ จะยังคงเน้นนโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ตรงกันข้ามกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานต่อประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า BOJ ยังคงย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษด้วยการซื้อพันธบัตรรอบใหม่แบบไม่จำกัด เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน

 

BOJ กล่าวว่า จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 0.25% เนื่องจากผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ยอมรับได้

 

การกลับมาซื้อครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเดือนเมษายน หลังจากที่ BOJ ได้ดำเนินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างไม่จำกัดเป็นเวลา 4 วัน ท่ามกลางปัญหาหนี้สินทั่วโลกในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

 

ขณะที่สถานการณ์ตลาดโลกนั้น การเทขายพันธบัตรทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3% ในวันนี้ (20 เมษายน) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561

 

การเคลื่อนไหวเชิงรุกเพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนของญี่ปุ่นได้ส่งผลให้เงินไหลเข้าสู่ตลาดเงินเยน โดยการซื้อขายเงินเยนอยู่ใกล้ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ 

 

“อัตราผลตอบแทนสูงสุด 10 ปีที่ BOJ กำหนดไว้ที่ 0.25% ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขายเงินเยน” จุน คาโต้ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของ Shinkin Asset Management Co. ในโตเกียวกล่าว และเสริมว่า นักค้าเงินบางรายคาดว่า BOJ จะดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งทำให้เข้าใจได้ชัดขึ้นว่าทำไมวันนี้ (20 เมษายน) เงินเยนจึงขยับแข็งค่าขึ้น (ในช่วงสายๆ) จากที่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในช่วงเช้า

 

ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นและกระตุ้นให้ธนาคารกลางประเทศนั้นๆ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฝั่ง BOJ กลับมีความมุ่งมั่นในการผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดย BOJ ไม่ยอมถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ เลย จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising