ลอนดอน (London) เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร นับเป็นมหานครที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในหลากหลายมิติ ทั้งศูนย์กลางแฟชั่น เมืองแห่งกีฬาที่เต็มไปด้วยสนามกีฬาชื่อดังอย่าง Wembley, Emirates Stadium, Stamford Bridge และเป็นบ้านของเทนนิสวิมเบิลดัน การแข่งขันเทนนิสที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แต่อีกองค์ประกอบที่ทำให้ลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่หลายคนชื่นชอบคือ มหานครที่เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง โดยมีพิพิธภัณฑ์กว่า 170 แห่ง และส่วนใหญ่สามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่ British Museum ที่เป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุจากทั่วโลก Natural History Museum ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ ที่มีการจัดแสดงเกี่ยวกับพื้นดิน ก้อนหิน ธรรมชาติ สัตว์ชนิดต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่อไปถึงอวกาศและวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ของมนุษย์
โครงกระดูกวาฬสีน้ำเงิน ‘โฮป’ ความยาวกว่า 25 เมตร
ที่ทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้านในพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum
🎨Natural History Museum
สถานที่แรกที่เราได้ไปคือ Natural History Museum ที่ที่เราได้พบเห็นเยาวชนในประเทศอังกฤษเข้ามาหาความรู้และแรงบันดาลใจจากกิจกรรมต่างๆ ด้านในมีนิทรรศการแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่กระตุ้นให้ทุกคนเกิดการตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน
ด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum
หนึ่งในนิทรรศการที่น่าสนใจคือ ‘Our Broken Planet: How We Got Here and Ways to Fix It’ นิทรรศการที่นำเสนอปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยสิ้นเปลือง จากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความต้องการทางอาหาร พลังงาน และสิ่งของเครื่องใช้ โดยนิทรรศการได้นำเสนอทางออกของปัญหาที่เราพบเจอ ด้วยความพยายามที่จะนำพาโลกไปสู่หนทางที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีของคนรุ่นต่อไป
มุมทางเข้าของ Natural History Museum
สำหรับเราสิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ช่วงท้ายนิทรรศการ มีบอร์ดขนาดใหญ่ตั้งทิ้งไว้ให้ผู้เยี่ยมชมช่วยกันลงความเห็นว่า “คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้โลกของเราดีขึ้นในที่ทำงานหรือโรงเรียนของคุณ” ซึ่งคำตอบก็สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก เช่น กินอาหารท้องถิ่นเพื่อช่วยลดขยะพลาสติกและพลังงานที่เกิดจากการขนส่งอาหาร หรือการรีไซเคิลขยะกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการผลิตเกินความจำเป็น
ช่วยโลกด้วยการรีไซเคิล หนึ่งในคำแนะนำเพื่อช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืนภายในงาน ‘Our Broken Planet: How We Got Here and Ways to Fix It’
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งกระจกขนาดเท่าตัวคนไว้พร้อมกับคำพูดที่ให้เราถ่ายรูปตัวเองไว้ว่า “เผ่าพันธุ์ของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของเราได้” เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของความร่วมมือกันจากทุกคนในการช่วยนำพาโลกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
รูปปั้นเดวิดใจกลาง Cast Courts ที่โด่งดังแห่ง Victoria and Albert Museum
🎨 V&A-Victoria and Albert Museum
สถานที่ต่อไปคือ พิพิธภัณฑ์แห่งศิลปะและการตกแต่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ‘V&A-Victoria and Albert Museum’ โดยไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ที่นิทรรศการถาวรและหมุนเวียน ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ของศิลปะ การออกแบบ และโบราณวัตถุรูปแบบต่างๆ จากทั่วโลก
นอกจาก V&A จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ใจกลางของหมู่อาคารยังเป็นสวนขนาดเล็กที่มีชื่อเสียงในช่วงหน้าร้อนของกรุงลอนดอนอีกด้วย
ไฮไลต์ที่เราชื่นชอบมากที่สุดคือ Cast Courts ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1873 ฮอลล์ขนาดใหญ่ที่จัดแสดงงานศิลปะและสถาปัตยกรรมชื่อดังทั่วโลก แต่อย่าเพิ่งตกใจไปว่ามันจะรวมอยู่ด้วยกันทั้งโลกได้อย่างไร เพราะห้องนี้เป็นงานทำเลียนแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมชื่อดังจากทั่วโลก
The West Court อีกฝั่งของ Cast Courts ด้านในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert Museum
งานศิลปะชิ้นต่างๆ ส่วนใหญ่จัดแสดงตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปี 1851 ในนิทรรศการการค้าและอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลก โดย เฮนรี โคล ฝ่ายจัดนิทรรศการ ร่วมกับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สร้างอาคารดังกล่าวขึ้นในพื้นที่เซาท์เคนซิงตัน มีเป้าหมายแรกเป็นศูนย์การเรียนรู้ของศิลปิน นักออกแบบ และประชาชน เกี่ยวกับศิลปะและวิทยาศาสตร์ โดยพระองค์เชื่อว่าการเรียนรู้ด้านการออกแบบจะช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของสหราชอาณาจักร
ลวดลายการตกแต่งด้านในอาคารที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะใน Victoria and Albert Museum
ศิลปะชั้นครูที่น่าสนใจย่อมหนีไม่พ้นรูปปั้นของ เดวิด ผลงานของ มิเกลันเจโล (Michelangelo) ที่โด่งดังจากอิตาลี ซึ่งอิตาลีได้มอบแบบจำลองของรูปปั้นเดวิด เป็นของขวัญให้กับราชินีวิกตอเรีย และกลายเป็นศิลปะชิ้นแรกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน Cast Courts ยังคงทำหน้าที่เดิม คือการสร้างแรงบันดาลใจผ่านงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก แม้ว่าจะไม่ใช่ของต้นฉบับ แต่การได้เห็นศิลปะชื่อดังของโลกอยู่รวมในที่เดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
‘Babel 2001’
🎨 Tate Modern
ปิดท้ายเราไปที่ Tate Modern พิพิธภัณท์ศิลปะสมัยใหม่ใจกลางเมืองลอนดอน เป็นอาคารทันสมัยกว่าสองอาคารก่อนหน้า ภายในมีพื้นที่ 10 ชั้น จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยต่างๆ ตั้งแต่ภาพวาดและภาพถ่าย
อาคารแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี 1947 สองปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นโรงไฟฟ้า Bankside ก่อนที่ Herzog & de Meuron สองสถาปนิกชาวสวิตเซอร์แลนด์จะออกแบบใหม่เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะเมื่อปี 1996
ที่นี่มีผู้เยี่ยมชมกว่า 40 ล้านคนตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2000 และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมากที่สุดของอังกฤษ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 100 ล้านปอนด์ต่อปีให้กับกรุงลอนดอน
นิทรรศการที่เราได้เยี่ยมชมในวันนี้คือ Media Networks จัดแสดงศิลปะเกี่ยวกับผลกระทบจากสื่อมวลชน หนึ่งในไฮไลต์คืองานของ Cildo Meireles ที่จัดทำ Babel 2001 หอคอยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหอคอยบาเบลในพระคัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล 11
คาเฟ่ด้านในอาคาร Tate Modern ที่มองเห็นวิวแม่น้ำ
และมหาวิหารเซนต์พอลอีกฝั่งของแม่น้ำเทมส์
Babel 2001 เป็นหอคอยสูงประกอบไปด้วยวิทยุเปิดเสียงพร้อมกันทุกเครื่อง และเป็นเสียงจากช่องวิทยุคนละช่องทั้งหมด สื่อถึงข้อมูลข่าวสารที่มีมากเกินไป และการสื่อสารที่ล้มเหลว ซึ่งตรงกับเรื่องราวของหอคอยบาเบลที่สร้างสูงจนใกล้กับสวรรค์ ทำให้พระเจ้าไม่พอใจ และตัดสินใจทำให้ผู้ก่อสร้างพูดคนละภาษากัน ไม่สามารถเข้าใจกันได้จนล้มเลิกการสร้างหอคอย และแยกย้ายไปสู่พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งต่างๆ
ในช่วงเวลาที่เรากำลังนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ครั้งแรกในรอบ 9 ปี คำถามที่ต้องฝากไปถึงผู้ลงสมัครเลือกตั้งคือ นอกจากการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกรุงเทพมหานครแล้ว
พวกเขาให้ความสำคัญแค่ไหนกับพื้นที่การเรียนรู้ และมีไอเดียอย่างไรกับการสร้างพื้นที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่จัดแสดงสิ่งของ แต่ต้องสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้กับผู้คนในเมือง เพื่อต่อยอดไปสู่การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการผลิตในแง่มุมต่างๆ ให้สามารถต่อยอดจากสิ่งที่เรามีไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ ภายในมหานครที่เพิ่งมีอายุครบรอบ 240 ปี เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย
อ้างอิง: