ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศลาออกจากตำแหน่งในการแถลงที่หน้าทำเนียบดาวนิงวันนี้ (20 ตุลาคม) หลังเผชิญแรงกดดันจากสมาชิกพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟจากการขับ ควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีเกือบทั้งหมดที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในสหราชอาณาจักร รวมถึงสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก
การลาออกของทรัสส์ทำให้เธอกลายเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักร ที่รับตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 6 สัปดาห์ หลังได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้รับตำแหน่งแทน บอริส จอห์นสัน และกลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น โดยเฉพาะนโยบาย ‘ลิซ ทรัสส์’
- ชวนรู้จัก ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของอังกฤษ จากผู้ต่อต้าน Thatcher สู่แกนนำพรรคอนุรักษนิยม
- รู้จัก เจเรมี ฮันต์ อดีตผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ สู่ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ท่ามกลางความท้าทาย Perfect Storm
ขณะที่เธอยืนยันว่าได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่มีภาษีต่ำและมีอัตราการเติบโตสูง โดยจะใช้ประโยชน์จากเสรีภาพทางเศรษฐกิจในยุค Brexit พร้อมยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจที่ได้รับจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และได้เข้ากราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าพรรคแล้ว
“ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจซึ่งข้าพเจ้าได้รับเลือกจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้ ข้าพเจ้าจึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ว่า ข้าพเจ้าขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ” ทรัสส์กล่าว
ขณะที่เธอเปิดเผยว่า ได้หารือกับ เซอร์เกรแฮม เบรดี ประธานคณะกรรมการ 1922 หรือคณะกรรมการสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟแล้ว และเห็นพ้องที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในสัปดาห์หน้า
“สิ่งนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรายังคงอยู่บนเส้นทางที่จะส่งมอบแผนการเงินของเรา และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงของชาติ ฉันจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่ง”
ภาพ: Photo by Kirsty O’Connor / PA Images via Getty Images
อ้างอิง: