×

ไลฟ์ขายโบราณวัตถุ ค่านิยมผิดๆ ของผู้มั่งมี ทำลายมรดกของชาติ

17.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 mins. read

 

  • ผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์การใช้ Facebook Live ลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุเพื่อนำไปขายอย่างผิดกฎหมายมากขึ้นและรุนแรง และไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลกด้วย
  • การสะสมโบราณวัตถุไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเจ้านายและชนชั้นสูงรับค่านิยมจากตะวันตกเข้ามา ซึ่งในเวลานั้นเชื่อว่าการสะสมโบราณวัตถุและของหายากเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเป็นคนมั่งมี มีรสนิยม เป็นผู้ดีมีอารยธรรม เพราะรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งของ 
  • ในยุคออนไลน์นี้ กรมศิลปากรอาจจะต้องมีหน่วยหนึ่งที่ติดตามปัญหาเรื่องการค้าโบราณวัตถุออนไลน์ขึ้นมา ทั้งเพื่อดำเนินคดี ตามสืบ ส่งเรื่องให้ตำรวจ และจับกุม เพื่อให้กระบวนการขายทำได้ยากขึ้น
  • อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ เราอาจจะต้องเรียกร้องให้ Facebook พัฒนาระบบคัดกรองและจัดการกับการโพสต์เพื่อขายโบราณวัตถุผิดกฎหมายพวกนี้ในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะทำให้การค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย (Antiquities Trafficking) นั้นเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและโลกใบนี้

ถ้าใครอยู่ในแวดวงโบราณคดีจะพบว่า ช่วงนี้เกิดการลับลอบขุดโบราณวัตถุเพื่อเอามาขายกันมากขึ้นอย่างผิดปกติ ที่สำคัญคือการใช้ช่องทาง Facebook Live เพื่อเสนอความเรียล (Real) ว่าของที่ขายนี้เป็นของแท้ ได้มาจากหลุมแท้ ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าของวัตถุ และเป็นช่องทางให้นายทุนมารับซื้อได้สะดวกขึ้น เรียกว่าแทบจะขายตรงกันเลยทีเดียวในตอนนี้

 

เมื่อสักเกือบเดือนมาแล้ว ผมได้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเลยโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มากขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 นี้เอง และถ้ายิ่งขยายออกไปนาน จะเกิดการลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุเพื่อนำไปขายอย่างผิดกฎหมายมากขึ้นและรุนแรง สุดท้ายก็เป็นจริงตามที่คาด และไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก

 

ไลฟ์ขุดกระดูกมนุษย์ 3,000 ปีที่โกรกพระ นครสวรรค์

เมื่อวันที่ 10-11 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์หลายแห่ง เช่น ข่าวสด ไทยรัฐ วันนี้ที่ปากน้ำโพ ได้รายงานว่า มีชาวบ้านรายหนึ่งที่อำเภอโกรกพระ นครสวรรค์ ได้ขุดโครงกระดูกโบราณยุคหินใหม่จำนวนหลายสิบโครง เพื่อเอาโบราณวัตถุที่พบโพสต์ขาย บางครั้งมีพฤติกรรมไลฟ์โชว์ว่าตัวเองกำลังขุดโครงกระดูก (สนใจดูไลฟ์ของชายคนนี้ได้ที่ https://www.thairath.co.th/clip/411413?fbclid=IwAR0cjLMmDowtiBtwoJl3PulXIobFtDhTcSHgSDzgCMNMIa2Dy81zcVtE07c) เพื่อแสดงให้เห็นว่าของที่ขายเป็นของจริงจากหลุม ไม่ใช่ของปลอม ของที่ขายไม่ได้ก็โยนทิ้ง ของที่ดีๆ บางส่วนก็เก็บไว้ที่บ้านรอคนมาซื้อ และของบางส่วนก็เก็บไว้เอง แถมเชื่อด้วยว่าตนเองเป็นเจ้าของโบราณวัตถุพวกนี้เมื่อชาติที่แล้ว

 

เท่าที่ผมสืบทราบมา ชายคนนี้เดิมเคยเป็นลูกจ้างขุดค้นชั่วคราวของกรมศิลปากรเมื่อปี 2556 ซึ่งในตอนนั้นชาวบ้านได้ขุดพบแหล่งฝังศพของคนโบราณที่โกรกพระโดยบังเอิญ จึงมีนักโบราณคดีเข้ามาขุดค้นเพื่อกู้แหล่ง อย่างน้อยก็จะได้รู้ข้อมูลไว้บ้าง หลังจากที่นักโบราณคดีปิดโครงการไปแล้ว ชายคนนี้ก็ยังคงขุดค้นต่อไปหลังจากนั้น พอมีใครมาถามว่าขุดได้อย่างไร ก็อ้างอำนาจของกรมศิลปากร มีคนเคยมาเตือนไม่ให้ขุดก็ไม่ฟัง และยังโพสต์และไลฟ์การลักลอบขุดอีกด้วย พอคนเห็นว่าของเก่าขายได้เงิน ก็เลยมีชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันร่วมขุดด้วยอีกหลายคน 

 

เจ้าหน้าท้องถิ่น นักโบราณคดี และตำรวจ กำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่อำเภอโกรกพระที่ถูกลักลอบขุด (ขอขอบคุณเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้)

 

สภาพของโบราณวัตถุที่เสียหายจากการลักลอบขุดที่โกรกพระ

 

จนในที่สุดเมื่อหน่วยงานราชการท้องถิ่นทราบข่าวราววันที่ 7 มีนาคม จึงได้เริ่มสืบ และไปพบกับชายคนนี้ ได้กล่าวห้ามปรามไป แต่เหมือนไม่เป็นผล เจ้าตัวออกมาโพสต์ว่า “ขุดแต่งเพื่อศึกษาวิถีชีวิตคนโบราณในยุคสมัยต่างๆ แล้วกลบกลับคืนเพื่อรอวันเวลาที่เหมาะสมจะกลับมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป” จนในที่สุดทางอำเภอและวัฒนธรรมจังหวัดต้องนำตำรวจและนักโบราณคดีไปตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีกับชายคนนี้ในข้อหาลักลอบขุดและทำลายโบราณวัตถุโบราณสถาน (คือแหล่งโบราณคดี) ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 

 

ในวันดังกล่าว ชายคนดังกล่าวนี้หลบหนีไป และในตอนหลังยังมีความเคลื่อนไหวอีกโดยมองว่าตนไม่มีความผิด ซึ่งนอกจากจะไม่เข้าใจว่าการกระทำของตนนั้นเป็นความผิดแล้ว ยังอ้างเรื่องว่าต้องการทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งๆ ที่ตนเองขายโบราณวัตถุ ซึ่งขัดแย้งกับพฤติกรรมโดยสิ้นเชิง 

 

ถึงจะอ้างเรื่องการทำเป็นแหล่งเรียนรู้แบบข้างๆ คูๆ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ใกล้เคียงกับการทำแหล่งเรียนรู้เลย เพราะการขุดค้นดังกล่าวขาดหลักวิชาการที่ถูกต้อง จึงทำให้สูญเสียข้อมูลมีค่าหลายอย่างไปอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งเอาวัตถุมีค่าไปจำหน่าย ยึดเป็นสมบัติของตนเอง ทำให้นักโบราณคดีไม่อาจรู้อายุสมัยที่อาจตรวจสอบได้จากถ่านหรือวัตถุแวดล้อม เข้าใจรูปแบบพิธีกรรมการฝังศพได้ เพราะเล่นเอาของติดตัวกับศพไปขาย หรือเอาภาชนะดินเผา เอาโครงกระดูกทิ้งไป ที่สำคัญการขุดพวกนี้ปราศจากการบันทึกข้อมูล ทำให้นักโบราณคดีไม่อาจจะศึกษาเรื่องราวในอดีตได้ชัดเจน 

 

บางคนอาจจะมองว่าชายคนนี้ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่นี่คือการกระทำผิดในทางกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องเอาผิด ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดการลักลอบขุดค้นแบบนี้ไปทั่วประเทศ 

 

แน่นอนว่าความผิดดังกล่าวของชายคนนี้เป็นความผิดในระดับบุคคล หากถ้ามองในภาพกว้างขึ้นแล้ว เรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาจากเศรษฐกิจในระดับประเทศที่ย่ำแย่ต่อเนื่องมาหลายปี ดังนั้นถ้าเราต้องการจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจลงไปในระดับรากหญ้า ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน นี่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำครับ (แต่ก็ไม่ใช่ว่าพัฒนาแล้วการลักลอบจะหมดไปนะครับ มันมีหลายปัจจัย) 

 

นอกจากชายคนนี้ที่โกรกพระแล้ว ความจริงยังมีคนแบบนี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีทั้งทำเป็นรายเดี่ยวและทำเป็นกระบวนการ ยิ่งการมี Facebook และ LINE กลุ่มทำให้การลักลอบขุดและขายแพร่กระจายเร็วยิ่งขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่กล่าว คือมีการลักลอบขุดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่คนรับซื้อมีน้อยลง แถมนายทุนยังกดราคา ทำให้พวกลักขุดรายย่อยต้องเสี่ยงโพสต์บน Facebook มากขึ้น เพื่อหวังจะขายให้กับผู้ซื้อรายย่อย โชคดีหน่อยก็อาจมีคนรวยมาซื้อไปทีละมากๆ นับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก อย่างไรก็ดี คำถามที่เราควรคิดต่อก็คือ ทำไมคนในบ้านเราจึงเกิดแนวคิดในการสะสมโบราณวัตถุขึ้นมา 

 

การไลฟ์ขุดหาลูกปัดใน Facebook เพื่อรับประกันความเป็นของแท้

 

Facebook ของผู้ขายรายหนึ่ง เป็นลักษณะของการเปิดประมูล ระบุแหล่งและราคาชัดเจน

 

อยากเป็นผู้ดีมั่งมี จึงต้องครอบครองโบราณวัตถุ 

เมื่อมี Supply ก็ต้องมี Demand เรื่องการค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย (ซึ่งแบบถูกกฎหมายก็ไม่ควรมีเช่นกัน) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงต้องมีการตั้งกรมศิลปากรและออก พ.ร.บ. ขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุ

 

แต่ปัญหาดังกล่าวหนักขึ้นในช่วงปลายสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อคนจนลงเรื่อยๆ จากภาวะสงครามโลก เกิดการบูรณะเมืองเก่า ทำให้พบสมบัติกันมากขึ้น ที่พีกสุดคือกรณีที่มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2499 และได้สมบัติไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ถึงจะตามจับคนร้ายมาได้ แต่ก็นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการลักลอบขุดหาสมบัติ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นยุคที่คนแสวงหาพระเครื่องมาไว้ในครอบครองเพื่อป้องกันตัวเองจากโจรผู้ร้ายที่ชุกชุมในเวลานั้น ทำให้มีการขุดกรุและเจดีย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง สังเกตนะครับว่าภาคกลางเลยมีเกจิเยอะ เพราะเป็นพื้นที่ที่สังคมมีความรุนแรงและไม่ปลอดภัย

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในปี พ.ศ. 2504 จึงต้องออกพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นมา เพิ่มโทษให้หนักขึ้น เพื่อคุ้มครองและป้องกันไม่ให้แหล่งโบราณคดีถูกทำลาย ไม่ให้มีการจำหน่าย หรือซื้อขายโบราณวัตถุต่างๆ โดยถือว่าทั้งหมดเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ 

 

แต่ถึงจะมีกฎหมายออกมาอย่างนี้ การลักลอบขุดก็ไม่เคยลดน้อยลงไปเลย นั่นเป็นเพราะความต้องการของตลาดนั้นยังมีอยู่สูง และการขุดก็เป็นการลงทุนที่ต่ำแต่ได้ผลกำไรมาก 

 

น่าสนใจว่าเราไม่ค่อยมีข้อมูลว่าการลักลอบขุดและการเติบโตของตลาดการค้าโบราณวัตถุนั้นมันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องบอกว่าตลาดการค้าโบราณวัตถุในไทยนั้นถือว่าใหญ่มาก เราเป็นศูนย์กลางในการจัดหน่ายและพักสินค้าจากเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกเลยนะครับ มีทั้งตลาดสว่างและตลาดมืด 

 

การสะสมโบราณวัตถุนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเจ้านายและชนชั้นสูงรับค่านิยมจากตะวันตกเข้ามา ซึ่งในเวลานั้นเชื่อว่าการสะสมโบราณวัตถุและของหายากเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเป็นคนมั่งมี มีรสนิยม เป็นผู้ดีมีอารยธรรม เพราะรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งของ 

 

เมื่อเจ้านายชั้นสูงเริ่มสะสมกัน ก็ทำให้คหบดีเริ่มเอาอย่าง โบราณวัตถุชุดแรกๆ ที่คนไทยสะสมกันจะล้อกันไปกับประวัติศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปก็นิยมศิลปะสุโขทัย เพราะถือเป็นยุคทอง นิยมเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย หรือสังคโลกกัน ก็เพราะความนิยมของรัชกาลที่ 6 และของหายาก ของแปลกต่างๆ พอหลัง 2475 เมื่อไพร่ได้พัฒนาขึ้นเป็นชนชั้นกลาง เริ่มมีเงิน ก็เกิดการสะสมของพวกนี้ตามบ้าน ทำให้ตลาดการค้าโบราณวัตถุนั้นโตขึ้นไปอีก 

 

การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างถูกต้องบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะเท่ากับไปเพิ่มมูลค่าและชี้ช่องให้กับคนร้าย อย่างกรณีที่เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี ภายหลังจาก ดร.ฌอง บวสเซอลิเยร์ ได้มาทำการขุดค้นเพื่อค้นหาร่องรอยของพระเจ้าอู่ทอง เมื่อ พ.ศ. 2509 ทำให้พบพระและโบราณวัตถุต่างๆ จึงได้มีการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้น หลังจากนั้นเมืองอู่ทองเลยถูกขุดเพื่อหาพระพุทธรูปกันอย่างยกใหญ่ 

 

แต่ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับหลังจากการขุดค้นที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2518 ทำให้พบลูกปัดและของมีค่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้เกิดความนิยมลูกปัดโบราณขึ้นมา การลักขุดในเมืองอู่ทองครั้งมโหฬารจึงเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2518-2525 เรียกได้ว่าเมืองอู่ทองพรุนเลยทีเดียว ชาวบ้านขุด มีพ่อค้ามารับซื้อถึงปากหลุม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีเอี่ยวด้วย บางพื้นที่เปิดให้ชาวบ้านที่จะขุดมาประมูลกันตารางวาละ 100 บาทเลยทีเดียว 

 

ลูกปัดที่ได้มีทั้งดีและไม่ดี ชิ้นที่ไม่ดีก็ให้ช่างทำทองเอาเครื่องมาเจียให้ดูสวยเหมือนใหม่ ที่ลูกปัดดูใหม่ๆ กันทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะใช้เครื่องเจีย ยังไม่นับรวมว่ามีการทำปลอมขึ้นมาแล้วเอามาฝังในหลุมรอนายทุนมาดู ในสมัยนั้นลูกปัดอู่ทองครึ่งหนึ่งเรียกได้ว่าคือของปลอมเกินครึ่งหนึ่ง 

 

คนที่ซื้อลูกปัดพวกนี้ไปนั้นส่วนหนึ่งก็เอาไปประดับเพื่อความสวยงาม ดูเท่ แสดงความเป็นหญิง เป็นชาย บางคนเชื่อว่าลูกปัดพวกนี้สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ บ้างก็เชื่อว่าใส่แล้วจะทำให้โชคดี สุดแล้วแต่จะเชื่อ ผลก็คือเมืองอู่ทองถูกขุดค้นเพื่อหาลูกปัดและของมีค่าจนเสียหายเกือบทั้งพื้นที่ จากเมืองอู่ทองก็ขยายไปขุดในพื้นที่ข้างเคียง พอลูกปัดที่สุพรรณบุรีเริ่มหมดก็ตระเวนไปจังหวัดอื่น เช่น ลพบุรี สุราษฎร์ธานี ชุมพร 

 

ลูกปัดที่ร้อยใส่พวงไว้เพื่อรอขาย

 

นอกจากลูกปัด ในช่วงนั้นพื้นที่บางแห่งของไทยก็มีการขุดพบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ระดับโลก เช่น บ้านเชียง ราวปลายทศวรรษ 2510 ก็ทำให้เกิดค่านิยมในการสะสมภาชนะดินเผาลายเขียนสีบ้านเชียง กำไลสำริด ลูกปัด และอื่นๆ ทำให้แหล่งก่อนประวัติศาสตร์ถูกลักลอบขุดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเข้ามาของอเมริกา ก็ทำให้ตลาดการค้าโบราณวัตถุของไทยขยายไปสู่ในระดับโลก เชื่อมโยงกับการลักลอบขโมยชิ้นส่วนของปราสาทหิน ดังกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นต้น เรื่องพวกนี้ซับซ้อนและมีอะไรอีกมาก 

 

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เกิดการตลาดการค้าโบราณวัตถุขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงขั้นเกิดศูนย์การค้าโบราณวัตถุขึ้น เช่น ริเวอร์ซิตี้ เป็นต้น ที่ถ้าใครไปเดินจะพบว่าชั้น 3 และ 4 เป็นชั้นที่ขายศิลปวัตถุ ผมไม่ได้บอกว่าของพวกนี้ได้มาอย่างผิดกฎหมายนะครับ ถามไปก็มีแต่ของมีใบรับรองอย่างถูกกฎหมายทั้งนั้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าตลาดการค้าโบราณวัตถุของบ้านเรานั้นใหญ่แค่ไหนและมีที่มาที่ไปอย่างไร 

 

ค่านิยมผิดๆ ของประชาชน บ้านคนมั่งมี และโรงแรมหรู 

ผมขอแบ่งเรื่องค่านิยมต่อวัตถุนี้ออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มประชาชน คนรวยมั่งมี และโรงแรมหรู ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี Demand โบราณวัตถุอย่างมาก 

 

ในระดับประชาชนทั่วไปหรือคนมั่งมี มักจะได้ยินคำว่า ‘ใจรัก’ อยู่เสมอ ฟังดูดีนะครับ แต่ก็เป็นอันตรายมากต่อโบราณวัตถุ ผมเคยเจอ ‘นักสะสม’ (Collector) ลูกปัดหลายคนที่มักพูดอะไรทำนองนี้ ที่ใจรักก็เพราะหลงใหลในความสวยงาม บางคนชอบเพราะใส่แล้วมันดูดี แสดงความเป็นชาย หรือผู้ใหญ่ก็ใส่เพราะมันสวยงาม เรื่องนี้เป็นความชอบส่วนบุคคลครับ แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ ลองคิดดูว่ากว่าจะได้ลูกปัดมาสักเม็ดจะต้องมีการขุดเพื่อหามัน บางคนขุดเอง บางคนซื้อต่อมา นี่คือกระบวนการที่ทำให้แหล่งโบราณคดีถูกทำลาย ของพวกนี้มีทั้งที่ฝังอยู่ในดินในแหล่งผลิตลูกปัดสมัยโบราณ แต่บางส่วนก็มาจากหลุมฝังศพ ดังนั้นลูกปัดพวกนี้จึงเป็นของคนตาย แต่นักสะสมก็ไม่ได้สนใจมาก เพราะพวกเขามีมุมมองว่าในเมื่อคนในอดีตบูชามัน มันก็ย่อมเป็นของดี

 

ความเชื่อเป็นตัวผลักดันที่ดีต่อการทำลายแหล่ง อย่างกรณีเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีข่าวว่าที่บ้านหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีชาวบ้านไปขุดหาลูกปัดที่แหล่งฝังศพ จากการที่นักข่าวไทยรัฐสัมภาษณ์ชาวบ้าน พบว่า ส่วนใหญ่เมื่อขุดได้มักจะไม่ขาย แต่จะเก็บติดตัวไว้ตามความเชื่อว่าลูกปัดสามารถปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป รวมทั้งเก็บไว้ไห้ลูกหลานได้ดูกันด้วย แต่แน่นอนมีบางส่วนที่ขายออกไป 

 

ตลาดรับซื้อลูกปัดพวกนี้โตขึ้นมากและซื้อขายกันคล่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะการเกิดขึ้นของ Facebook มีทั้ง Facebook ส่วนตัว Facebook กลุ่มทั้งเปิดและปิด เช่น ลูกปัดโบราณในประเทศไทย ถึงจะมีการโพสต์ให้ดูรูปเฉยๆ แต่ก็มีการคอมเมนต์ถามราคาอยู่เสมอ แสดงว่าอาจมีการซื้อขายแอบแฝงอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ได้เกี่ยวกับแอดมิน ส่วน Facebook ส่วนตัวไม่ขอเอ่ยชื่อ แต่สามารถพบได้ทั่วไป แค่ลองใช้คีย์เวิร์ดว่า ลูกปัดโบราณ ลูกปัดลพบุรี ลูกปัดอู่ทอง เป็นต้น 

 

ทั้งหมดนี้คือตลาดใหญ่ ที่ส่งผลต่อการทำลายแหล่งโบราณคดี ซึ่งหมายถึงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ คนกลุ่มนี้รู้หรือไม่ว่าผิด รู้นะครับ ไม่อย่างนั้นจะไม่กลัวกรมศิลปากร แต่มิติในการมอง เช่น มองว่าการสะสมเท่ากับอนุรักษ์ และความจำเป็นทางเศรษฐกิจนั้นบีบบังคับให้ต้องทำเช่นนี้ 

 

ในกรณีของคนรวย คนมั่งมี ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นนักสะสมรายใหญ่ หรือเป็นนายทุน คนกลุ่มนี้จะรับซื้อเป็นจำนวนมาก มีเป้าหมายแตกต่างกันไป มีทั้งชอบสะสมจากความสวยงาม บ้างสะสมเพื่อเก็บไว้ตามความชอบส่วนบุคคล มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในกลุ่ม หรือกระทั่งการส่งออก ของที่สะสมพวกนี้มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูป ลูกปัด เหรียญ ทอง และของหายากอื่นๆ สำนึกในการสะสมพวกนี้ก็เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของแนวคิดการสะสมที่สืบรากมาจากชนชั้นนำสยามในยุคก่อน จนกลายเป็นค่านิยมว่าการมีของโบราณนั้นจะช่วยส่งเสริมฐานะและความมีหน้ามีตาทางสังคม เพราะการที่คุณสามารถสะสมของพวกนี้ได้ ก็หมายความว่าคุณมีเงินเหลือ หรือบางทีก็บอกว่ามีรสนิยม 

 

มีเศรษฐีไทยจำนวนมากนะครับที่สะสมของพวกนี้เอาไว้ แต่ผมคงไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ บางคนไม่ได้ตั้งใจจะสะสม แต่มีคนเอามาให้ก็เยอะ เพราะว่าถือเป็นของกำนัล บ้างเอามาเป็นผลประโยชน์ตอบแทน เพราะของพวกนี้มีมูลค่า บางครั้งประเมินไม่ได้ มีเรื่องความเชื่อแนบเข้าไปอีก เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ นี่จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งด้วยที่ทำให้นายตำรวจ ทหาร และนักการเมืองสะสมของพวกนี้

 

นายทุนพวกนี้บางคนเมื่อสะสมของไปได้ในระดับหนึ่งก็ทำการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นก็มี โดยหวังให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แทนที่จะดูคนเดียว ด้านหนึ่งก็ดี เพราะลำพังกรมศิลปากรนั้นก็คงไม่สามารถตามซื้อของในราคาสูงได้ แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านร้ายที่ไม่ได้เป็นความประสงค์ของคนก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ก็คือ พิพิธิภัณฑ์พวกนี้ (จริงๆ แล้วก็รวมถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไปด้วย) ได้กลายเป็นสถานที่รับรองความจริงแท้ ความมีค่า และการรับรองราคาของของชิ้นนั้นๆ ไป 

 

กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ โรงแรมหรู ในไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ โรงแรมพวกนี้มักนิยมเอาโบราณวัตถุมาประดับในโรงแรม บางโรงแรมเอาหน้าบันของวัดเก่ามาตั้งก็มี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับที่พักว่าดูดีมีสไตล์ เพราะของเก่าซึ่งเป็นของหายากนั้นจะทำให้โรงแรมมีความเป็นเอกลักษณ์ (Unique) เฉพาะตัวมากขึ้น โรงแรมในกรุงเทพฯ ที่พอเห็นอยู่ก็เช่น โรงแรมแถวถนนศรีอยุธยา ถนนวิทยุ ถนนราชดำริ 

 

โรงแรมพวกนี้ไม่ใช่โรงแรมที่ปกติคนมีรายได้น้อยจะพัก แต่เป็นชาวต่างชาติและคนไทยระดับไฮโซ ดังนั้นโบราณวัตถุพวกนี้จึงทำหน้าที่กระตุ้นหรือสื่อความรู้สึกของความเป็นตะวันออก ความเป็นไทย หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเรียกในภาษาวิชาการว่า ‘Orientalism’ (บูรพนิยม) โรงแรมพวกนี้บางแห่งเป็นทุนข้ามชาติจึงมีการตกแต่งที่เอาโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับภูมิภาคมาประดับ ซึ่งหมายความว่าโบราณวัตถุตามโรงแรมพวกนี้สะท้อนถึงกระบวนการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ ดังนั้น สเกลของการทำลายแห่งโบราณคดีจึงไม่ใช่ในระดับเล็กๆ เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ที่สำคัญการตกแต่งเช่นนี้ไม่ได้ช่วยทำให้โรงแรมดูดีเลย เป็นเรื่องไร้รสนิยมเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่นึกถึง Ethic 

 

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ไม่ว่าจะมองเรื่องความสวยงามหรืออะไรก็ตาม แต่ผมคิดว่าทุกฝ่ายล้วนมีผลต่อการทำลายแหล่งโบราณคดีด้วยกันทั้งสิ้น แน่นอนอาจมีผู้แย้งในระดับนายทุนหรือโรงแรมว่าของส่วนใหญ่นั้นได้มาอย่างถูกต้องมีใบรับรอง ใบอนุญาต แต่โดยอ้อม (หรือโดยตรง) แล้วนี่ก็คือการทำลายแหล่งโบราณคดีแบบหนึ่ง เพราะมันส่งเสริมให้เกิด Supply หรือกลุ่มผู้ลักลอบขุดที่ต้องการเอาของมาเสนอขาย โดยเฉพาะในช่วงยามวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ดังนั้นการหามาหรือการซื้อจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมคิดว่าควรเลิกเสียจะดีกว่าครับ 

 

สุดท้ายนี้ทางแก้หนึ่งของการป้องปรามปัญหานี้ส่วนหนึ่ง ถ้าในระดับบุคคลก็คือ อาจต้องให้ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานกับกรมศิลปากรต้องเซ็นสัญญาว่าถ้าหากทำผิดจะต้องรับโทษหนักมากกว่าบุคคลทั่วไป 

 

ในระดับภาพใหญ่ขึ้นจะเห็นได้ว่ากรณีที่สามารถจัดกับปัญหาที่โกรกพระได้รวดเร็วก็เพราะชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ซึ่งอันนี้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยป้องกันป้องปรามปัญหาทำนองนี้ได้ทั่วประเทศ 

 

นอกจากนี้แล้ว ในยุคออนไลน์นี้กรมศิลปากรอาจจะต้องมีหน่วยหนึ่งที่ติดตามปัญหาเรื่องการค้าโบราณวัตถุออนไลน์ขึ้นมา ทั้งเพื่อดำเนินคดี ตามสืบ ส่งเรื่องให้ตำรวจ และจับกุม อาจตามได้ไม่หมด แต่ก็ทำให้กระบวนการขายทำได้ยากขึ้นครับ 

 

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญด้วยคือ เราอาจจะต้องเรียกร้องให้ Facebook พัฒนาระบบคัดกรองและจัดการกับการโพสต์เพื่อขายโบราณวัตถุผิดกฎหมายพวกนี้ในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะทำให้การค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย (Antiquities Trafficking) นั้นเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและโลกใบนี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X