×
SCB Omnibus Fund 2024

ส่องแนวโน้มกำไร บจ. ปี 64 นักวิเคราะห์มองเติบโตจากปีก่อน ชูกลุ่มท่องเที่ยว ค้าปลีก พลังงาน ฟื้นตัวเด่น

01.03.2021
  • LOADING...
ส่องแนวโน้มกำไร บจ. ปี 64 นักวิเคราะห์มองเติบโตจากปีก่อน ชูกลุ่มท่องเที่ยว ค้าปลีก พลังงาน ฟื้นตัวเด่น

ใกล้การประกาศกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดปี 2563 แล้ว จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ พบว่าส่วนมากมองกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 น่าจะต่ำกว่าปี 2562 แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่น่าประหลาดใจ ขณะเดียวกันเมื่อมองไปข้างหน้า นักวิเคราะห์เชื่อว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 น่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา กลุ่มที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนคือพลังงาน ธนาคาร ท่องเที่ยว และค้าปลีก 

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งบริษัทที่ทาง บล.เอเซีย พลัส รวบรวมอยู่ได้ประกาศออกมาแล้วราว 61% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ไม่รวม THAI) ที่ไตรมาส 4/63 อยู่ที่ราว 1.37% ปรับตัวดีขึ้น 13.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งถือว่ามีการฟื้นตัวที่ชัดเจนและดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่เปิดเผยแล้ว กำไรบริษัทจดทะเบียนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่ดีขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วนดี จึงยังไม่สามารถลงรายละเอียดรายธุรกิจได้ 

 

บล.เอเซีย พลัส ยังคงประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 (ไม่รวม THAI) ไว้ตามเดิม คือมีการเติบโตมากกว่า 30% มาอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 65 บาท

 

“แม้จะเห็นการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 แต่กำไรโดยรวมก็ยังไม่กลับไปเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่กำไรบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปีจึงจะได้เห็นกำไรบริษัทจดทะเบียนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อีกครั้ง” 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 (รายงานยังไม่ครบ) ส่วนมากเป็นไปตามคาดการณ์ คือกำไรปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

 

สำหรับแนวโน้มปี 2564 เบื้องต้นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไว้ที่ระดับ 77 บาทต่อหุ้น โดยกลุ่มที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มธนาคาร พลังงาน และบริการ โดยกลุ่มพลังงานและธนาคารเป็นการเติบโตตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจและราคาพลังงานในตลาดโลก 

 

ส่วนกลุ่มบริการ ซึ่งรวมถึงค้าปลีก ท่องเที่ยว ขนส่ง และโลจิสติกส์ จะฟื้นตัวหลังจากการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นกลับมา นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ 

 

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 40 บาทต่อหุ้น ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เนื่องจาก บมจ.การบินไทย (THAI) รายงานขาดทุนสุทธิ 1.4 แสนล้านบาท จึงฉุดภาพรวมทั้งหมด  

 

สำหรับแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 บล.บัวหลวง ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 86 บาทต่อหุ้น โดยกลุ่มที่น่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นคือกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว และการบิน เนื่องจากในปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์ประเทศ แต่ปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะกลับมา ซึ่งเรียกว่าเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำ 

 

ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี โรงกลั่น และพลังงาน น่าจะเติบโตตามวัฏจักรและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มธนาคารก็น่าจะเห็นการเติบโตที่ดีเช่นกัน

 

ส่วนกลุ่มที่กำไรทรงตัวคือกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายจากการประมูลคลื่นเกิดขึ้นในปี 2564 

 

“หากประเมินจากกำไรต่อหุ้นที่ระดับ 86 บาทต่อหุ้นตามที่ประเมิน ณ ระดับดัชนีที่ 1,500 จุด จะมีค่า P/E จะอยู่ที่ 17.4 เท่า ซึ่งก็ถือว่าไม่ถูกมาก” 

 

ทั้งนี้ กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 9 เดือน ปี 2563 จำนวน 672 บริษัท (ไม่รวมกลุ่มที่อยู่ระหว่างการแก้ไขผลการดำเนินงานและเข้าข่ายถูกเพิกถอน) มีกำไรสุทธิรวม 3.39 แสนล้านบาท ลดลง 49% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 6.69 แสนล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising