ในชีวิตประจำวัน เราได้มักจะยินเรื่องตับๆ ผ่านหูมาไม่ใช่น้อย ถ้าลองมองไปรอบๆ ตัว เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีคนรู้จักอย่างน้อยๆ สัก 1-2 คนที่เคยบ่นให้ฟังถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับตับ
ในช่วงวันเข้าพรรษาอย่างนี้ มีแคมเปญส่งเสริมสุขภาพออกมาเชิญชวนให้คนไทยงดดื่มเหล้าเพื่อพักตับกันเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งนี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้หันมาดูแลอวัยวะสำคัญชิ้นนี้ของร่างกายกัน อันที่จริงแล้วเรื่องตับๆ มีอะไรมากกว่าแค่งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อให้ตับได้พัก แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาตับ ตั้งแต่ตับแข็ง ตับอักเสบ ฝีในตับ ไวรัสตับอักเสบ มะเร็งตับ ไปจนถึงตับวาย ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักตับของมนุษย์กัน
ตับ หรือ Liver เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนบนของเรา เฉพาะตัวของตับมีน้ำหนักอย่างต่ำๆ 1.4-1.6 กิโลกรัม นับเป็นอวัยวะภายในที่หนักที่สุดของร่างกาย และจะว่าไป ตับถูกจัดให้เป็นอวัยวะจำพวก ‘ต่อม’ หรือ Gland ที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายด้วยนะครับ
ตับมีหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นตู้เย็นที่คอยเก็บสะสมพลังงานให้กับร่างกาย เป็นโรงงานสร้างน้ำย่อยบางชนิด สร้างฮอร์โมนบางอย่าง และยังเป็นโรงงานช่วยเผาผลาญสารอาหาร เป็นโรงกำจัดขยะ ช่วยขจัดสารพิษและยาให้กับร่างกายอีกด้วย เพราะอย่างนี้ตับจึงเป็นอวัยวะสำคัญ ถ้าเมื่อไรที่ตับหยุดทำงานหรือที่เราเรียกว่า เกิดภาวะตับวาย หรือ Liver failure ก็จะทำให้คนเราถึงตายเอาได้ง่ายๆ เลยนะครับ
ตับยังมีความมหัศจรรย์อีกหลายประการ ตับเป็นอวัยวะเดียวของร่างกายที่สามารถ ‘งอก’ ขึ้นมาใหม่ได้ เหมือนหางจิ้งจกอย่างไรอย่างนั้น ในกรณีที่เนื้อตับถูกทำลายหรือถูกตัดออกไปเหลือแค่ 1 ใน 4 หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมแล้วละก็ ตับที่เหลืออยู่เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถงอกขึ้นมาเป็นตับใหม่ทั้งอันได้เลยทีเดียว
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มจัดๆ ดื่มถี่ๆ ดื่มต่อเนื่องมานานนับปี แบบนี้ยิ่งเสี่ยงครับ การงดเหล้าจะช่วยฟื้นฟูตับได้ในกรณีที่ตับยังไม่เสียไปมาก แต่ถ้าตับเสียถึงขนาดกลายเป็นตับแข็งไปแล้ว การงดเหล้าช่วยให้ตับไม่เสียเพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่เสียไปแล้วก็ไม่อาจจะกลับคืนมาได้
โรคและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับมีได้หลายอย่าง ตั้งแต่โรคตับชนิดที่เป็นแต่กำเนิด โรคตับที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (ซึ่งพบได้ไม่บ่อย) ไปจนถึงมะเร็ง โรคที่เนื้อตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือจากการดื่มแอลกอฮอล์ (พบได้บ่อยกว่า) เมื่อเนื้อตับถูกปล่อยให้อักเสบนานๆ ก็จะเกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้นแทนที่เซลล์ปกติ เรียกภาวะนั้นว่า ‘ตับแข็ง’ ครับ การรักษาโรคตับมีวิธีต่างๆ กัน ตั้งแต่กินยา ฉีดยา ให้คีโม ฉายแสง ไปจนถึงผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคตับชนิดไหน เป็นถึงขั้นใด และระดับไหนแล้ว
เล่ามาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจเริ่มกังวลว่า จะมีอะไรให้สังเกตบ้างหรือเปล่าว่าตับของเรากำลังมีปัญหา มีครับ ถ้าตับของเราเริ่มผิดปกติ ก็จะส่งสัญญาณให้เจ้าตัวรู้ได้ก่อน สัญญาณที่ว่าก็คือผิวและตาจะเริ่มเหลืองผิดปกติ หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน มีอาการปวดท้องและท้องบวม หรือที่เรียกกันว่า ท้องมานน้ำ ปัสสาวะมีสีเข้มมาก ตั้งแต่เหลืองเข้มไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มเหมือนโค้ก ขาและเท้าบวม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด กินไม่ได้ เบื่ออาหาร
อาการพวกนี้อาจมาเดี่ยวๆ หรือมีหลายอาการผสมกันมาก็ได้ครับ หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์จะดีที่สุด แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการเจาะเลือดไปตรวจดูค่าการทำงานของตับ เอนไซม์ในตับ รวมถึงการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น Ultrasound, CT scan หรือ MRI ตามความจำเป็นของคนไข้แต่ละคนครับ
ฟังแล้วน่ากลัวนะครับ แต่ไม่ใช่ว่าโรคตับจะเกิดขึ้นกับทุกคน หากเราดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี รับรองว่าห่างไกลจากโรคตับแน่นอน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตับได้ง่ายมีดังนี้ครับ
1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มจัดๆ ดื่มถี่ๆ ดื่มต่อเนื่องมานานนับปี แบบนี้ยิ่งเสี่ยงครับ การงดเหล้าจะช่วยฟื้นฟูตับได้ในกรณีที่ตับยังไม่เสียไปมาก แต่ถ้าตับเสียถึงขนาดกลายเป็นตับแข็งไปแล้ว การงดเหล้าช่วยให้ตับไม่เสียเพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่เสียไปแล้วก็ไม่อาจจะกลับคืนมาได้นะครับ
2. การฉีดยาเข้าเส้นเลือดด้วยเข็มที่ไม่สะอาด การเจาะหรือการสักที่ทำโดยเข็มที่ไม่สะอาดหรือใช้ซ้ำกับคนอื่นนี่ก็เสี่ยงครับ
3. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย นอกจากเสี่ยงต่อโรคเอดส์แล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ด้วยนะครับ
4. โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การรับประทานผักผลไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี นี่ก็เป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกันครับ
หากคุณพบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ขอให้พยายามหลีกเลี่ยง จัดการปรับวิถีชีวิตตัวเองเสียใหม่ ก็จะช่วยได้มากทีเดียวครับ แต่หากคุณอยากเสี่ยงละก็ เราขอแนะนำให้คุณเก็บเงินเอาไว้มากๆ เสียตั้งแต่บัดนี้ เพราะการแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลจนถึงขนาดมีการเปลี่ยนตับกันได้แล้วนะครับ ตับที่นำมาเปลี่ยนให้คนป่วยนั้นมีตั้งแต่ตับที่มีคนบริจาค ไปจนถึงตับที่สร้างขึ้นมาจากเซลล์ในห้องทดลอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า โคลนนิ่ง (Cloning) นั่นเอง
การผ่าตัดอย่างแรกนั้นมีอัตราความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการใช้ตับที่โคลนขึ้นมาใหม่นั้นตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง แต่เชื่อกันว่าอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า น่าจะทำกันได้อย่างแพร่หลาย เหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ถึงตอนนั้น ร่างกายของมนุษย์เราอาจจะเปลี่ยนอวัยวะได้ง่ายๆ เหมือนเอารถไปเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนอะไหล่อย่างไรอย่างนั้นกันเลยทีเดียว
ภาพประกอบ: Thiencharas.w
- รากศัพท์ของคำว่าตับในภาษากรีก คือ ‘Hepat’ ดังนั้น ศัพท์การแพทย์คำที่เกี่ยวข้องกับตับมักจะขึ้นต้นด้วย Hepat เสมอ เช่น Hepatitis หมายถึงโรคตับอักเสบ เป็นต้น
- ภาพยนตร์และนิยายวิทยาศาสตร์ระทึกขวัญจำนวนมากนิยมนำเอาเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะไปสร้างเป็นธีมหลัก เรื่องที่เราคุ้นเคยกันมากๆ ได้แก่ Coma ของ โรบิน คุก (Robin Cook), The Island ของ ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) และ The Eye ของ ซาเวียร์ ปาลูด (Xavier Palud) ว่ากันว่านวนิยายเรื่องแรกที่พูดถึงการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เขียนขึ้นเมื่อปี 1964 คือเรื่อง The Reefs of Space ของ แจ็ก วิลเลียมสัน (Jack Williamson) ว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ต่างดาวที่จับมนุษย์ไปทำฟาร์ม เพื่อใช้อวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับพวกตนเอง ลองหามาอ่านและชมกันดูได้ครับ