×

เกิดอะไรขึ้นหลังการเมืองอังกฤษส่อเค้าวุ่น กดดันให้ ลิซ ทรัสส์ ลาออก หลังเป็นนายกฯ ได้เพียง 1 เดือนเศษ

20.10.2022
  • LOADING...
Liz Truss

วันนี้ (20 ตุลาคม) เกมการเมืองในสหราชอาณาจักรกำลังร้อนระอุและส่อเค้าวุ่น มีกระแสกดดันจากทั้งภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟและภายนอกพรรคกดดันให้ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนปัจจุบัน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือนเศษ ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ

 

เกิดอะไรขึ้นที่สหราชอาณาจักรในช่วงเวลานี้

 

การเมืองอังกฤษส่อเค้าวุ่น ภายหลังจากที่ทรัสส์ขับ ควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของเธอ พ้นจากตำแหน่งช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 38 วันเท่านั้น เซ่นกระแสแรงกดดันที่เธอตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง หลังประกาศนโยบายด้านการคลังและภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในสหราชอาณาจักร 

 

ก่อนที่เธอจะแต่งตั้งให้ เจเรมี ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังต่อจากควาร์เต็ง โดยฮันต์ได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการปรับลดภาษีแทบทั้งหมดของทรัสส์ เพื่อลดความร้อนแรงและบรรเทาความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองและในตลาดการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้น หลังจากที่เธอประกาศนโยบายด้านการคลังและภาษีไปก่อนหน้านี้

 

โดยทรัสส์ระบุว่า เธอจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมจะนำพาพรรคคอนเซอร์เวทีฟเข้าสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ที่คาดว่าจะจัดขึ้นไม่เกินช่วงเดือนมกราคม 2025 โดยเธอยอมกลับลำ เปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับลดภาษีที่เธอผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ทรัสย์ยอมรับว่า การบริหารประเทศของเธอตลอดช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาอาจไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เธอตั้งใจไว้ แต่เธอก็ได้ปรับแก้ไขจุดบกพร่องและข้อผิดพลาดต่างๆ แล้ว

 

ทรัสส์เน้นย้ำว่า “ฉันคือนักสู้ ไม่ใช่พวกยอมแพ้หรือล้มเลิกอะไรง่ายๆ”

 

ความวุ่นยังไม่จบ หลังสมาชิกรัฐบาลในตำแหน่งสำคัญลาออก

 

นอกจากทรัสส์จะต้องเผชิญหน้ากับ เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคเลเบอร์ของสหราชอาณาจักร ในช่วงการตอบกระทู้ซักถามนายกรัฐมนตรีภายในรัฐสภาแล้ว ความร้อนแรงของการเมืองอังกฤษในช่วงเวลานี้ดูเหมือนจะยังไม่จบ หลังจากที่ ซูเอลลา บราเวอร์แมน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สมาชิกคนสำคัญของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยเธอระบุว่า ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลทางการผ่านอุปกรณ์สื่อสารและอีเมลส่วนตัว 

 

แต่กระนั้นบราเวอร์แมนก็แสดงความกังวลถึงแนวทางในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ให้มีความคืบหน้าได้ อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นหลายสำนักอ้างว่า บราเวอร์แมนและทรัสส์ต่างมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการบริหารจัดการผู้อพยพในสหราชอาณาจักรที่บราเวอร์แมนเป็นผู้รับผิดชอบ จึงทำให้ทำบราเวอร์แมนกลายเป็นรัฐมนตรีคนที่ 2 ภายในไม่ถึง 1 สัปดาห์ที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสหราชอาณาจักร ภายใต้การนำของทรัสส์ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น ก่อนที่ทรัสส์จะแต่งตั้ง แกรนต์ ชาปปส์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เข้ารับช่วงต่อแทน

 

อีกทั้งยังมีกระแสข่าวว่า เวนดี มอร์ตัน ผู้คุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร (Chief Whip) ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่มีหน้าที่สำคัญในการคุมเสียงของสมาชิกสภาจากสังกัดพรรคของตนให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำพรรคต้องการนั้น ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งพร้อม เกร็ก วิตเทคเกอร์ รองผู้ช่วยของเธอ หลังจากที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมการจัดตั้งรัฐบาลทรัสส์ในตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งอาจยิ่งทำให้การเมืองอังกฤษวุ่นวายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจทรัสส์ในฐานะนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และกดดันให้เธอลาออกจากตำแหน่ง หลังเกิดความวุ่นวายขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่บ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิงจะยืนยันว่าทั้งมอร์ตันและวิตเทคเกอร์ยังคงอยู่ในตำแหน่งของพวกเขาต่อไป

 

ขณะที่ผลโหวตภายในสภา สมาชิกสภาจากพรรคเลเบอร์อ้างว่า สมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟล็อบบี้การลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาลทรัสส์ เป็นเหตุให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะการลงคะแนนเสียง 326 เสียง ต่อเสียงคัดค้าน 240 เสียง แม้จะมีสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟราว 40 รายที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงในมติดังกล่าว และมีเสียงเรียกร้องให้ทรัสส์ลาออกจากตำแหน่งเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

 

ความวุ่นวายและรอยร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของทรัสส์อาจไม่ฟังก์ชันอีกต่อไป ทรัสส์กำลังเผชิญหน้ากับชั่วโมงที่ยากลำบากเพิ่มมากขึ้น และนั่นอาจทำให้ทรัสส์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรต่อจนครบวาระของบอริส จอห์นสันได้ในท้ายที่สุด

 

ทางด้าน นิโคลา สเตอร์เจียน มุขมนตรีสกอตแลนด์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ แสดงความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ทั้งหมดนี้คือความโกลาหลอย่างสิ้นเชิง สิ่งนี้ไม่สามารถไปต่อได้ พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ขึ้นในทันที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ภาพ: Daniel Leal / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X