×

ทำไมถึงซื้อกลับบ้านไม่ได้ ศบค. ต้องวางแผนมาตรการร้านอาหารในระยะยาว

06.08.2021
  • LOADING...
ร้านอาหาร

HIGHLIGHTS

  • เหมือนเป็นมาตรการที่พบกันครึ่งทางระหว่าง ศบค. กับผู้ประกอบการร้านอาหารในห้าง ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัดที่ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2564 ส่วนผู้ประกอบการในอีก 16 จังหวัดที่ถูกยกระดับใหม่ระหว่างวันที่ 3-31 สิงหาคมก็ถูกสั่งปิดเพิ่ม แต่ยังแง้มช่องทางขายผ่านระบบฟู้ดเดลิเวอรี ไม่ได้ปิดสนิทเหมือนรอบก่อนหน้า 
  • รอบก่อน ศบค. ไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงสั่งปิดร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ‘ในห้าง’ จนผ่านมาถึง 2 สัปดาห์ รอบนี้ ศบค. ได้อธิบายในข้อกำหนดฯ ว่า “เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคน” ในขณะที่ร้านอาหาร ‘นอกห้าง’ สามารถสั่งแบบกลับบ้านโดยตรงได้ด้วย ถึงแม้จะห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเหมือนกันก็ตาม แล้วความแตกต่างเพียงเท่านี้จะคุ้มค่ากับการควบคุมโรคหรือไม่

หลังจากที่ต้องปิดไป 2 สัปดาห์ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้าก็สามารถกลับมาเปิดได้ใหม่อีกครั้ง แต่ ศบค. อนุญาตเฉพาะการสั่งอาหารผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น ส่วนการเปิดหน้าร้านเพื่อนั่งรับประทาน หรือแม้แต่การสั่งอาหารเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้าน (Take Away) ยังไม่สามารถทำได้ภายใต้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 30

 

เหมือนเป็นมาตรการที่พบกันครึ่งทางระหว่าง ศบค. กับผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัดที่ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2564 ส่วนผู้ประกอบการในอีก 16 จังหวัดที่ถูกยกระดับใหม่ระหว่างวันที่ 3-31 สิงหาคมก็ถูกสั่งปิดเพิ่ม แต่ยังแง้มช่องทางขายผ่านระบบฟู้ดเดลิเวอรี ไม่ได้ปิดสนิทเหมือนรอบก่อนหน้า 

 

โดยรอบนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้หารือร่วมกับสมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมภัตตาคารไทย เพื่อเสนอแนวทางการผ่อนปรนต่อภาครัฐ ซึ่ง ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการกว่า 40,000 ราย และครอบคลุมจำนวนแรงงานกว่า 400,000 ราย (คิดเป็นประชากรของจังหวัดระนอง ซึ่งมีประชากรน้อยที่สุดในประเทศมากถึง 2 เท่าเลยทีเดียว)

 

มาตรการในร้านอาหารที่ผ่านมา

 

นับตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่ เมษายน 2564 ร้านอาหารในกรุงเทพฯ ถูกสั่งปิดหน้าร้านรวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน โดยก่อนหน้านี้มีทั้งมาตรการจำกัดเวลาเปิด-ปิด อย่างข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 (18-30 เมษายน) ให้นั่งรับประทานอาหารในร้านไม่เกินเวลา 21.00 น. แต่จำหน่ายแบบให้ซื้อกลับบ้านได้ถึงเวลา 23.00 น. และมาตรการห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านมาโดยตลอด

 

ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 23 (17 พฤษภาคม ถึง 20 มิถุนายน) และฉบับที่ 24 (21-27 มิถุนายน) เคยผ่อนปรนให้กลับมานั่งในร้านไม่เกินเวลา 21.00 น. และ 23.00 น. ซึ่งทั้ง 2 ฉบับมีมาตรการจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านร่วมด้วย โดยฉบับที่ 23 จำกัดไม่เกิน 25% ของจำนวนที่นั่งปกติ ส่วนฉบับที่ 24 จำกัดไม่เกิน 50% เฉพาะการนั่งในห้องปรับอากาศ (สังเกตว่า ศบค. ประเมินว่าห้องปรับอากาศเสี่ยงมากกว่า)

 

ต่อมามีการระบาดระลอกที่ 4 จากสายพันธุ์เดลตา ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25 (28 มิถุนายน ถึง 11 กรกฎาคม) ห้ามนั่งในร้านอีกรอบ พร้อมกับการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่วนข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 (21 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม) เป็นฉบับแรกที่มีการแยกมาตรการร้านอาหารใน-นอกห้างออกจากกัน โดยห้างเปิดได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตและแผนกยาเท่านั้น ส่วนร้านอาหารนอกห้างห้ามนั่งในร้านและสั่งกลับบ้านได้

 

ทั้งนี้ วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 30 อธิบดีกรมอนามัยชี้แจงว่า ถ้าห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าสามารถจัดระบบขายอาหารแบบไม่สัมผัสกับผู้บริโภค โดยอาจมีระบบเดลิเวอรีเอง เช่น สั่งออนไลน์หรือโทรศัพท์ และจัดจุดให้ผู้บริโภครับอาหารที่ไม่ต้องไปรอแออัดหน้าร้าน ก็ ‘สามารถ’ ทำได้ แต่ในวันถัดมาที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กกลับยืนยันว่า ‘ไม่สามารถ’ ซื้อหน้าร้านได้ 

 

ความเสี่ยงในร้านอาหาร

 

รอบก่อน ศบค. ไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงสั่งปิดร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ‘ในห้าง’ จนผ่านมาถึง 2 สัปดาห์ รอบนี้ ศบค. ได้อธิบายในข้อกำหนดฯ ว่า “เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคน” ในขณะที่ร้านอาหาร ‘นอกห้าง’ สามารถสั่งแบบกลับบ้านโดยตรงได้ด้วย ถึงแม้จะห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเหมือนกันก็ตาม แล้วความแตกต่างเพียงเท่านี้จะคุ้มค่ากับการควบคุมโรคหรือไม่

 

หากวิเคราะห์ความเสี่ยงในร้านอาหารจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ส่วนหน้าร้าน ลูกค้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ถ้านั่งโต๊ะเดียวกันกับผู้ติดเชื้อจะแพร่ระบาดในโต๊ะนั้น (แต่ปกติผู้ที่นั่งโต๊ะเดียวกันจะมีความเสี่ยงจากการอาศัยอยู่ด้วยกัน เช่น ครอบครัวเดียวกัน หรือทำงานที่เดียวกันอยู่แล้ว) ส่วนถ้านั่งแยกโต๊ะ ในร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศเคยมีรายงานในต่างประเทศว่าติดจากโต๊ะข้างกันได้

 

เมื่อห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านจะเหลือความเสี่ยงตอนนั่งรออาหารกลับบ้านและตอนรับส่งของ เช่น ลูกค้าหรือไรเดอร์นั่งรอบริเวณหน้าร้าน แต่ถ้าทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและมีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดจะ ‘ต่ำ’ ส่วนตอนรับส่งของใช้เวลาสั้นมากหรืออาจวางตรงจุดรับส่งของไม่ได้ใกล้ชิดกัน และทั้ง 2 ฝ่ายต่างสวมหน้ากากด้วยกันทั้งคู่ ความเสี่ยงก็จะ ‘ต่ำ’ เช่นกัน

 

2. ส่วนหลังร้าน เป็นพื้นที่ทำงานของพนักงาน อาจมีการแพร่ระบาดระหว่างพนักงานด้วยกันระหว่างทำงานหรือระหว่างช่วงพัก เช่น พักรับประทานอาหาร และอาจมีการแพร่ระบาดนอกเวลางาน เช่น พนักงานบางคนอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งลักษณะการแพร่ระบาดน่าจะเหมือนกับในสถานที่ทำงานอื่น การป้องกันยังเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการระบายอากาศ/เครื่องกรองอากาศ

 

ถ้าให้ผมสันนิษฐาน ‘การปิดหน้าร้าน’ เป็นการลดการเดินทางออกจากบ้าน ซึ่งก็คือแนวคิดของการล็อกดาวน์ โดยในทางทฤษฎีมาตรการนี้จะลดความถี่ในการสัมผัสกันระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ทำให้ลดค่า R หรือลดการแพร่ระบาดในชุมชนลงได้ และ ศบค. อาจประเมินว่าห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์มีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท 

 

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการเดินเลือกซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายยา ซึ่ง ศบค. อนุญาตให้เปิดได้เพราะมีความจำเป็น หรือการรับอาหารจากไรเดอร์ในกรณีที่ออกจากบ้านไปซื้อของอยู่แล้วน่าจะมีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน คือ ‘ต่ำ’ ด้วยกันทั้งหมด เพราะไม่มีช่วงเวลาที่ถอดหน้ากากอนามัยออกเหมือนนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือในสถานบันเทิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 3

 

นอกจากนี้ยังมีผู้เปรียบเทียบการยืนรออาหารในร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นสถานที่ปรับอากาศเหมือนกันว่าไม่ได้แตกต่างกันเลย ดังนั้นระหว่างการสั่งแบบกลับบ้านโดยตรงร่วมด้วยกับการลดเหลือแต่แบบเดลิเวอรีอย่างเดียวจึงไม่น่าจะมี ‘ผลดี’ ในการควบคุมโรคเพิ่มขึ้น แต่กลับมี ‘ผลเสีย’ ในด้านเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งผู้ประกอบการที่มีรายได้ลดลงหรือไม่คุ้มค่าที่จะกลับมาเปิด และทั้งพนักงานบางส่วนที่ยังตกงานอยู่

 

มาตรการปัจจุบันและการปรับตัว

 

แนวทางมาตรการผ่อนปรนเปิดร้านอาหารในรูปแบบฟู้ดเดลิเวอรี เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมภัตตาคารไทย จะแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ และพนักงานรับส่งอาหารแบบออนไลน์ กล่าวคือ

 

  • ผู้ประกอบการ จัดทำมาตรการ DMHTemp สำหรับพนักงานทุกคน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรวมกลุ่มหรือรับประทานอาหารร่วมกัน ห้ามเปิดหน้าร้าน กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสติดเชื้อต้องหยุดงานทันที
  • ห้างสรรพสินค้า จัดให้มีระบบคัดกรองและลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าพื้นที่ จัดระบบคิวและกำหนดบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และต้องมีการกำกับดูแลให้มีการดำเนินตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
  • พนักงานรับส่งอาหาร เน้นย้ำมาตรการ DMH สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์ รอรับอาหาร ณ จุดรับส่งเท่านั้น กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสติดเชื้อต้องหยุดงานทันที

 

ผมเห็นว่ามาตรการเหล่านี้มีความเหมาะสม ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำมาก่อนหน้านี้ หรือผู้ประกอบการได้ปฏิบัติอยู่ก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์แล้ว แต่ขอเสริมว่าควรมีมาตรการ T-Test คือการตรวจหาเชื้อในพนักงานร้านอาหารด้วยชุดตรวจ ATK เป็นประจำ เพื่อตรวจจับการระบาดในส่วนของหลังร้านได้รวดเร็ว ซึ่งอาจรวมไปถึงพนักงานรับส่งอาหารด้วย

 

โดยสรุปร้านอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะภายในห้างเป็นกิจการที่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการแทบทุกรอบที่มีการประกาศข้อกำหนดฯ ใหม่ การงดนั่งในร้านน่าจะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดลงได้มากแล้ว ทั้งลดการแพร่เชื้อภายในร้านและลดการเดินทางออกจากบ้าน ในขณะที่การงดการสั่งอาหารแบบกลับบ้านโดยตรง เหลือแต่แบบเดลิเวอรีอย่างเดียวน่าจะไม่ได้มีผลต่อการควบคุมโรคมากนัก

 

ศบค. น่าจะทบทวนมาตรการนี้ให้ลูกค้าสามารถซื้ออาหารจากหน้าร้านได้ โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา มีระบบคิวออนไลน์และมีการจัดพื้นที่รอไม่ให้แออัด ที่สำคัญ ศบค. ควรประเมินผลดี-เสียของมาตรการในร้านอาหารที่ผ่านมา เพื่อให้มีหลักฐานสนับสนุนการตัดสินใจในอนาคต ซึ่งควรออกมาเป็นระดับความเข้มข้นของมาตรการที่ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวได้ก่อนล่วงหน้า

 

และถ้ามาตรการนั้นสามารถจำแนกประเภทของร้านอาหารตามระดับความเสี่ยงได้ละเอียดกว่าใน-นอกห้าง เช่น แบ่งเป็นร้านที่ตั้งอยู่นอกอาคาร (Outdoor) ร้านที่ตั้งอยู่ในอาคารแต่มีอากาศถ่ายเทสะดวก กับร้านที่เป็นห้องปรับอากาศ จะทำให้การผ่อนปรนมาตรการมีความเฉพาะเจาะจง และลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและพนักงานแบบเหมารวม ซึ่งถือเป็นการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโควิดในระยะยาว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising