×

“สติกเกอร์ก็เหมือนเครื่องสำอาง ต้องทำให้คนอยากใช้ทุกวัน” ผ่าแผนไปต่อของธุรกิจสติกเกอร์ไลน์

14.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • สิ่งที่ LINE ประเทศไทย กำลังผลักดันให้ธุรกิจ ‘สติกเกอร์’ เติบโตคือการพัฒนาและเพิ่มจำนวนครีเอเตอร์ เพราะยิ่งครีเอเตอร์ออกสติกเกอร์มากขึ้นก็จะดึงดูดให้คนโหลดมากขึ้นด้วย ปัจจุบันมีครีเอเตอร์ฟูลไทม์อยู่ประมาณ 10% จากครีเอเตอร์ทั้งหมด 3.5 แสนคน 
  • ปัจจุบันทั่วโลกมี ‘ครีเอเตอร์สติกเกอร์ไลน์’ 2 ล้านคน ทำรายได้รวมกันมากกว่า 6.9 หมื่นล้านเยน หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้รายได้ที่มาจากท็อปครีเอเตอร์ 10 อันดับแรกรวมกันอยู่ที่ 773 ล้านเยน หรือประมาณ 212 ล้านบาท ‘ญี่ปุ่น’ รั้งประเทศที่มียอดขายมากที่สุด ตามด้วยไต้หวันและไทย
  • ทิศทางต่อไปนอกเหนือจากเพิ่มจำนวนครีเอเตอร์แล้ว LINE เตรียมขยายช่องทางชำระเงิน ด้วยลูกค้าบางส่วนอยากได้สติกเกอร์ แต่ไม่รู้จะจ่ายเงินอย่างไร โดยจะมีการเพิ่มจำนวนร้านค้าตัวแทนให้ได้ 500 ร้านภายในไตรมาสแรก รวมไปถึงเตรียมจับมือกับบรรดา Mobile Banking ด้วย
  • LINE มองความท้าทายของธุรกิจ ‘สติกเกอร์ไลน์’ โดยมองว่าสติกเกอร์ก็เหมือนเครื่องสำอาง ถ้าไม่อยากใช้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ ดังนั้นจึงต้องทำให้คนอยากใช้ทุกวัน

เป็นอีก 1 ปีที่เราได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปสู่แดนซามูไรกับทริป ‘LINE Creators Market Sticker Contest’ ซึ่งพาครีเอเตอร์ที่ชนะการประกวดในปีที่ 5 ไปค้นหาแรงบันดาลใจถึงประเทศที่ตลาดสติกเกอร์ไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของตัวการ์ตูนชื่อดังมากมาย

 

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากการเดินทางไปในปีนี้คือครีเอเตอร์มีช่วงวัยที่หลากหลายมากขึ้น และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเท่านั้น เพราะผู้ที่มีอายุมากที่สุดในทริปคือ 59 ปี ในขณะที่วัยเด็กสุดคือเพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ ก็มีเช่นเดียวกัน

 

อีกสิ่งที่เห็นคือ ‘ครีเอเตอร์’ หลายคนเลือกที่ทำแบบฟูลไทม์มากขึ้น ด้วยรายได้ที่เข้ามาเพียงพอจะสามารถอยู่ได้ จากการพูดคุยกับครีเอเตอร์ที่เล่าให้ฟังว่าบางรายสามารถสร้างรายได้ 6-7 หลักเลยก็มี หากสติกเกอร์ชุดนั้นประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ 

 

 

แต่ใช่ว่าจู่ๆ เพิ่งทำแล้วจะมีรายได้เท่านี้เลย ต้องอาศัยเวลา ประสบการณ์ สังเกตพฤติกรรมผู้ใช้ ดูว่าชอบแบบไหนแล้วจึงนำมาปรับใช้ บางคนใช้เวลา 2 ปีในการหาเส้นทางของตัวเอง วาดสติกเกอร์เป็นร้อยๆ ถึงจะเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับประจำจนนำมาซึ่งรายได้

 

การผลักดันครีเอเตอร์ให้ขยับมาสู่ฟูลไทม์เป็นสิ่งที่ ‘LINE ประเทศไทย’ ผลักดันมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย อธิบายว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีครีเอเตอร์ประมาณ 3.5 แสนคน ในจำนวนนี้ 30% คือคนที่แอ็กทีฟ หมายถึงมีสติกเกอร์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ หากจะถามว่ามีคนที่ทำฟูลไทม์หรือไม่ ปัจจุบันน่าจะมีสัดส่วนราวๆ 10% 

 

“ตอนนี้คนที่มาเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์ไลน์มีหลากหลายมากเลย เช่น มีคนหนึ่งที่เมื่อก่อนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำงานในห้องแล็บวิจัย อยู่ดีๆ ก็เริ่มเบื่องานที่ทำ จนมาทำสติกเกอร์แล้วขายดี งานที่ทำเป็นอาชีพมาตลอดกลายเป็นงานเสริม แล้วมาวาดสติกเกอร์เป็นหลัก ถ้าเป็นคนอื่นๆ ส่วนมากจะอยู่ในวงการครีเอทีฟพวกนี้อยู่แล้ว” 

 

 

(ขวา) อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย

 

ถอดรหัส 5 เหตุผลที่ทำให้ ‘สติกเกอร์ไลน์’ ในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ 

ปัจจุบันทั่วโลกมีครีเอเตอร์สติกเกอร์ไลน์ 2 ล้านคน ทำรายได้รวมกันมากกว่า 6.9 หมื่นล้านเยน หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้รายได้ที่มาจากท็อปครีเอเตอร์ 10 อันดับแรกรวมกันอยู่ที่ 773 ล้านเยน หรือประมาณ 212 ล้านบาท 

 

‘ญี่ปุ่น’ รั้งประเทศที่มียอดขายมากที่สุด ตามด้วยไต้หวันและไทย สาเหตุที่ทำให้ไต้หวันซึ่งมีประชากรเพียง 23-24 ล้านคนสามารถทำยอดขายแซงไทยได้เป็นเพราะคนไต้หวันใช้บัตรเครดิตเป็นปกติ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการจ่ายเงิน ซึ่งต่างจากไทยที่แม้ผู้ใช้จะอยากได้ แต่บางส่วนก็ยังไม่รู้จะจ่ายเงินอย่างไร 

 

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้น ความสำเร็จจนขึ้นเป็นประเทศที่มียอดขายมากที่สุดในโลกมาจาก 5 เหตุผลด้วยกัน

 

1. สติกเกอร์ = การสื่อสาร คนญี่ปุ่นชอบใช้สติกเกอร์เพราะสามารถเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับได้ดี ไม่ใช่แค่การส่งรูปตัวการ์ตูนอย่างเดียว ดังนั้นหน้าที่ของครีเอเตอร์จึงต้องออกแบบสติกเกอร์ที่สามารถสื่อสารได้ตรงความหมายมากที่สุด

 

 

2. สร้างสรรค์ให้ตรงกับเทรนด์ ในญี่ปุ่นมีผู้ใช้ LINE 80 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 128-129 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 50% เป็นผู้หญิง และมากกว่า 1 ใน 4 อายุมากกว่า 50 ปี ดังนั้นการออกสติกเกอร์จึงต้องดูจากเทรนด์ของผู้ใช้ว่าเป็นใครและชื่นชอบแบบไหน สติกเกอร์จึงจะได้รับความนิยม 

 

3. สร้างสรรค์เป็นคอลเล็กชัน การทำสติกเกอร์ไม่ควรจะออกมาเพียงชุดเดียวแล้วหายไปเลย แต่ควรทำออกมาเป็นคอลเล็กชันหรือซีรีส์เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน จะกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากซื้อมากขึ้น

 

4. โปรโมตสติกเกอร์ในช่วง Peak Time ด้วยความที่จำนวนสติกเกอร์มีเป็นจำนวนมาก ทุกชุดไม่อาจผ่านสายตาของลูกค้าได้หมด ดังนั้นการโปรโมตสติกเกอร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ 

 

อย่างในญี่ปุ่น คนจะจับสมาร์ทโฟนของตัวเองในช่วงพักเที่ยง (12.00-13.00 น.) และช่วงเย็นตอนที่กลับบ้าน (17.00-19.00 น.) ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมที่สุด รวมทั้งการออกสติกเกอร์ในช่วงวันอังคารและพฤหัสบดี ซึ่งเป็นช่วงที่คนหยิบสมาร์ทโฟนมาใช้มากกว่าวันอื่นๆ 

 

5. Continuation is Power อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันหากต้องการเป็นที่รู้จักคือความต่อเนื่องในการออกสติกเกอร์ชุดใหม่ ตัวอย่างเช่น Yuji Nishimura ซึ่งปัจจุบันมีสติกเกอร์ทั้งหมด 540 ชุด 

 

 

สิ่งที่ LINE ต้องทำคือดูว่าคนอยากใช้สติกเกอร์เป็นตัวแทนสื่ออารมณ์อยู่หรือเปล่า ถ้ายังสามารถสื่อไปหาคนรอบตัวได้ เราก็คิดว่าธุรกิจยังไปต่อได้ แต่ถ้าวันหนึ่งคนรู้สึกว่าเป็นสินค้าสิ้นเปลืองก็จะไม่ซื้อแล้ว แต่ถ้าคอนเทนต์ดีคนก็ยังซื้อ ก็จะเป็นความท้าทายว่าเราจะทำคอนเทนต์ออกมาได้ดีหรือเปล่า

 

ยกระดับครีเอเตอร์และช่องทางการขาย

สำหรับทิศทางธุรกิจสติกเกอร์ต่อจากนี้ อิสรีบอกว่าอยากพัฒนาตลาดไทยให้เป็นเหมือนในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน โดยไม่อยากให้ครีเอเตอร์มองว่าเป็นงานอดิเรกที่ทำนานๆ ครั้ง อยากให้ทำเป็นงานออกมาเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องถึงกับลาออกมาเป็นครีเอเตอร์เต็มตัวก็ได้ พร้อมกับยกระดับให้สามารถจำหน่ายในตลาดโลกได้

 

“ตอนนี้มีคาแรกเตอร์ 28 ตัวที่ได้เข้าไปชิมลางขายในระดับโลกแล้ว บางคาแรกเตอร์กลายเป็นอันดับ 1 ที่ไต้หวันและอินโดนีเซีย ซึ่งหากเป็นสติกเกอร์ที่มีเสียงก็จะได้รับการแปลให้เป็นภาษาในประเทศนั้นๆ ด้วย”

 

ในปีนี้การเวิร์กช็อปยังมีต่อไป แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง เช่น ในคลาสอาจจะระบุว่าขอผู้เข้าร่วมเฉพาะนักศึกษาที่เรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อติดตามต่อไปว่ามีความสนใจมากน้อยแค่ไหนในการเข้ามาเป็นครีเอเตอร์ 

 

 

ส่วนในแง่ของผู้ใช้ ทิศทางต่อจากนี้จะเน้นพัฒนาช่องทางในการชำระเงินต่อไป ด้วยยังมีผู้ใช้อีกมากที่อยากได้สติกเกอร์ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายเงินอย่างไร นอกเหนือจากการเพิ่มร้านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ภายในไตรมาส 1 นี้จะต้องมี 500 ราย ทาง LINE ยังเตรียมจับมือกับบรรดา Mobile Banking แต่รายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้ 

 

สำหรับความท้าทายของธุรกิจสติกเกอร์ เรามองว่าสติกเกอร์เหมือนเครื่องสำอาง วันดีคืนดีคนก็ไม่อยากกรีดตาแล้ว ก็อาจจะเลิกซื้อ อีกทั้งนี่ยังไม่ใช่ปัจจัย 4 ถึงแม้ว่าคุณไม่มีสติกเกอร์ แต่คุณก็ยังสามารถพิมพ์ได้

 

 

สติกเกอร์ก็เหมือนเครื่องสำอาง ต้องทำให้คนอยากใช้ทุกวัน

ปัจจุบันผู้บริโภค 1 คนมีสติกเกอร์เฉลี่ย 40 ชุด โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัย First Jobber ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ผู้ชายใช้มากขึ้น ก่อนหน้านี้พยายามออกสติกเกอร์หลายชุด แต่สุดท้ายผู้ชายบอกว่าไม่กล้าใช้ 

 

แต่ตอนนี้เริ่มจับทางได้แล้ว โดยนำคาแรกเตอร์ที่คิดว่าไม่ว่าคนรุ่นไหนก็รู้จักให้ใช้งานง่ายขึ้น ไม่หวาน แต่ก็ไม่แข็งเกินไป ตอนนี้ก็เริ่มเห็นว่าผู้ชายใช้มากขึ้น เช่น คาแรกเตอร์สามก๊กหรือขายหัวเราะ

 

สำหรับเทรนด์สติกเกอร์ที่กำลังมาแรง อิสรีมองว่าจะเป็นรูปสัตว์ เช่น กระต่าย หรือหมู รวมไปถึงสติกเกอร์ภาษาถิ่นที่มีคำจิกกัดเล็กๆ อีกด้วย

 

“สำหรับความท้าทายของธุรกิจสติกเกอร์ เรามองว่าสติกเกอร์เหมือนเครื่องสำอาง วันดีคืนดีคนก็ไม่อยากกรีดตาแล้ว ก็อาจจะเลิกซื้อ อีกทั้งนี่ยังไม่ใช่ปัจจัย 4 ถึงแม้ว่าคุณไม่มีสติกเกอร์ แต่คุณก็ยังสามารถพิมพ์ได้”

 

“สิ่งที่ LINE ต้องทำคือดูว่าคนอยากใช้สติกเกอร์เป็นตัวแทนสื่ออารมณ์อยู่หรือเปล่า ถ้ายังสามารถสื่อไปหาคนรอบตัวได้ เราก็คิดว่าธุรกิจยังไปต่อได้ แต่ถ้าวันหนึ่งคนรู้สึกว่าเป็นสินค้าสิ้นเปลืองก็จะไม่ซื้อแล้ว แต่ถ้าคอนเทนต์ดีคนก็ยังซื้อ ก็จะเป็นความท้าทายว่าเราจะทำคอนเทนต์ออกมาได้ดีหรือเปล่า”

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจสติกเกอร์เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับ LINE ประเทศไทย

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising