ในยุคดิจิทัล การสื่อสารได้ก้าวข้ามขอบเขตเดิมๆ โดยการพัฒนาที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเกิดขึ้นของ ‘สติกเกอร์’ กราฟิกที่สร้างสรรค์ สนุกสนาน และบางครั้งก็แปลกประหลาด
การเข้ามาของสติกเกอร์อยู่เหนือขอบเขตทางภูมิศาสตร์และความแตกต่างทางวัฒนธรรม สติกเกอร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงตัวตน สื่ออารมณ์ และอำนวยความสะดวกในการสื่อสารด้วยวิธีที่เบาสมองและสนุกสนาน
ทุกวันนี้สติกเกอร์กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก โดยมีผู้ใช้หลายล้านคนรวมสติกเกอร์เหล่านี้ไว้ในการสนทนาประจำวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดเคล็ดลับการสร้างสรรค์ LINE STICKERS เบื้องหลังที่ทำให้ ‘ครีเอเตอร์’ มากกว่า 200 คน ทำรายได้ทั่วโลกรวมมากกว่า 1 แสนล้านเยน
- “สติกเกอร์ก็เหมือนเครื่องสำอาง ต้องทำให้คนอยากใช้ทุกวัน” ผ่าแผนไปต่อของธุรกิจสติกเกอร์ไลน์
- LINE เผย 4 เทรนด์มาแรง ‘มูเตลู-แฟนด้อม-ช้อปออนไลน์-อัปสกิล’ ชี้มีแนวโน้มได้รับความนิยมยาวไปถึงปี 2566
สติกเกอร์ไม่เพียงทำให้การแชตของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ยังให้กำเนิด ‘เศรษฐกิจของครีเอเตอร์’ (Creators Economy) ขึ้นมา พื้นที่อันพลุกพล่านไปด้วยเหล่านักสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่เหล่าศิลปินได้แลกเปลี่ยนไอเดียอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาให้เป็นสติกเกอร์ที่สวยงาม
พื้นที่แห่งนั้นคือ LINE Creators Market ซึ่งเปิดเมื่อเดือนเมษายน 2014 และกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนความหลงใหลในการสร้างสรรค์ ให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับหลายๆ คน และเป็นบทพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยมถึงพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์
จากข้อมูลของ LINE พบว่า มีครีเอเตอร์ชั้นนำมากกว่า 200 คนที่ทำรายได้ทั่วโลกรวมมากกว่า 1 แสนล้านเยนใน 7 ปีที่ Creators Market เปิดขึ้นมา
ทุกอย่างมีวัฏจักรการขึ้นและลง เช่นเดียวกับ LINE stickers ซึ่งเราพบว่า “ก่อนหน้านี้การใช้งานค่อนข้างนิ่ง จนเมื่อมีการระบาดของโควิดการใช้งานก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนพบและเจอกันได้น้อยลง การแสดงอารมณ์ผ่านทางสติกเกอร์มากขึ้น” อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ Consumer Business, LINE ประเทศไทย กล่าว
ขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นคือ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเหล่านี้ สติกเกอร์มีความสำคัญมากขึ้น เพราะกลายเป็นช่องทางสร้างสรรค์ที่ช่วยให้ผู้คนแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตบนโลกที่มีการระบาดใหญ่ ไปจนถึงความสุขในการแบ่งปันเรื่องตลก เพื่อทำให้อารมณ์แจ่มใส
การใช้งานที่มากขึ้นและสถานการณ์ที่บีบให้ผู้คนบางส่วนไม่สามารถทำอาชีพเดิมของตัวเองได้ หลายคนจึงหันมาเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์ จนทำให้จำนวนพุ่งขึ้นจาก 5 แสนราย เป็น 1 ล้านราย ในจำนวนนี้ 10-20% คือกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้ประจำจากการทำ LINE stickers
กระนั้นแม้ว่าปริมาณการใช้ LINE Messenger จะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่การเติบโตของการใช้สติกเกอร์กลับเติบโตตามไม่ทัน ถึงคนไทยจะมีจำนวนสติกเกอร์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 120 ชุดต่อคนก็ตาม ช่องว่างนี้นำเสนอทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับ LINE ในการต่อยอดธุรกิจสติกเกอร์ต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ วัยรุ่นที่รู้จักกันในนามของดิจิทัลเนทีฟกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิทัล จำนวนแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตของพวกเขา ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้ LINE ต้องปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อรักษาความดึงดูดใจในหมู่ฐานผู้ใช้ที่สำคัญเหล่านี้
จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งาน LINE สติกเกอร์ยังคงอยู่ในระดับสูงมากที่ 86% และมีกว่า 90% ของผู้ใช้งานที่แจ้งว่า มีประสบการณ์การใช้งานที่สามารถปรับปรุงเพิ่มขึ้นได้ ความคิดเห็นนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงศักยภาพของสติกเกอร์ในการแสดงความรู้สึก และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปลดล็อกศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้นี้อย่างเต็มที่
“เรายังคงเชื่อใน Value ของสติกเกอร์ในการแทนความรู้สึก ซึ่งเรามองว่าเรายังสามารถดึงพลังของสติกเกอร์ที่แท้จริงออกมาได้ไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นแปลว่า เราต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อผลักดันศักยภาพของสติกเกอร์ออกมา”
อย่างไรก็ตาม เมื่อตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ LINE จึงมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่ที่มุ่งปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ในหลายด้าน
ข้อสังเกตหนึ่งที่เราเห็นได้ก่อนหน้านี้คือ การลดราคาค่อนข้างบ่อย เรื่องนี้อิสรียอมรับว่า กลยุทธ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนซื้อสติกเกอร์ แต่ต่อไป LINE จะเน้นสร้างคุณภาพของสติกเกอร์ให้มากขึ้น เพราะผู้บริโภคดูละเอียดมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสติกเกอร์สัก 1 ชุด
ขณะเดียวกันปัญหาทั่วไปอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้รายงานคือ ความยากลำบากในการค้นหาสติกเกอร์ที่เหมาะสม ทำให้ LINE stickers กำลังมองการพัฒนาฟีเจอร์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น
– การขายสติกเกอร์แยกเป็นรายตัว (จากที่ปกติขายเป็นเซ็ต)
– การแนะนำสติกเกอร์ในห้องแชตแบบอัตโนมัติให้เหมาะสมกับบทสนทนามากขึ้น
– ในไต้หวันและญี่ปุ่นมีบริการ LINE stickers แบบรายเดือนแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาตลาดและปรับปรุงระบบ เพื่อให้บริการในประเทศไทยต่อไป
“เราคาดว่าบริการ Subscription จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี หลักการคือจะให้ลูกค้าเลือกสติกเกอร์ได้ทีละ 5 ตัว ซึ่งท้ายที่สุดเราเชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่การซื้อในอนาคต” อิสรีกล่าว “ในช่วงแรก บริการ Subscription อาจทำให้ภาพรวมตกลงไป แต่ที่สุดแล้วเราเชื่อว่ายอดขายจะกลับมาเติบโตได้”
สำหรับ LINE stickers กุญแจสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ความสามารถในการสร้างสรรค์ ปรับเปลี่ยน และยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว โลกของสติกเกอร์ ความเป็นไปได้นั้นไร้ขีดจำกัดพอๆ กับจินตนาการของเรา
- ในช่วงปีที่ผ่านมา LINE stickers ได้จัดกิจกรรม LINE STICKERS CONTEST 2022 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดครีเอเตอร์ ด้วยบททดสอบจากการออกแบบสติกเกอร์ภายใต้หัวข้อ ‘สติกเกอร์ต้องมี’ และขายจริงในตลาด โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 800 ผลงาน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะเลิศที่ทำผลงานยอดเยี่ยมและยอดขายสูงสุดในแต่ละประเภทจำนวน 12 คน
- ทั้งหมดได้เข้าร่วมทริป LINE STICKERS CONTEST 2022 ซึ่งได้ไปศึกษาดูงานและเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยจะเข้าชมสถานที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบต่างๆ ตลอด 2 วันเต็ม เช่น พิพิธภัณฑ์ Ghibli, ร้าน LINE Creators Shop, พิพิธภัณฑ์ Snoopy, พิพิธภัณฑ์ Fujiko·F·Fujio นักวาดการ์ตูนผู้โด่งดัง เป็นต้น
- ตอนนี้กิจกรรม LINE STICKERS CONTEST 2023 หรือการประกวดวาดสติกเกอร์ LINE ปีที่ 8 ได้เปิดรับสมัครแล้ว
- การประกวดในครั้งนี้เปิดโอกาสให้กับครีเอเตอร์มือเก๋าและครีเอเตอร์หน้าใหม่ได้ร่วมกันส่งผลงานสุดเจ๋งเข้าประกวด โดยจะแบ่งเป็น 3 ช่วงการแข่งขัน และมีผู้ชนะรวมทั้งหมด 12 คน โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลตั๋วบินลัดฟ้าไปประเทศญี่ปุ่นฟรีๆ พร้อมเยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจและกิจกรรมสุดพิเศษ
- ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่: https://creator-mag-th.weblog.to/LINEStickersContest2023.html