จากสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทยที่สำรวจล่าสุดเมื่อปี 2559 พบว่า คนไทยเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบในเด็กสูงถึง 38 เปอร์เซ็นต์ และพบในผู้ใหญ่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จากสถิตินี้บอกอะไรกับเราบ้าง?
นั่นอนุมานได้ว่ามนุษย์ที่เดินผ่านคุณทุก 10 คน ต้องมีคนเป็นโรคภูมิแพ้ 2-4 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่น้อย และอาจกลายเป็นเสียงข้างมากในอนาคตโดยที่เราไม่รู้ตัว
ในเมื่อภูมิแพ้เป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ ทำไมคนส่วนใหญ่จึงมักมองข้ามและรู้จักมันน้อยเกินควร
นี่คือ 10 คำถามสำคัญที่เราแวะไปพูดคุยกับ แพทย์หญิงจุฬามณี วงศ์ธีระญาณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช (Samitivej Allergy Institute – SAI) เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ THE STANDARD ขอรับรองว่าคุณจะเข้าใจโรคภูมิแพ้มากขึ้นอีกโข
‘ภูมิแพ้’ คืออะไร?
โรคภูมิแพ้ คือโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย มิใช่โรคติดต่อ และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการให้เห็นเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ การรับประทานอาหาร การสัมผัสทางผิวหนัง ตา หู จมูก การฉีด หรือถูกแมลงกัดต่อย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้สามารถเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากพันธุกรรม และโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง มีการศึกษาออกมาว่า ในกรณีของโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพ่อกับแม่เป็นทั้งคู่ ลูกจะมีโอกาสเป็นสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ในกรณีที่พ่อและแม่ไม่มีประวัติภูมิแพ้เลย ลูกสามารถเป็นโรคนี้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอาจมาจากบรรพบุรุษหรือสิ่งแวดล้อม
ตัวการที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้
ตัวการที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้มีอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด ซึ่งจะแพ้อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายเราไวต่อสิ่งไหน สารก่อภูมิแพ้ที่พบทั่วๆ ไป เช่น ตัวไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ เชื้อรา อาหารบางประเภท ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย แมลงต่างๆ เกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
ประเภทของภูมิแพ้
ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ แต่คุณหมอขอแบ่งตามลักษณะอาการดังนี้ 1. ภูมิแพ้หอบหืด มักมีอาการไอ หายใจเสียงวีด ไม่สะดวก 2. ภูมิแพ้อากาศ หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มักมีอาการจาม คัดจมูกต่อเนื่อง 3. ภูมิแพ้ผิวหนัง มีเม็ดผดผื่นเกิดขึ้นตามตัว มีอาการคัน และผิวแห้ง 4.ภูมิแพ้อาหาร แพ้อาหารหรือวัตถุที่กินเข้าไป เช่น แป้ง อาหารทะเล ถั่ว ฯลฯ 5. อื่นๆ เช่น แพ้ยา
โรคภูมิแพ้ที่พบเจอบ่อยที่สุดในปัจจุบัน
ต้องยกให้ภูมิแพ้อากาศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของคนทั้งโลก โรคนี้มักส่งผลกระทบต่อการนอน การทำงาน และบุคลิกภาพ ถ้าเด็กเป็นหนักๆ ตอนกลางคืนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับ หายใจลำบาก คัดจมูก ซึ่งสาเหตุของการแพ้อาจเกิดได้จากการแพ้ไรฝุ่น หญ้าบางชนิด หรือแพ้แมลงสาบบางสายพันธุ์
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแพ้สิ่งนั้นจริงๆ
เรื่องแพ้ไม่แพ้อะไรนั้น คุณหมอแนะนำให้เริ่มต้นจากการสังเกตตัวเองก่อน ดูว่าเรามีอาการแพ้สิ่งเหล่านั้นไหม กินไปแล้วคันคอหรือเปล่า มีผื่นขึ้นตามตัวไหม คัดจมูก จาม หรือหายใจไม่ออกหรือเปล่า ไม่ได้หมายความว่าให้คุณตั้งหน้าตั้งตาลองไปเสียทุกสิ่ง แค่ดำเนินชีวิตไปตามปกติ สังเกตตัวเองจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ควรจะเดินเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็กทั้งที่ยังไม่มีอาการใดๆ บางคนแพ้นิดเดียว แต่วิตกกังวลมากเสียจนทำให้การดำเนินชีวิตลำบาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
หัวใจสำคัญของการรักษาโรคภูมิแพ้คืออะไร
สำหรับหมออยู่ที่การวินิจฉัย ยิ่งแพทย์วินิจฉัยสาเหตุการแพ้ได้ตรงจุดมากเท่าไรก็ยิ่งรักษาง่ายและดีต่อคนไข้มากขึ้นเท่านั้น บางคนเป็นภูมิแพ้อากาศ แต่มีอาการหอบหืดร่วมด้วย บางคนแพ้อาหาร แพ้สารเคมี แพ้ยาด้วยก็มี เวลาคนไข้เข้ารับการรักษา แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามก่อน จากนั้นจึงทำ Skin Test หรือการทดสอบผ่านผิวหนัง ควบคู่กับการตรวจเลือด ซึ่งผลการทดสอบแต่ละอย่างจะเหมาะกับอาการแพ้ที่ต่างกัน โดยทั้งหมดต้องอยู่ในดุลพินิจและการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
นอกจากกินยาแก้แพ้แล้ว มีวิธีการรักษาอย่างอื่นหรือเปล่า
การกินยาแก้แพ้เป็นวิธีรักษาและประคับประคองอาการเบื้องต้น วิธีการดีที่สุดสำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้คือสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับสิ่งนั้นได้ นั่นก็โยงกลับไปที่คำถามที่แล้วว่าคุณแพ้อะไรบ้าง คนที่แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง แพ้เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ ในรายที่แพ้หนักมากๆ เขาจะไม่สามารถออกไปไหนได้เลย เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิตขนานหนัก แพทย์อาจแนะนำให้ฉีค ‘วัคซีนโรคภูมิแพ้’ ซึ่งเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องนาน 3-5 ปี โดย 6 เดือนแรกเป็นช่วงสร้างภูมิ ต้องฉีดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1-2 เข็มแล้วแต่อาการ หลังจากผ่านช่วง 6 เดือนแรกไปแล้ว จึงค่อยฉีดกระตุ้นทุกเดือน เดือนละ 1 เข็ม ต่อเนื่องยาว 3-5 ปี
ในรายที่แพ้อาหารบางชนิด อย่างเคสที่แพ้แป้ง บางคนบริโภคได้ไม่ถึงครึ่งช้อนชาก็เกิดอาการแพ้รุนแรง ซึ่งเคสแบบนี้แพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าคนไข้แพ้สารอาหารหรือส่วนประกอบใดบ้าง รุนแรงขนาดไหน แล้วค่อยๆ สร้างภูมิโดยให้ร่างกายคุ้นชิน โดยเริ่มจากปริมาณที่น้อย ควบคู่กับการให้ยา ซึ่งมีหลายรายมากที่ตอนเข้ามารักษากินแป้งได้ปริมาณเท่าเหรียญบาท แต่ปัจจุบันสามารถกินมาม่าเป็นซองได้โดยไม่เป็นอะไร
แสดงว่าภูมิแพ้ก็สามารถหายขาดได้?
เราไม่สามารถเรียกว่าหายขาดได้เสียทีเดียว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอหรือเจอสิ่งเร้ามากๆ อาการแพ้ก็จะกลับมาอีก แต่เราสามารถปรับภูมิคุ้มกันเพื่อสู้กับอาการแพ้ หรือลดความรุนแรงของการแพ้ที่เอื้อต่อการดำรงชีพได้ เหมือนตัวอย่างที่หมอกล่าวไว้เมื่อคำถามที่แล้ว ซึ่งบางคนสามารถปรับภูมิให้แข็งแกร่งโดยกดอาการแพ้ไว้จนแทบไม่แสดงอาการใดๆ เสมือนหายขาด ซึ่งหมอว่าดีมาก และดีใจมากที่คนไข้ชนะมันได้
เคล็ดลับในการดูแลตัวเองสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้
อย่างแรกเลยคือคุณต้องรู้สิ่งที่แพ้และปริมาณการแพ้ของตัวเอง เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์รอบข้างและวิธีดูแลตนเองได้อย่างครบถ้วน และเมื่อรู้แล้วก็อย่าเอาตัวเองไปอยู่กับสิ่งที่แพ้ อย่าคิดว่าแพ้อะไรให้อยู่กับสิ่งนั้นมากๆ แล้วจะหาย นั่นเป็นการดูแลตัวเองที่ผิด ในกรณีที่หายก็โชคดีไป ร่างกายคุณอาจจะปรับภูมิเองได้ แต่ในกรณีที่ไม่หายก็อาจอันตรายถึงแก่ชีวิต อาการแพ้ไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องตลกหรือสำออย ซึ่งคนไทยส่วนมากยังเข้าใจโรคนี้ได้ไม่ดีนัก อันนี้ต้องขอฝากไว้ด้วย
ภาพประกอบ: Narisara K.
- สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช (Samitivej Allergy Institute – SAI) คือสถาบันที่ดูแลแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้โดยตรง ภายใต้การนำทีมของศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา พร้อมแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ทั้งหู ตา ผิวหนัง แพ้อากาศ แพ้อาหาร ฯลฯ ทั้งยังเป็นที่แรกที่คิดค้นวิธีการรักษาใหม่ เช่น การสร้างห้อง Wet Wrap Therapy แห่งแรกในประเทศไทย รวมถึงเทคนิคการรักษาด้วยการฉีควัคซีนที่เตรียมไว้สำหรับอาการแพ้หลายสิบชนิด
- วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2560 สมาชิกบัตรเครดิต KTC รับส่วนลด 10 เปอร์เซ็นต์ ที่สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช สำหรับโปรแกรมตรวจหาสารภูมิแพ้ รายการตรวจเพิ่มเติม ค่ายา และค่าเอ็กซเรย์