×

พี่ขา…หนูเหงา จัดการความเหงาจากการทำงานอันโดดเดี่ยวอย่างไร

07.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • งานวิจัยของ Julianne Holt-Lunstad จาก Brigham Young University พบว่า ผลกระทบต่อชีวิตของความเหงามีค่าเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ซึ่งมีผลรุนแรงมากกว่าผลกระทบจากโรคอ้วนอีกนะครับ ไม่เพียงเท่านั้น งานวิจัยของ University of Pennsylvania และ Wharton School of Business ยังพบว่า ความเหงามีผลต่อความรู้สึกผูกพันต่อองค์กร ประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไปจนถึงการสูญเสียบุคลากรด้วย
  • ลองโทรหาหรือวิดีโอคอลหาคนที่เราไว้ใจที่สามารถระบายได้ ไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องงานอย่างเดียว คุยเรื่องอะไรก็ได้ การได้ยินเสียง ได้เห็นหน้าคนอื่นบ้าง ส่วนหนึ่งก็ช่วยให้เรารู้สึกไม่เหงาได้เหมือนกันครับ
  •  

 

  • ในแต่ละวันนอกจากจะมีการคุยเรื่องงานแล้ว ทีมควรมี Virtual Meeting ที่ไม่เกี่ยวกับงานเลยด้วยเพื่อรักษาความสัมพันธ์กันไว้ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ระบาย ได้แบ่งปันความรู้สึกกัน อาจจะใช้เวลาก่อนการเริ่มงาน ซึ่งปกตินอกจากจะอัปเดต Work in Progress แล้ว ให้คุยกันเรื่องอื่นๆ ด้วย หรืออาจจะทานอาหารร่วมกันแบบ Virtual ก็ได้

 

 

Q: ช่วงนี้ยังทำงานจากที่บ้านอยู่ค่ะ หลายเดือนมานี้ทำงานที่บ้านมาตลอด รู้สึกเหงาจังค่ะ ต้องอยู่ในห้องคนเดียว ไม่ใช่ว่าว่างเลยเหงานะคะ ยังประชุม Virtual Meeting เจอหน้าเพื่อนที่ทำงานเป็นปกติ แต่ก็ยังรู้สึกเหงาที่ต้องอยู่คนเดียวตลอด จะทำอย่างไรดีคะ

A: ต้องบอกก่อนเลยว่าดีใจที่น้องรู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร แสดงว่ามีการทบทวนตัวเองในระดับหนึ่งจนจับได้แล้วว่ากำลังรู้สึกอะไร และยอมรับว่านี่คือสิ่งที่น้องรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่ทุกคนนะครับที่จะรู้ทันว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรอยู่ และไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับด้วยว่าตัวเองรู้สึกอะไร เพราะไปให้ความหมายว่าความรู้สึกแบบไหนเป็นเรื่องดี แบบไหนเป็นเรื่องไม่ดี ทุกความรู้สึกเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่เราจะต้องเรียนรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรเท่านั้นเองครับ ความเหงาที่น้องรู้สึกอยู่ก็เหมือนกัน



มีสองคำที่เหมือนจะคล้ายกันแต่จริงๆ แล้วต่างกันมากคือ Alone กับ Lonely โดยที่ Alone หรือการอยู่คนเดียวนั้นเป็นลักษณะทางกายภาพ เป็นการวัดทางปริมาณ ถ้าไม่มีใครอยู่ด้วยก็แปลว่าเราอยู่คนเดียว แต่ Lonely หรือความเหงา เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของเรา ไม่เกี่ยวกับว่าเราอยู่คนเดียวหรือไม่ เพราะบางครั้งต่อให้เรามีคนอยู่ด้วยก็สามารถรู้สึกเหงาได้อยู่ดี เพียงแต่ว่าตอนนี้เมื่อสถานการณ์บังคับให้เราต้องอยู่คนเดียวเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 จากเดิมที่เราเคยมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแบบเจอหน้ากันได้ปกติ พอต้องอยู่คนเดียวแบบนี้นานๆ เข้า ก็เป็นไปได้ครับว่าโอกาสที่เราจะมีความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้



ความเหงายังไม่เกี่ยวข้องกับความว่างหรือความยุ่งในงานที่เราทำ มันก็เป็นไปได้ที่พอเรายุ่งหรือเรามีอะไรทำอยู่เราจะไม่เหงาหรือไม่ทันปล่อยให้ตัวเองได้เหงา แต่ก็มีนะครับที่เรายุ่งมาก มีอะไรทำเต็มไปหมด แต่ในใจรู้สึกเดียวดาย ความเหงามันจึงเป็นความรู้สึกในใจที่ซับซ้อนมากไปกว่าการให้ทำอะไรเยอะๆ จะได้ไม่เหงา เพราะถ้าเขางานเยอะอยู่แล้วและก็เหงาอยู่ด้วย แต่ดันไปเพิ่มงานให้เขาอีก อันนี้ทั้งคนทั้งงานคงพังแน่ๆ



ความเหงามีผลกระทบกับชีวิตเรามากกว่าที่คิดนะครับ ทำให้เกิดความเครียด ความรู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง งานวิจัยของ Julianne Holt-Lunstad จาก Brigham Young University พบว่า ผลกระทบต่อชีวิตของความเหงามีค่าเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ซึ่งมีผลรุนแรงมากกว่าผลกระทบจากโรคอ้วนอีกนะครับ ไม่เพียงเท่านั้น งานวิจัยของ University of Pennsylvania และ Wharton School of Business ยังพบว่า ความเหงามีผลต่อความรู้สึกผูกพันต่อองค์กร ประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไปจนถึงการสูญเสียบุคลากรด้วย เพราะฉะนั้นความเหงาจึงเป็นประเด็นทางสุขภาพจิตที่ทั้งตัวเราและองค์กรไม่อาจมองข้ามได้



ความเหงาที่เกิดขึ้นตอนทำงานที่บ้านคนเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากการขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมีคุณภาพ ปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพหมายถึง การที่เราดำรงความสัมพันธ์ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์อยู่ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดในการทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพก็คือการให้ความสนใจกันและกัน การให้เวลา การให้ความรู้สึกว่าฉันอยู่ตรงนี้ ฉันอยู่กับเธอ เพื่อฟังเธอ เพราะเธอสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นสภาวะปกติที่ไม่ต้องมี Social Distancing ก็คือการมองตาแล้วตั้งใจฟังสิ่งที่อีกคนพูด คนฟังจะได้ความรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ เขาได้รับการสนใจ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราฟังเขาแต่มือยังกดโทรศัพท์ไปด้วยอยู่ ความรู้สึกมันจะต่างกัน เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นสภาวะตอนนี้ที่คนต้องมี Social Distancing การคุยกันแล้วเปิดกล้องให้เห็นหน้าและมองที่กล้องเหมือนมองตาคนฟัง การโทรศัพท์ไปพูดคุยแล้วตั้งใจฟังสิ่งที่อีกคนพูด การถามไถ่ทุกข์สุขกันและกันนอกจากเรื่องงาน ไปจนถึงการได้ทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน



ลองโทรหาหรือวิดีโอคอลหาคนที่เราไว้ใจที่สามารถระบายได้ ไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องงานอย่างเดียว คุยเรื่องอะไรก็ได้ การได้ยินเสียง ได้เห็นหน้าคนอื่นบ้าง ส่วนหนึ่งก็ช่วยให้เรารู้สึกไม่เหงาได้เหมือนกันครับ ในแต่ละวันนอกจากจะมีการคุยเรื่องงานแล้ว ทีมควรมี Virtual Meeting ที่ไม่เกี่ยวกับงานเลยด้วยเพื่อรักษาความสัมพันธ์กันไว้ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ระบาย ได้แบ่งปันความรู้สึกกัน อาจจะใช้เวลาก่อนการเริ่มงานซึ่งปกตินอกจากจะอัปเดต Work in Progress แล้ว ให้คุยกันเรื่องอื่นๆ ด้วย หรืออาจจะทานอาหารร่วมกันแบบ Virtual ก็ได้ แต่อย่างที่บอกครับว่าหัวใจของปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพคือ ช่วงเวลาที่เราอยู่ด้วยกันนั้น เราได้ให้ความสำคัญกับทุกคนแค่ไหน เราสังเกตเห็นความผิดปกติของแต่ละคนหรือเปล่า เราให้เขาพูดแต่เราตั้งใจฟังเขาไหม เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละครับที่มีผลต่อคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ที่เรามีให้กัน ให้ทำ Virtual Meeting แบบนี้เป็นประจำให้กลายเป็นความผูกพันของทีม



บางคนอาจจะรู้สึกว่างานเยอะอยู่แล้ว จะให้มาพูดคุยฮิฮะเฮฮากันที่ไม่ใช่เรื่องงานทำไมให้เสียเวลา ก็อยากให้ลองมองแบบนี้ครับว่า ถ้าเรามองว่างานสำคัญแล้ว เรามองเห็นความสำคัญของคนที่ทำเรื่องสำคัญร่วมกับเราหรือเปล่า เราใส่ใจคนที่อยู่ร่วมกับเราเหมือนที่เราใส่ใจงานไหม



ในเมื่อความเหงาส่วนหนึ่งเกิดจากการรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ ตัวเองถูกหลงลืมไป หัวหน้าเองอาจจะต้องคอยดูว่าเราได้มอบหน้าที่ที่สำคัญและมีความหมายกับลูกน้องอยู่หรือเปล่า เราได้ทำให้เขารู้ไหมว่างานที่ทำอยู่มีความสำคัญแค่ไหน ที่สำคัญ ยิ่งอยู่ห่างกันแบบนี้ สิ่งที่หัวหน้าต้องให้ลูกน้องก่อนเลยคือความไว้ใจ ไว้ใจว่าต่อให้อยู่ห่างกัน เราก็ให้เกียรติว่าลูกน้องจะมีความรับผิดชอบดูแลงานที่มอบหมายได้ ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้เขาทำหน้าที่ที่สำคัญเพราะไว้ใจว่าต้องเป็นเขาถึงจะทำหน้าที่นี้ได้ดี ถ้าเราทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเขามีความหมาย เขาไม่ได้ถูกละเลย เขาทำงานให้เราแล้ว เราได้ดูแลเขาด้วยหรือเปล่า เราได้ทำตัวให้เขารู้สึกว่าเมื่อมีปัญหาใดๆ เขาจะสามารถเปิดใจบอกเราได้หรือเปล่า ถ้าเราทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีความหมายอยู่ ความรู้สึกเหงาก็จะน้อยลง ยิ่งเวลานี้ผมคิดว่าทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอยู่ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เรายิ่งต้องดูแลกันและกันให้ดี



แต่ถ้ารู้สึกว่าความเหงาส่งผลกระทบกับชีวิตมากจริงๆ ผมอยากแนะนำว่าให้ปรึกษาจิตแพทย์น่าจะดีที่สุดครับ



ความเหงาบอกเราว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เราจะแข็งแกร่งที่สุดเมื่อเราเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดูแลกันและกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ผมคิดว่าความเหงาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้บอกเราแบบนั้นครับ และมันยิ่งท้าทายเรามากขึ้นเมื่อเรามีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกันได้เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรให้ข้อจำกัดด้านระยะทางมาทำให้ใครต้องรู้สึกว่าไม่มีความหมาย นี่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ดูแลกันและกันให้มากขึ้นด้วยซ้ำ



ถ้าเหงามาระบายทางนี้ได้นะครับ ยินดีมากๆ



ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X