สำหรับ LINE MAN แม้วันนี้แม่ทัพใหญ่อย่าง ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ จะยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำแล้วว่า LINE MAN คือเบอร์ 1 ของ Food Delivery ในแง่ของจำนวนมูลค่าธุรกรรม แต่ถึงกระนั้นการสร้าง Awareness หรือการรับรู้ต่อแบรนด์ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
นี่เองเลยเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการขึ้นเหนือเพื่อไปจัดงาน ‘LINE MAN Wongnai x ททท. ฟู้ดเฟสติเว่อร์ เรื่องกิน เล่นใหญ่เว่อร์’ ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน ระหว่างวันที่ 11-15 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานตลอด 5 วัน กว่า 65,000 คน โดยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ชาวต่างชาติ และคนในจังหวัดเชียงใหม่
ทำไมถึงต้องเป็นเชียงใหม่? เพราะนี่คือจังหวัดที่ติด Top 3 ซึ่งหากไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นเบอร์ 1 แล้ว เชียงใหม่คือจังหวัดที่ผลัดกันขึ้นลงเบอร์ 2 และ 3 กับชลบุรีอยู่เสมอ
ในขณะที่ชลบุรีจะได้ฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มพนักงานนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงนักท่องเที่ยว แต่เชียงใหม่นั้นถือเมืองการศึกษาจึงได้ฐานลูกค้านักศึกษา แต่สิ่งที่ต่างจากเมืองการศึกษาอื่นๆ อย่างขอนแก่น ที่เมื่อปิดเทอมจำนวนการสั่งซื้อก็จะลดลงไป แต่เชียงใหม่กลับมีทั้งคนในท้องถิ่น ผู้ที่เข้ามาทำงาน รวมถึงนักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนธุรกรรมคึกคักตลอดทั้งปี
สำหรับ LINE MAN แล้วเชียงใหม่ถูกยกให้เป็น ‘เมืองศักยภาพที่เติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 1’ จากจำนวนร้านอาหาร 76,000 ร้าน โดยอำเภอที่มีร้านอาหารหนาแน่นที่สุด Top 3 ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันทราย และอำเภอสันกำแพง
เจาะลึกเข้าไปพบว่า Top 5 เมนูที่คนเชียงใหม่สั่งมากที่สุดคือ ตำปูปลาร้า, อเมริกาโน, ชาไทย, ข้าวมันไก่ และขนมจีนน้ำเงี้ยว ขณะที่เมนูที่มาแรงที่สุด ได้แก่ ชาไทย, บะหมี่ไก่ฉีก, ข้าวขาหมู, หม่าล่า และข้าวมันไก่ ส่วนเมนูอาหารเหนือที่ถูกค้นหามากที่สุดคือ ขนมจีน, ลาบคั่ว และข้าวซอย
อย่างที่บอกว่าฐานลูกค้า LINE MAN ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งมีผู้ใช้ชาวจีนที่ใช้ LINE MAN MINI App บน WeChat เพิ่มขึ้นกว่า 26% โดยเมนูขายดีที่นักท่องเที่ยวจีนสั่งมากที่สุดเมื่อมาเที่ยวเชียงใหม่คือ ก๋วยเตี๋ยว, กะเพรา และหม่าล่า
เมื่อย้อนกลับมามองภาพรวมของตลาด Food Delivery ทั้งประเทศ ข้อมูลจาก Google TH SEA eConomy 2024 ระบุว่า มูลค่าตลาดปี 2567 อยู่ที่ราว 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ LINE MAN มูลค่าธุรกรรมเติบโต 35% ในระหว่างเดือนมกราคม 2566 – ตุลาคม 2567 และยอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น
สำหรับตลาด Food Delivery ปี 2567 ในมุมของ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai มองว่าเป็นปีนี้เป็นปีแห่งความเป็นจริง เพราะที่ผ่านมาคนมักถามเสมอว่า Food Delivery จะเติบโตได้ไหมหลังโควิด แต่ตัวเลขก็บอกได้ถึงการเติบโตแม้จะไม่มากเท่ากับช่วงโควิด นี่จึงเป็นภาพสะท้อนตลาดที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป
ยิ่งปี 2568 จะเห็นชัดมากกว่านี้อีก เพราะภาพของผู้เล่นในตลาดเริ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่มีอยู่ 4-5 รายในวันนี้ อนาคตอาจมีพื้นที่ยืนให้กับผู้เล่นไม่เกิน 3 รายเท่านั้น
“สำหรับ LINE MAN เราให้เกียรติผู้เล่นในตลาดนี้ทุกคน โดยคู่แข่งยังแข็งแกร่ง เราเองไม่ได้สบายใจกับส่วนแบ่งตลาดที่ห่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาตัวเองทั้งฟีเจอร์ การเพิ่มจำนวนร้านอาหารใหม่ๆ จากที่มีอยู่แล้วมากกว่า 1 แสนร้านค้า เพราะตามสถิติอายุของร้านอาหารในไทยจะอยู่ราว 3 ปี และเปิด-ปิดในสัดส่วน 25% ทุกปี” แม่ทัพ LINE MAN กล่าว
ในแง่ของฐานลูกค้ากลุ่มคนที่ใช้งานอยู่แล้วก็ใช้ต่อไป แต่คนที่เป็นลูกค้าหน้าใหม่คือกลุ่มที่เป็นวัยเรียนมหาวิทยาลัยที่เริ่มได้สั่งอาหารเอง ขณะที่กลุ่ม 30-40 ปีที่ใช้เป็นประจำก็ยังใช้ต่อเนื่อง ไม่ได้หายไปจากตลาด”
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เล่นในตลาด Food Delivery ที่จะลดลงนั้นอาจไม่ได้มาจากการที่ผู้เล่นในตลาดด้วยกันเข้าไปควบรวมกิจการ แต่ยอดมองว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่แต่อยากกระโดดลงมาในตลาด Food Delivery เสียมากกว่า เพราะจะได้เข้าสู่ตลาดที่ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างฐานลูกค้า
ส่วนเราจะได้เห็นการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น คงต้องตามต่อในอนาคต