×

จากดราม่างดใช้คำ ‘อ้วน’ ‘น่าเกลียด’ สู่ข้อถกเถียงวรรณกรรมควรลบคำ-แก้เนื้อหาตามยุคสมัยหรือไม่

03.03.2023
  • LOADING...

ตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข้อถกเถียงและกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างอีกครั้งถึงประเด็นที่ว่า ‘วรรณกรรมควรปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการใช้คำไปตามยุคสมัยหรือไม่’ จากกรณีที่เกิดขึ้นกับผลงานวรรณกรรมของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) นักเขียนวรรณกรรมเด็กชื่อดังชาวอังกฤษ ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนคำและเนื้อหาบางส่วนในงานต้นฉบับของเขา เพื่อตีพิมพ์หนังสือในเวอร์ชันฉบับปรับปรุงแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับคุณค่าหรือค่านิยมที่ผู้คนในยุคปัจจุบันยึดถือมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การถกเถียงกันระหว่างกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการให้คงต้นฉบับดั้งเดิมไว้ กับกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการให้วรรณกรรมของดาห์ลปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

 

โรอัลด์ ดาห์ล คือใคร

 

โรอัลด์ ดาห์ล เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ เกิดที่เมืองคาร์ดิฟฟ์ในเวลส์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 13 กันยายน 1916 พ่อและแม่ของเขาเป็นผู้อพยพที่เดินทางมาจากนอร์เวย์ โดยดาห์ลเคยสังกัดกองทัพอากาศ และเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหาร สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะแต่งงานกับ แพทริเซีย นีล ภรรยาคนแรกในปี 1953 ทั้งคู่มีบุตรร่วมกัน 5 คน และตัดสินใจหย่าร้างกันในที่สุดในอีก 30 ปีต่อมา โดยดาห์ลตัดสินใจแต่งงานกับ เฟลิซิตี ครอสแลนด์ ภรรยาคนปัจจุบันในปี 1983

 

ดาห์ลเริ่มผลิตงานเขียนขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหนังสือเด็กเล่มแรกของดาห์ลคือ The Gremlins ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1943 บอกเล่าเรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นสงครามและการสู้รบ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของดาห์ลในช่วงที่เขายังเป็นทหาร ก่อนที่จะผลิตผลงานที่มีชื่อเสียงตามมาอีกมากมาย เช่น ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต (Charlie and the Chocolate Factory), ฅนซื่อบื้อ (The Twits), แม่มด (The Witches), มาทิลดา (Matilda) และ ยักษ์ใจดี (The BFG) ฯลฯ

 

หนังสือของดาห์ลจำนวนไม่น้อยมีเนื้อหาตั้งคำถามกับศีลธรรม แฝงความตลกร้ายและหักมุมอย่างมีชั้นเชิง มักฉายภาพตัวละครเด็กต่อกรกับผู้ใหญ่ใจร้าย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นมีการนำเอาไปทำเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงละครเวทีมากมาย โดยดาห์ลได้รับการยกย่องว่า ‘เป็นหนึ่งในนักเล่าเรื่องสำหรับเด็กที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20’ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 1990 ในวัย 74 ปี

 

เกิดอะไรขึ้นกับงานของดาห์ล 

 

วรรณกรรมของดาห์ลหลายเรื่องได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการใช้คำให้สอดคล้องกับบริบทและยุคสมัยปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น งานเขียนเรื่อง ‘Charlie and the Chocolate Factory’ ในเวอร์ชันฉบับปรับปรุงปี 2022 ของสำนักพิมพ์ Puffin Books ได้ปรับการใช้คำที่บรรยายลักษณะตัวละคร Augustus Gloop จาก ‘Enormously Fat’ (ตัวอ้วนมหึมา) เปลี่ยนมาเป็นแค่ ‘Enormous’ (ตัวมหึมา)  ขณะที่ตัวละครอย่าง Mrs. Twit จากเรื่อง ‘The Twits’ ก็ไม่ได้รับการบรรยายว่าเป็นตัวละครที่หน้าตา ‘Ugly’ (น่าเกลียด) อีกต่อไป รวมถึงมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทตัวละครแม่มดใน ‘The Witches’ ให้สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ แทนที่จะเป็นพนักงานแคชเชียร์หรือเลขาหน้าห้องของนักธุรกิจ เพื่อฉายภาพการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงในโลกของการทำงานมากยิ่งขึ้น 

 

Roald Dahl Story Company ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ผลงานของดาห์ลเผยว่า ตนได้ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ Puffin Books ในการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า “เรื่องราวและตัวละครที่ยอดเยี่ยมของดาห์ลจะยังคงสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ทุกคนในปัจจุบันได้” 

 

โดยการปรับปรุงหนังสือเก่าให้เข้ากับยุคสมัยใหม่นั้น ‘ไม่ใช่’ ประเด็นใหม่ในโลกวรรณกรรมหรือโลกของงานเขียน และดาห์ลเองก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้งานของดาห์ลถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องว่า คุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างที่สอดแทรกอยู่ในงานเขียนของดาห์ลอาจไม่สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันแล้ว รวมถึงมีการใช้คำหยาบ มีการใช้คำเกี่ยวกับเพศที่ค่อนข้างรุนแรง และแฝงไปด้วยอคติบางอย่างอยู่ไม่น้อย จนมีส่วนผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขงานของดาห์ลขึ้น และเกิดการถกเถียงกันในที่สุด

 

ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามในการเซ็นเซอร์งานวรรณกรรมดังกล่าว หลังจากที่มีรายงานว่า มีหนังสือเด็กหลายเล่มในปี 2022 ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนหรือตัดทอนสิ่งที่อ้างถึงเพศสภาพ เชื้อชาติ สุขภาวะทางจิต รวมถึงรูปร่างลักษณะทางกายภาพออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสโจมตี ขณะที่สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร ก็ตรัสถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยทรงชี้ว่า “โปรดรักษาแก่นแกนของความจริงที่คุณพยายามจะสื่อสารเอาไว้ สิ่งนี้ไม่อาจถูกขัดขวางได้โดยกลุ่มคนที่พยายามจะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือกำหนดกรอบให้กับการจินตนาการของคุณ”

 

สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานของดาห์ลตัดสินใจอย่างไร

 

สำนักพิมพ์ Puffin Books ในสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับสำนักพิมพ์ Penguin Random House ในสหรัฐอเมริการะบุว่า หนังสือวรรณกรรมเด็กของดาห์ลจำนวน 17 เล่ม รวมถึง Charlie and the Chocolate Factory และ Matilda จะได้รับการตีพิมพ์เวอร์ชันต้นฉบับแบบ Uncensored ในช่วงปลายปี 2023 ภายใต้โลโก้สำนักพิมพ์ Penguin เนื่องจากได้รับกระแสแรงกดดันอย่างหนัก หลังตีพิมพ์ฉบับปรับปรุงที่มีการปรับคำและเนื้อหาให้เข้ากับบริบทและผู้อ่านในยุคสมัยใหม่ 

 

ทางด้าน ฟรานเซสกา ดอว์ กรรมการผู้จัดการของ Penguin Random House กล่าวในแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจที่จะจัดพิมพ์หนังสือของดาห์ลทั้งเวอร์ชันต้นฉบับและเวอร์ชันที่มีการปรับปรุงนั้น เกิดจากการรับฟังข้อถกเถียงในประเด็นนี้มาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังอันน่าอัศจรรย์ในผลงานของดาห์ล

 

ดอว์ยังระบุอีกว่า “เรายังตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาข้อความคลาสสิกของดาห์ลไว้ในสื่อสิ่งพิมพ์ การวางจำหน่ายหนังสือทั้งเวอร์ชันปรับปรุงของ Puffin และเวอร์ชันต้นฉบับของ Penguin เรากำลังเสนอทางเลือกให้ผู้อ่านได้ตัดสินใจเลือกได้ว่า พวกเขาอยากที่จะสัมผัสกับเรื่องราวมหัศจรรย์และน่าพิศวงของโรอัลด์ ดาห์ลอย่างไร

 

โดยหนังสือที่ยอดเยี่ยมของดาห์ล มักจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เด็กๆ มักจะอ่านด้วยตนเอง การดูแลจินตนาการและความคิดที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของผู้อ่านรุ่นเยาว์เป็นทั้งสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบในเวลาเดียวกัน”

 

THE STANDARD ได้ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อาจารย์มิ่ง ปัญหา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นที่ว่า วรรณกรรมควรปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการใช้คำไปตามยุคสมัยหรือไม่ อย่างไร

 

อ.มิ่ง เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการระบุว่า “วรรณกรรมแต่ละเรื่องมีบริบทเป็นของตัวเอง เกิดขึ้นมาในยุคยุคหนึ่งที่ยึดโยงอยู่กับคุณค่าหรือค่านิยมแบบหนึ่ง สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าหรือวัฒนธรรมการอ่านบางอย่างเหล่านั้นก็อาจเสื่อมสลายหรือตายลง วรรณกรรมบางเรื่องก็จะตายตามไปด้วย ไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป

 

ในกรณีของดาห์ลมีความพยายามที่จะดัดแปลงข้อความหรือประโยคในหนังสือขึ้น เพื่อที่จะให้สามารถตีพิมพ์ใหม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากความคาดหวังหรือการมีมุมมองต่อผลงานของโรอัลด์ ดาห์ล ว่าเป็นหนังสือที่คลาสสิกหรือทรงคุณค่าสำหรับเด็ก เพราะมีเด็กชื่นชอบเยอะมาก แต่พอถึงจุดหนึ่งหนังสือเล่มนั้นอาจไม่ได้เดินไปกับสังคมในปัจจุบันอีกแล้ว จึงเกิดความพยายามที่จัดการกับตัวเท็กซ์ให้เหมาะสมกับยุคสมัยนี้มากยิ่งขึ้น”

 

“อ.มิ่งมองว่า “ฐานคิดเรื่องนี้น่าสนใจ น่าตั้งคำถามตั้งแต่จุดที่พยายามจะบอกว่าอะไรเป็น ‘คลาสสิก’ แล้ว พร้อมท้ังยกตัวอย่างว่า มีนักเขียนและนักแสดงตลกชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ชื่อ เดวิด มิตเชลล์ ได้เขียนบทวิจารณ์ใน The Guardian ว่า จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ประเด็นคลาสสิกหรือไม่คลาสสิกอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องของการหาเงินของสำนักพิมพ์ เพราะถ้าเกิดว่าตัวเท็กซ์ยังเป็นแบบเดิมอยู่ก็อาจจะขายไม่ดี ขายไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน คนอาจจะไม่อ่านแล้วก็ได้ คนอาจจะเอางานของดาห์ลไปโจมตีก็ได้ เขาก็เลยลุกขึ้นมาแก้ไขต้นฉบับ”

 

อ.มิ่งเน้นย้ำว่า “ตนเองไม่ได้กำลังจะบอกว่างานของดาห์ลไม่ดีหรือไม่สนุก แต่การเขียนหนังสือให้สนุกหรือมีข้อคิดน่าสนใจ กับการที่หนังสือสอดแทรกเนื้อหาหรือคุณค่าที่ไม่ดี อาจจะเป็นผลงานของนักเขียนคนเดียวกันก็ได้

 

“โดยเราอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการปรับแก้คำในลักษณะนี้ เพราะสุดท้ายแล้วในแง่หนึ่งคุณกำลังไปทำให้บริบทประวัติศาสตร์ของยุคนั้นที่สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมมันหายไปหรือเปล่า คุณกำลังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์บางอย่างอยู่หรือเปล่า ถ้าเราเป็นบรรณาธิการแล้วมีความรู้สึกว่า จะต้องแก้ไขหนังสือเล่มนี้จริงๆ เราจะใส่เชิงอรรถ ทำเป็นดอกจัน แทนการปรับเปลี่ยนหรือตัดคำ พร้อมทั้งอธิบายว่าในสมัยนั้นเป็นแบบนั้น ในสมัยนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มาจากยุคสมัยก่อนนะ จะให้อยู่คงกระพันตลอดไปก็เป็นไปไม่ได้ 

 

“ไม่ว่าจะเป็น เชกสเปียร์, เพลโต หรือใครก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยเชิงอรรถ เพราะมีบริบทของตัวเองที่ปัจจุบันอาจไม่สามารถที่จะเข้าใจหรือรับรู้ได้โดยง่าย หลายๆ คนเสพตัวหนังสือโดยลืมบริบทของงานชิ้นนั้นไป และตอนนี้กลายเป็นว่าเกิดกระแสพยายามที่จะปรับแก้เท็กซ์เพื่อให้งานเขียนชิ้นนั้นยังขายได้อยู่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในแง่หนึ่งสำนักพิมพ์ก็ต้องยอมรับก่อนว่า บางทีงานของดาห์ลอาจจะสูญพันธุ์ในยุคนี้ก็ได้ เพราะงานเขียนมีคุณค่าบางอย่างที่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว พอถึงช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะตกยุคไป และมีนักเขียนอีกเยอะมากที่สมัยก่อนดังมากๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ดังอีกต่อไปแล้ว” 

 

อ.มิ่งยังเสนออีกว่า “วิธีแก้สำหรับเราแล้ว อาจไม่ใช่การเอาเท็กซ์นั้นมาแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนคำเพื่อให้ดูดียิ่งขึ้น โดยที่ไม่บอกที่มาที่ไป อย่างน้อยคุณใส่คำเตือน หรือ Trigger Warning ไว้ข้างหน้าได้ คุณใส่เชิงอรรถ หรือมีข้อความอะไรบางอย่างถึงเด็กๆ หรือผู้อ่านสักหน่อยว่า ตรงนี้สมัยนี้เราไม่มีความเชื่ออะไรแบบนี้แล้ว เช่น ตัวละครที่อ้วนไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่ดี ไม่ได้เป็นคนละโมบหรือตะกละแต่อย่างใด และในอีกแง่หนึ่ง การปรับแก้เนื้อหาหรือการใช้คำเช่นนั้นเหมือนคุณกำลังดูถูกคนอ่านและดูถูกเด็กมากกว่า พวกเขาอาจจะไม่มีวิจารณญาณมากเพียงพอ จุดนี้เรามองว่าก็เป็นหน้าที่ของห้องสมุดด้วยที่จะมีส่วนช่วยให้เด็กได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย เข้าใจที่มาที่ไปของหนังสือ เล่มนั้นเขียนขึ้นในสมัยก่อนโน้น ท่ามกลางบริบทแบบโน้น เล่มนี้เขียนตอนนี้ในบริบทแบบนี้ ซึ่งไม่เหมือนกันเพราะสนับสนุนคุณค่าอะไรบางอย่างที่สังคมตอนนี้เห็นว่าดีกว่า

 

“เราต้องการชี้ให้เห็นว่า เรามีประวัติศาสตร์ของการใช้ภาษาและวัฒนธรรมเหล่านั้น แล้วการอ่านหนังสือสำหรับเรา เรามองว่าสิ่งนี้เป็นชุมชน (Community) ซึ่งควรจะอ่านและมาพูดคุยถกเถียงกัน วิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นว่ามีหลายด้านหลายมิติอีกด้วย 

 

“เท่าที่เราเข้าใจตอนนี้สำนักพิมพ์ Penguin ไม่ได้เซ็นเซอร์แค่งานเขียนของดาห์ลเท่านั้น แต่ยังเซ็นเซอร์งานของ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ที่เขียนนวนิยาย James Bond 007 ด้วย ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เจมส์ บอนด์ ก็ตกยุคไปแล้วจริงๆ โดยเราต้องยอมรับว่า เจมส์ บอนด์ ก็เป็นงานที่มีปัญหาจริงๆ ทั้งการเหยียดคนชาติพันธ์ุอื่น เหยียดเพศ เหยียดผู้หญิง แต่ก็อาจไม่ต้องไปปรับแก้อะไร ถ้าเราเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด เราก็จะเก็บหนังสือของเจมส์ บอนด์เอาไว้ แล้วสร้างชุมชนให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ ดีกว่าไปตัดเท็กซ์ ทำลายคำ เผาทิ้ง ยกเลิกหรืออะไรทำนองนี้”

 

การเคารพต้นฉบับสำคัญมากน้อยแค่ไหน

 

อ.มิ่งระบุว่า “สำหรับตัวเองนั้นสิ่งนี้ไม่ได้สำคัญ เพราะเมื่อเวลาคนเราอ่านหนังสือแล้วเกิดการวิจารณ์ขึ้น การวิจารณ์นั้นไม่ได้เป็นการไปฟันงานเขียนชิ้นนั้นให้ขาดรุ่ย แต่คุณต้องยอมรับว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นกระบวนการของการสร้างสรรค์ เวลาเราอ่านอะไรแล้วเราเห็นภาพในหัว แต่ละคนที่อ่านก็จะเห็นภาพไม่เหมือนกัน แม้จะอ่านหนังสือเล่มเดียวกันก็ตาม สำหรับเรา เรามองว่าการเคารพต้นฉบับไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงโดยสมบูรณ์ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราก็ตีความกันคนละอย่าง เห็นภาพกันคนละแบบ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้อ่าน

 

“ถ้าเรามองว่าการปรับแก้งานของดาห์ลเป็นการดัดแปลง (Adaptation) ของยุคสมัยนี้ได้ไหม ก็ได้ ก็ไม่ผิด แต่การเลือกใช้วิธีตัดหรือเปลี่ยนแปลงตัวเท็กซ์และบริบทไปเลยจะทำให้เราไม่เห็นประวัติศาสตร์ของต้นฉบับ สุดท้ายแล้วเราจะต้องปรับแต่งทุกอย่างเลยไหมเพื่อให้มันคงอยู่ในโลกใบนี้ได้

 

“ถ้าถามว่าการปรับเปลี่ยนคำหรือเนื้อหาถือเป็นการไม่เคารพต้นฉบับไหม คำถามต่อไปคือ สาเหตุที่คุณปรับเปลี่ยนให้เท็กซ์ให้เป็นแบบนี้คืออะไร เราไม่ขอซื้อคำว่า ไม่เคารพต้นฉบับ เพราะสำหรับเรา ต้นฉบับควรเป็นพื้นที่ที่คุณจะทำอะไรกับมันก็ได้ เป็นจุดที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ รู้ที่มาที่ไปว่าทำไปเพื่อใคร ทำไปเพราะอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเท็กซ์นั้นเกิดขึ้นในบริบทหนึ่ง มีบริบทเฉพาะเป็นของตัวเอง สุดท้ายแล้ว Adaptation ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามแรงกดดันของสังคม ตามคุณค่าที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งนี้ได้ในทุกขั้นตอน”

 

วัฒนธรรมการตื่นรู้ (Woke Culture) ในโลกวรรณกรรม

 

อ.มิ่งระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสวัฒนธรรมการตื่นรู้ในโลกวรรณกรรม แต่คำว่า Woke สำหรับเรานั้นเป็นอะไรที่มันเฝือมากๆ ทุกคนใช้คำคำนี้ทั้งในทางบวกและลบ แต่อาจจะลบมากกว่าหน่อย มันเป็นเรื่องที่ดีนะที่มีแนวร่วมมีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นต่างๆ อาทิ ปัญหาความไม่เท่าเทียม แต่มีวิธีการจัดการที่อาจจะไม่ได้ดีมากนัก เช่น คุณก็เปลี่ยนคำนี้สิ เปลี่ยนคำนั้นสิ กระแสหลายๆ อย่างที่คนมองว่า Woke แต่เรารับได้ก็มีไม่น้อย ในกรณีของโรอัลด์ ดาห์ลเอง ในแง่หนึ่งของการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการใช้คำใหม่นั้นอาจสะท้อนว่า คุณกำลังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์อะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า แล้วคุณไม่เชื่อเลยเหรอว่าคนอ่านอาจจะมีวิจารณญาณ”

 

โดย อ.มิ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นนี้อีกว่า “ปัญหาของคนในวงการ Woke บางคนมองเท็กซ์แบนมาก มองทุกอย่างเป็นดำขาว เช่น คุณมองว่าตัวละครนี้นำเสนอสิ่งนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ พวกเราแบนหนังสือเล่มนี้กันเถอะ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์เป็นความสร้างสรรค์ (Creativity) อย่างหนึ่ง

 

“เรากำลังจะสื่อว่า เวลาเราจะมาใช้ไอเดียในการพยายามจัดการกับวาทกรรมพวกนี้ คุณมองไม่เห็นศักยภาพ (Potential) ของเท็กซ์ในหลายๆ ด้าน เหมือนคุณตีความไปแล้วว่า ทุกคนจะอ่านในแบบเดียวกันกับคุณ ทั้งที่มันมีคนที่อ่านไม่เหมือนกัน มองและตีความไม่เหมือนกัน 

 

“ดังนั้นเราสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์โต้เถียงกันไปให้สุดทาง แต่ขณะเดียวกันคุณก็ต้องยอมรับเสียงเอคโคที่จะดังสะท้อนกลับมา ทุกคนที่เห็นการโต้เถียงนี้เขาก็จะมองเห็นเองว่าจะเลือกอยู่ฝั่งไหน เชื่อฝั่งไหน หรือฝั่งไหนมีเหตุมีผลมากกว่า เรารู้สึกว่า เดี๋ยวนี้อารมณ์ก็เข้ามามีส่วนอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันทางสังคมที่สะสมกันมานาน และทุกคนพร้อมที่จะระเบิดออก ประเด็นก็คือว่าเมื่อมีการปะทะกัน โต้เถียงกัน ฝั่งที่เห็นด้วยพูดว่าอะไร ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยพูดว่าอะไร แล้วผู้คนจะตัดสินเอง 

 

Keep the conversation going. คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้บทสนทนายังคงดำเนินต่อไป ไม่ใช่ว่ามีคนพูดอยู่ฝั่งเดียว แต่ต้องพูดได้ทุกฝั่ง แล้วเราก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน”

 

สุดท้ายแล้ววรรณกรรมหรืองานเขียนก็มีวันหมดอายุ เพราะมันเกิดขึ้นในบริบทหนึ่งที่ถือครองคุณค่าแบบหนึ่ง พอเวลาผ่านไปคุณค่านั้นอาจไม่ได้เดินไปกับสังคมปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว มันก็อาจจะเลือนหายหรือตายลงไปตามกาลเวลา ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจผูกโยงอยู่กับความพยายามในการชำระล้างอะไรบางสิ่งบางอย่างให้กับตัวผู้เขียน หรือเป็นไปด้วยเหตุผลและเงื่อนไขทางธุรกิจที่ถ้าไม่ปรับก็ขายไม่ออก หรืออาจผูกโยงอยู่กับความคิดที่อยากจะให้เด็กๆ หรือผู้อ่านได้เห็นภาพที่สอดคล้องกับบริบทสมัยนี้ เพื่อให้งานเขียนเก่าๆ เหล่านี้ยังคงโลดแล่นอยู่ในยุคปัจจุบันและยุคถัดๆ ไปได้

 

แล้วคุณล่ะ มีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นการแก้ไขคำหรือเนื้อหาในวรรณกรรมนี้?

 

ภาพ: Ronald Dumont / Daily Express / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising