×

คนไทยขี้เกียจเดินแค่ไหนในระดับโลก?

14.07.2017
  • LOADING...

     รู้ๆ กันอยู่ว่าการเดิน นอกจากจะช่วยเผาผลาญพลังงานและเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้วยังดีต่อหัวใจด้วย แต่สังเกตไหมว่าเราเดินกันมากน้อยเพียงใด?

     มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้วิเคราะห์การเดินเป็นจำนวนก้าวในแต่ละวันของผู้คนราวๆ 7 แสนคน ใน 46 ประเทศทั่วโลก โดยทำการเก็บตัวเลขเป็นระยะเวลา 68 ล้านวัน ซึ่งตัวเลขนี้มาจากเซนเซอร์ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน Argus ที่กลุ่มทดสอบใช้งาน

     โดยสก็อตต์ เดล์ป ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวเวช หนึ่งในผู้นำการวิจัยกล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า “การศึกษาเรื่องความเคลื่อนไหวของมนุษย์ครั้งนี้ใหญ่กว่าการศึกษาไหนๆ ที่เคยทำมาถึงหนึ่งพันเท่า” โดยเขาอธิบายว่า “แม้จะมีการทำสำรวจมากมายเรื่องสุขภาพ แต่ผลงานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากหลายประเทศ และติดตามความเคลื่อนไหวของคนในหลายแง่มุมมากกว่าเก่า”

 

 

     จากการศึกษานี้ เมื่อคำนวณการเดินของคนทั่วโลกแล้ว ผลเฉลี่ยอยู่ที่ 4,961 ก้าวต่อวัน โดยประเทศที่ครองแชมป์ทั้งนำและโหล่นั้นอยู่ในเอเชียทั้งคู่ ชาติที่สวมหัวใจเป็นนักเดินมากที่สุดคือฮ่องกง ที่ประชากรเดินสูงสุดโดยเฉลี่ยถึง 6,880 ก้าวต่อวัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย (ที่ติดท็อปประเทศที่รถติดเป็นอันดับ 3 ของโลกใกล้เคียงกับไทย) อยู่ท้ายตารางของทั้งโลกที่ 3,513 ก้าวต่อวัน ในขณะที่ไทยติดอยู่ที่อันดับที่ 31 ของโลกที่ 4,764 ก้าวต่อวัน ตามหลังเมืองลุงแซมในอันดับ 30 ที่จำนวนการเดิน 4,774 ก้าวต่อวัน

     งานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่บน Nature เว็บไซต์วารสารรวบรวมงานวิจัย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงการเคลื่อนไหวที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนแอ็กทีฟที่สุดและคนที่ขี้เกียจที่สุด (ไม่ต่างกับช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุดและจนที่สุดนั่นแหละ) นักวิจัยพบว่า ยิ่งมีการขยับตัวต่างกันมาก ก็ยิ่งมีอัตราโรคอ้วนในประเทศนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย

     ทิม อัลธอฟฟ์ *หนึ่งในนักวิจัยในโครงการนี้ระบุว่า “สวีเดนมีความแตกต่างระหว่างคนที่เคลื่อนไหวมากที่สุดกับต่ำที่สุดน้อยมาก และสังเกตว่าเป็นประเทศที่มีอัตราคนอ้วนต่ำที่สุดในโลกตามไปด้วย” ในขณะที่ถ้าเทียบจำนวนการเดินโดยเฉลี่ยระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกนั้นพบว่าไม่แตกต่างกันมาก แต่อเมริกากลับมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าระหว่างคนกระฉับกระเฉงที่สุดกับคนที่เฉื่อยสุด และอเมริกาก็ติดอันดับประเทศที่มีประชากรอ้วนที่สุดในโลกเช่นกัน

 

 

     การค้นคว้านี้ยังทำให้นักวิจัยประหลาดใจ เนื่องจากความแตกต่างนี้ยังเห็นได้ชัดทั้งในชายและหญิง ประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราโรคอ้วนและมีช่องว่างระหว่างความกระฉับกระเฉงต่ำ ชายและหญิงญี่ปุ่นกลับออกกำลังกายมากพอๆ กัน ในขณะที่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย กลับเห็นได้ชัดว่าผู้หญิงขยับตัวน้อยกว่าผู้ชายมาก และนั่นยังเชื่อมโยงกับปัญหาโรคอ้วนอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้สามารถสื่อถึงความกระฉับกระเฉงของคนในแต่ละท้องที่ และทีมงานผู้ทำการวิจัยมองว่า การศึกษาครั้งนี้ช่วยอธิบายถึงรูปแบบที่นำไปสู่ปัญหาโรคอ้วนในแต่ละพื้นที่ได้ ทั้งยังหวังว่าจะสามารถกระตุ้นการวางผังเมืองให้เอื้อแก่การขยับร่างกายของผู้คนมากขึ้นอีกนิด

     นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้จากแอปพลิเคชัน Argus ยังแสดงให้เห็นว่า เมืองในสหรัฐฯ อย่างฮิวสตันและเมมฟิส ได้รับการโหวตว่าเป็นเมืองที่ไม่เหมาะกับการเดินที่สุด ขณะที่นิวยอร์กและซานฟรานซิสโก เป็นเมืองที่เป็นมิตรมากกับคนเดินถนน

     รู้อย่างนี้ก็หันกลับมามองพื้นทางเท้าบ้านเราบ้าง แล้วถามตัวเองอีกครั้งดังๆ ว่า

     “เมื่อไรเราจึงจะได้เดินกันอย่างสะดวกสบายมากขึ้นนะ?”

 

ภาพประกอบ: tinythien

อ้างอิง:

FYI

*THE STANDARD มองว่ามีข้อขัดแย้งอยู่ในการสรุปเรื่องนี้ เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ติดอันดับการเดินเยอะที่สุดในโลกที่ 6,189 ก้าวต่อวันกลับถูกจัดอันดับไปเมื่อเดือนเมษายนในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ในฐานะประเทศที่มีคนอ้วนเยอะเป็นอันดับสองของโลก โดยมีจำนวนผู้ใหญ่ที่จัดว่าอ้วนถึง 57.3 ล้านคน

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising