ใกล้เข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ บรรดาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็เริ่มคิดวางแผนงาน สารพันโครงการผุดขึ้นมาเป็นกระจาด พร้อมค่าใช้จ่ายประมาณการใช้ในปีหน้า ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ย่อมต้องถือธรรมเนียมปฏิบัติตามนั้น โอ๊ะโอ… ถ้าคุณคิดว่าเราจะนำงบประมาณมาแสดงให้ดูล่ะก็ ผิดแล้ว เพราะสิ่งที่เราหยิบมานำเสนอคือแผนการตลาดว่าในปี 2561 ททท. มีแผนอะไร และมีโปรเจกต์ใดให้คนชอบเที่ยวได้ตื่นเต้นกันบ้าง
สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เน้นการเที่ยวเชิงลึก
สำหรับปี 2561 ททท. ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 8 ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยยังคงมุ่งเน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และจะผลักดันแนวทางการทำการตลาด 3 แนวทางคือ
- สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหวังชะลอความเสื่อมโทรมของทรัพยากร
- เพิ่มเนื้อหาสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สินค้าท่องเที่ยวไทย
- ขยายฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพ ด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวแบบ Thai Local Experience เน้นองค์ความรู้แบบไทยแท้ ใกล้ชิดชุมชน มากกว่าการเที่ยวแบบฉาบฉวย
แน่นอนว่าทั้ง 3 แนวทางยังคงทำผ่านโครงการเดิมจากปี 2560 ได้แก่ โครงการท้าเที่ยวข้ามภาค ที่ตอกย้ำแนวคิด การท่องเที่ยวคือการค้นพบตัวเองในกลุ่มเจนวาย, โครงการเก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวไทย มอบสิทธิพิเศษในการเดินทางให้นักท่องเที่ยววัยเก๋า, โครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และ โครงการวันธรรมดาน่าเที่ยว มอบส่วนลดและข้อเสนอพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยวในวันจันทร์-พฤหัสบดี ทว่าปีนี้จะขยายผลความร่วมมือให้กว้างออกไป ซึ่งหมายความว่า ต่อไปนักท่องเที่ยวไทยจะมีโปรโมชันและส่วนลดต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมสำหรับผู้ที่เดินทางเที่ยวในวันธรรมดา
สำหรับ ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง ยังคงเป็นธีมหลักในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภายในประเทศเช่นเคย แต่ต่อยอด ส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางจริงมากขึ้น
โดยสื่อสารให้นักเดินทางรู้สึกว่าการท่องเที่ยวเชิงลึกไม่จำเป็นต้องบุกป่าฝ่าดง หรือลงทุนลงแรงจนเหน็ดเหนื่อยเสมอไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตีโจทย์และขยายขอบเขตมากขึ้นจนเกิดแนวคิดที่ว่า ‘หนึ่งประสบการณ์ลึกซึ้งมากคุณค่ากว่าที่คิด’ กล่าวคือ ประสบการณ์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวนั้นเป็นการส่งมอบความสุข มีความหมายลึกซึ้ง เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าอันน่าจดจำ
สวรรค์ของนักกิน จากอาหารถิ่นสู่มิชลินสตาร์
ตั้งแต่ต้นปี เรารับรู้นโยบายเกี่ยวอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกาศนโยบาย ‘ครัวไทยไปครัวโลก’ ของรัฐบาล ไปจนถึงงบประมาณ 150 ล้านบาทที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหมายมั่นปั่นมือให้ ‘มิชลิน ไกด์’ (Michelin Guide) เป็นหนึ่งในยุทธวิธีฉกาจที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวสายกินกว่าค่อนโลกให้มาเยือนประเทศ ซึ่งแน่ชัดอยู่แล้วว่าในแผนงานปี 2561 ททท. ต้องนำ ‘อาหาร’ มาเป็นอีกหนึ่งตัวชูโรง เพื่อสานต่อนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ในงานแถลงเปิดแผนการตลาดด้านท่องเที่ยว ปี 2561 ว่า “อาหารเป็นจุดเริ่มต้นเชื่อมโยงตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ไปจนถึงความเป็นอยู่ ฉะนั้นอาหารจึงเป็นมากกว่าปัจจัย 4 และ ททท. พร้อมที่จะให้คนทั่วโลกประจักษ์ว่า คุณค่าของอาหารไทยไม่ได้มีเพียงแค่ความอิ่มปากอิ่มท้อง แต่สามารถสร้างความอิ่มใจ อิ่มเอม เพราะอาหารไทยคือหนึ่งในความภูมิใจของคนทั้งชาติ”
การชูโรงด้านอาหารของ ททท. คาดว่าจะไม่ได้มาในรูปแบบแคมเปญใหญ่ที่งอกเงยมาตีคู่กับโครงการเดิม แต่มาในรูปแบบส่งเสริมแคมเปญเก่าอย่าง ‘ท้าเที่ยวข้ามภาค’ ‘วันธรรมดาน่าเที่ยว’ หรือ ‘12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus’ ซึ่งในแต่ละพื้นที่และหน่วยงานในระดับจังหวัดต่างๆ จะเน้นนำเสนอเมนูอาหารถิ่นมากขึ้น อย่างล่าสุดก็มีการจัดประกวด ‘เชฟชุมพล สร้างชุมชน’ โดยรับสมัครเชฟท้องถิ่นจังหวัดระยองมาทำอาหารถิ่น รวมถึงการเปิดตัวหนังสือคู่มือท่องเที่ยวตามรอยอาหาร 8 Trip and Tip ที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ วันนี้ (21 กรกฎาคม)
และแน่นอนที่สุด ปลายปีนี้กับคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักระดับโลก ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพฯ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 6 ในเอเชียที่มีคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ เป็นของตนเอง
นอกจากนี้ตามเวทีและการประกวดต่างๆ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ในแวดวงอาหาร คุณจะเห็นการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมากขึ้นในการโปรโมตเมนูสตรีทฟู้ดตามย่านต่างๆ รวมถึงร้านที่นำเสนออาหารถิ่นในรูปโฉมผิดแปลกจากขนบเดิม แต่ยังสามารถสะท้อนถึงภูมิปัญญาไทยได้ในทุกคำที่ลิ้มรสอย่างร้าน ‘ซาหมวย’
ความหลากหลาย เสน่ห์ของประเทศไทย
ในด้านตลาดต่างประเทศ ททท. เน้นกลุ่มกระแสหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Luxury, กลุ่ม Executive Lady, กลุ่มครอบครัว, กลุ่ม Millennial, กลุ่ม Gen X และกลุ่ม LGBT พร้อมกลุ่มความสนใจพิเศษอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Honeymoon & Wedding, กลุ่ม Health & Wellness, กลุ่ม Sport Tourism และกลุ่ม Green Tourism
และยังคงใช้แคมเปญ Amazing Thailand เช่นเคย แต่ขยายการสื่อสารจาก ‘Open to the New Shades’ ซึ่งนิยามการท่องเที่ยวไทยว่าเป็นการค้นพบ ค้นหาสิ่งใหญ่มาขยายใหญ่ขึ้นให้เป็น ‘Million Shades of Thailand’ ชูความหลากหลายของประเทศไทยทั้งด้านวัฒนธรรม ผู้คน อาหาร และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะสามารถมอบประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ในหลายมิติ
นอกเหนือจากนี้ ททท. ยังเล็งคุณภาพของนักท่องเที่ยวประเภท First Visit ซึ่งมีกำลังทรัพย์ และมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบ CIS (เครือรัฐเอกราช ซึ่งแยกตัวออกจากรัสเซีย Commonwealth of Independent States) และลาตินอเมริกา โดยมีการเปิดสำนักงานใหม่ขึ้นที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล และเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
และพยายามเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดบนให้มียอดค่าใช้จ่ายต่อวัน ต่อหัว เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นโปรโมตในประเทศแถบเอเชียเป็นหลัก
ที่สำคัญคือพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ประเทศไทยจากแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก เป็น ‘Prefer Destination’ หรือจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวเลือกจะมาเพราะอยากมา ไม่ใช่มาเพราะค่าใช้จ่ายถูก ประหยัดเงินในกระเป๋า
ที่เราหยิบยกมาเป็นเพียงทิศทางการตลาดและภาพรวมคร่าวๆ ที่ ททท. หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คิดจะทำในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งภาพรวมปีนี้เป็นเรื่องของอาหารและการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ส่วนโปรเจกต์ย่อยที่ตามมาต่อๆ ไปนั้นจะเป็นอะไรบ้าง ต้องติดตามให้ดี
แน่นอนว่า THE STANDARD ไม่พลาดนำมาฝากแน่นอน
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai