×

รู้จักวิทยาศาสตร์การตัดสินใจที่อธิบายว่า ทำไมคุณมักเลือกคุยกับคนที่แต่งตัวดีเป็นอันดับแรก?

20.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • วิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ (Cognitive and Decision Sciences) ช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้โดยมีทักษะการตัดสินใจที่ดี เช่น ฮิวริสติกที่ช่วยในการคัดกรองเรื่องราวต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจผ่านการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยความรวดเร็ว
  • ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ประกอบไปด้วย การเข้าใจตัวเอง (Intrapersonal Intelligence) และเข้าใจคนรอบข้าง (Inter-Personal Intelligence) ซึ่งเป็นสองสิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
  • การเล่นโซเชียลมีเดียเป็นสัญชาตญาณในการอยู่รอดรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ เพราะทำให้เราได้รับรู้ข่าวสาร อัพเดตความเป็นไปของคนในสังคม แต่ปัญหาที่ตามมาคือการเห็นแค่ภาพชีวิตดีๆ ของเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย ทำให้ใครหลายคนกดดันตัวเองจนเป็นโรคซึมเศร้า

     เคยสงสัยตัวเองไหม ทำไมเราถึงมักจะเลือกทักเพื่อนใหม่ในงานปาร์ตี้ที่แต่งกายดี ดูภูมิฐาน มากกว่าอีกคนที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย หนวดเครารุงรัง

     อย่าเพิ่งด่วนสรุปจนพานคิดว่าตัวเองเป็นพวกเหยียดชนชั้นหรือมองคนแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะ แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ (Cognitive and Decision Sciences) อาจจะอธิบายที่มาของการกระทำเหล่านั้นได้มากกว่าที่คุณคิด!

     หลังจบการศึกษาหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรี เธอเลือกศึกษาต่อด้าน ‘วิทยาศาสตร์การตัดสินใจ’ ในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) สหราชอาณาจักร ก่อนหันมาเอาดีด้านจิตวิทยาเต็มตัว

     เราจึงอยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับความหมาย ประโยชน์ และความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ ผ่านคำบอกเล่าจากแครธรินไปพร้อมๆ กัน

 

 

คุณเริ่มมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจได้อย่างไร

     เราจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจมา แต่การจะเป็นนักเรียนธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ‘จิตวิทยาและอารมณ์’ ซึ่งก่อนหน้านี้เราชอบศึกษาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ด้วยการอ่านหนังสือมาตั้งแต่สมัยที่เรียนปริญญาตรีแล้ว เลยเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจในระดับปริญญาโท

     เราพบว่ามันเป็นศาสตร์ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจจิตวิทยาของตัวเองเวลาที่ใช้สมองในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต เข้าใจว่าอารมณ์และองค์ประกอบอื่นๆ มีผลกับการตัดสินใจอย่างไร ได้เรียนรู้ว่ามีช่องโหว่อะไรบ้างที่ทำให้มนุษย์เกิดการตัดสินใจผิดพลาด เช่น กระบวนการตัดสินใจแบบฮิวริสติก (Heuristic) ซึ่งเราก็จะเน้นศึกษาเรื่องจิตวิทยาการใช้สมองและการตัดสินใจเป็นหลัก เพื่อให้มีการตัดสินใจที่สามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ ซึ่งพอเรียนไปสักพักก็เกิดความคิดว่าอยากมุ่งเน้นค้นคว้าเรื่องการวิจัยแทนการบริหารธุรกิจ หรือเป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกิจไปเลย เพราะพบว่าประโยชน์ของมันมีมากกว่านั้นเยอะ เราสามารถนำความรู้ในด้านนี้มาช่วยทั้งตัวเองและคนอื่นๆ ได้

 

การศึกษาวิทยาศาสตร์การตัดสินใจที่ว่าเป็นอย่างไร

     เราได้เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์จิตวิทยาและความเป็นมาต่างๆ รู้จักส่วนต่างๆ ของสมองกับการทำหน้าที่ตัดสินใจและเเสดงอารมณ์ เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่จะเอาช่องโหว่ในด้านต่างๆ มาทำงานวิจัย ยกตัวอย่างเช่น กรณีฮิวริสติกที่เมื่อมีคนเดินเข้ามาหาเราสองคนพร้อมๆ กัน คนหนึ่งแต่งตัวสกปรก ซอมซ่อ หนวดเครารุงรัง ส่วนอีกคนแต่งตัวดูดี ภูมิฐาน เราก็อยากจะเดินเข้าไปคุยกับคนที่แต่งตัวดีมากกว่า เพราะในสมองจะมีการสร้างความคิดเชื่อมโยงกันว่าคนที่แต่งตัวดีไม่น่าจะทำอันตรายกับเรา คนแต่งตัวสกปรกอาจจะเป็นอาชญากรที่ทำร้ายเราได้ รูปแบบนี้คือการตัดสินใจแบบเชื่อมโยงล่วงหน้า (Pre-Association) ทั้งๆ ที่คนแต่งตัวซอมซ่ออาจจะเป็นจิตรกรชื่อดัง หรือเป็นคนที่น่าสนใจก็ได้
     โดยกระบวนการตัดสินใจแบบฮิวริสติกจะเป็นการทำงานของสมองเพื่อจุดประสงค์ให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตและทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยความรวดเร็วผ่านการสกรีนสิ่งต่างๆ ออกไป ซึ่งบางครั้งก็อาจจะพลาดเรื่องบางเรื่องและรายละเอียดของบางสิ่งบางอย่าง แต่หากเรามัวมานั่งคิดถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของทุกสิ่ง มันก็อาจจะสร้างความอันตรายให้กับเราได้เหมือนกัน ฉะนั้นฮิวริสติกจึงเป็นกระบวนการที่สมองสร้างทางลัดขึ้นมาให้เราสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยความรวดเร็ว

 

ผู้ที่ศึกษาศาสตร์นี้จะต่อยอดนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในด้านใดได้บ้าง

     ส่วนใหญ่คนที่จบการศึกษาด้านนี้มาก็จะมุ่งไปด้านการทำงานวิจัยเป็นหลัก อีกส่วนก็จะออกมาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consultant) ให้คำปรึกษาเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีในองค์กร ซึ่งคนที่เรียนในด้านนี้มาก็จะมีทักษะในการเข้าใจกระบวนการคิดของตัวเองและการใช้ประโยชน์ รู้ว่าอะไรเป็นจุดบอดของตัวเอง อย่างเรามีจุดอ่อนที่เป็นคนด่วนตัดสิน คล้ายกรณีคนสองคนที่แต่งตัวต่างกัน เพราะธรรมชาติจะมีการโปรแกรมสมองให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เราเจอมา มันเลยทำให้เรามีความลำเอียงในการตัดสินใจอะไรบางอย่าง ฉะนั้นเมื่อรู้ว่ามีจุดอ่อนด้านนี้ เราก็จะพยายามไม่มองคนแบบลำเอียง

     ประโยชน์ที่ชัดที่สุดของหลักสูตรวิทยาศาสตร์การตัดสินใจคือ ทำให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานของสมอง เข้าใจว่าแม้แต่ละคนจะมีอวัยวะครบถ้วนเหมือนกัน แต่ความรุนแรงในการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ย่อมไม่เท่ากัน ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฉะนั้นความสำคัญคือการที่เราจะสังเกตเอกลักษณ์และอุปนิสัยของตัวเองรวมถึงคนอื่นได้ว่ามีอะไรบ้าง ทำให้เราเข้าใจว่าคนอื่นมีความต้องการที่ต่างจากเราอย่างไร เวลาที่พูดคุยหรือต่อรองกันก็มีเทคนิคที่สามารถสร้างสัมพันธ์เพื่อให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารได้มากขึ้น

     นอกจากนี้ก็ทำให้เราเข้าใจว่านิยามความหมายของความสุขในแบบตัวเอง มีความต่างจากคนอื่นอย่างไร ซึ่งช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น เวลาจะตัดสินใจทำอะไรก็ไม่ต้องไปเสียเวลาลองทำหรือเลือกทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา อย่างเมื่อก่อนที่ยังไม่ได้ศึกษาศาสตร์นี้ก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จึงต้องลองผิดลองถูก ใครหวังดีบอกอะไรก็ทำตามที่เขาบอก ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ใช่ความสุขในแบบของเรา แต่พอได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ มันทำให้เราสามารถนั่งคุยกับตัวเองได้อย่างมีเทคนิคและประสิทธิภาพ เข้าใจว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร เพื่อวางกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง

 

 

แล้วความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ที่คุณเคยเขียนในหนังสือมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร

     ถ้าพูดถึงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่เราศึกษามา มันจะเป็นคนละเรื่องกับฮิวริสติก โดยเเบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ การเข้าใจตัวเอง (Intrapersonal Intelligence) และการเข้าใจคนรอบข้าง (Inter-Personal Intelligence) ซึ่งความฉลาดที่เรามักจะพูดถึงจะเป็นเรื่องการเข้าใจและการรู้จักวิธีต่อรองกับผู้อื่น แต่จะไม่ค่อยได้ยินเรื่องการเข้าใจและการเป็นเพื่อนกับตัวเอง ซึ่งคนที่มีแค่ความเข้าใจต่อคนรอบข้าง มีเพื่อนเยอะ และเข้าใจคนอื่นก็อาจจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจตัวเองเลยก็ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร สิ่งใดจะทำให้มีความสุข รู้แค่ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุข คนแบบนี้อาจจะไม่ได้เป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ การที่เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างแท้จริง เราต้องมีความเข้าใจทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

 

จำเป็นแค่ไหนที่ควรจะมีทักษะการพูดคุยกับตัวเอง หรือรู้ความต้องการและเป้าหมายของตัวเรา

     สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะสิ่งที่น่าสงสารที่สุดคือการที่คนคนนั้นเก่งไปเสียทุกเรื่อง ยกเว้นไม่รู้ใจตัวเอง คุณจะเป็นอัจฉริยะ แต่สุดท้ายกลับไม่รู้ว่าความต้องการของตัวเองคืออะไร ชีวิตนี้ในที่สุดพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน อาจจะจากเราไปหมด แต่คนที่เราต้องอยู่ด้วยในทุกๆ วันคือตัวเอง ถ้าเรายังไม่เข้าใจตัวเอง เราก็คงใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นการมีโอกาสทำความเข้าใจตัวเราเองมันก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย   

 

ปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ที่คนในสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้คือเรื่องใด

     ปัญหาหนึ่งที่เราพบว่าไม่ได้เกิดกับแค่ประเทศไทยคือ ‘การก้าวหน้าของเทคโนโลยี’ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราตลอดเวลา สิ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาความรู้สึกของมนุษย์มากๆ เพราะโดยปกติแล้ว กลไกทางธรรมชาติจะพยายามโปรแกรมให้เราอยากรู้อยากเห็นว่าคนรอบตัวเขาทำอะไรอยู่ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายแสนปีที่แล้วในสมัยโลกเก่า คนที่ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นว่าคนอื่นกำลังทำอะไรจะล้มหายตายจากและไม่กลายมาเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของเราเหมือนทุกวันนี้ เพราะถ้าไม่ดูว่าคนรอบตัวทำอะไร เวลาออกไปเดินเก็บของป่าหรือล่าสัตว์ก็มักจะหลุดหายไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นเผ่าพันธ์ุที่มีความสามัคคีหรือสามารถสืบพันธ์ุได้   

     เพราะฉะนั้นความต้องการอยากรู้อยากเห็นว่าคนอื่นกำลังทำอะไร และสอดส่องความเป็นไปเป็นมาของคนรอบตัวคือสัญชาตญาณการอยู่รอดรูปแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ และการมีโซเชียลมีเดียก็ทำให้การสอดส่องเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น เราสามารถรู้ว่าเพื่อนเราคนที่เก่ง มีความสามารถ เขาใช้ชีวิตแบบไหน สัญชาตญาณมนุษย์มันโปรแกรมให้เราเข้าไปสอดส่องเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว สมัยก่อนเวลาอยากรู้หรืออยากสอดส่องอะไรก็ต้องเปิดโทรทัศน์ หรือซื้อแมกกาซีนมาอ่าน แต่เดี๋ยวนี้แค่คลิกเดียวก็ทำให้เราทราบเรื่องราวต่างๆ มากมาย

     ซึ่งปัญหาที่มันเกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นดีเบตในสังคมงานวิจัยคือ การที่เราใช้เวลาไปกับการสอดส่องมากเกินไปจนทำให้เห็นภาพที่ถูกตัดทอนจากความจริงบางส่วน เวลามนุษย์จะเลือกโพสต์อะไรบนโซเชียลมีเดียก็จะเป็นไปด้วยพฤติกรรมอยากบอกโลกว่าเรามีอะไรดี ไม่ค่อยมีใครอยากโพสต์บอกว่าตัวเองกำลังตกยาก ลำบาก ไม่มีงานทำ จนทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความคาดหวังกับชีวิตว่าต้องมีชีวิตที่ดี หรูหรา สบาย มีความสุขในทุกๆ วันเช่นเดียวกับคนในสังคมโซเชียลมีเดีย

     ทั้งๆ ที่ภาพชีวิตดีๆ เหล่านั้นที่เห็นอาจจะเป็นช่วงเวลาแค่ 2 วินาทีของทั้งวันที่คนคนนั้นมีความสุข เขาอาจจะทะเลาะกับเพื่อน มีปัญหากับเจ้านายตลอดทั้งวันแต่ก็เลือกที่จะไม่โพสต์บอกคนอื่น เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาคือเราต้องรู้จักจัดการตัวเองทั้งด้านอารมณ์และพฤติกรรม ต้องแยกให้ออกว่าจะรับสารบนโซเชียลมากน้อยขนาดไหน ถ้าคิดว่าการเห็นชีวิตคนอื่นมีความสุขเยอะจะทำให้ตัวเราเองกดดัน รู้สึกว่าชีวิตแย่ มันก็จะเป็นการทำร้ายสุขภาพจิตของตัวเอง ทุกวันนี้เราจะเห็นข่าวคนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนส่วนใหญ่มักเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น ถึงแม้การเปรียบเทียบจะเป็นหนึ่งในทักษะการเอาตัวรอดก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ อย่างตัวเราเองก็ยังเล่นโซเชียลมีเดีย อยากรู้เรื่องของชาวบ้านเหมือนกัน แต่เราจะมีวินัยในการคอนโทรลพฤติกรรมของตัวเอง รู้ว่าต้องแบ่งเวลาไปทำอะไรเพื่อให้สุขภาพจิตดี มีความสุข

 

เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วันได้อย่างไร

    อย่างเเรกเลย การบอกว่าเราควรจะเข้าใจตัวเองมันอาจจะเป็นสิ่งที่ยังดูงงๆ ไปหน่อย หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นก็ให้เริ่มต้นจากการหาความหมายของความสุขในแบบของตัวเราเองก่อน ต้องหมั่นสังเกตว่าทำอะไรแล้วเราถึงจะมีความสุข ทำอะไรแล้วเครียด ต้องสังเกตและหาสาเหตุว่าแต่ละกิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวันส่งผลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสังเกตกัน

     เช่น วันนี้เรารู้สึกหงุดหงิดมากเวลาไปทำงาน เราต้องสังเกตว่าเราหงุดหงิดเพราะอะไร วันไหนที่ไปทำงานแล้วมีความสุขมันเป็นเพราะอะไร ต้องหาความหมายของความสุขในแบบตัวเองให้ได้ โดยทิ้งหลักการและกรอบที่คนอื่นๆ บอกไว้ก่อน ให้หาว่าเราทำอะไรแล้วถึงจะอารมณ์ดี พอลิสต์ออกมาได้ก็ค่อยมาคิดว่าเรามีทักษะอะไรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน จะใช้จุดแข็งของตัวเองทำอะไรเพื่อให้อารมณ์ดี มีความสุขได้ตลอดทั้งวัน นี่แหละคือความเข้าใจและวุฒิภาวะทางอารมณ์ มันคือการเข้าใจว่าอารมณ์ต่างๆ ของเราเกิดขึ้นเพราะอะไร

FYI

แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน จะมาเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้กับ THE STANDARD ในชื่อคอลัมน์ ‘A Sideways View’ ที่จะช่วยไขข้อข้องใจพฤติกรรมของคนใกล้ตัว ที่ในบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับตัวเรา… ติดตามได้เร็วๆ นี้!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising