คอนเซปต์เอย ดีไซน์เอย จะไม่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ถ้าคุณไม่ใช้วัสดุ หรือแมตทีเรียลสร้างมันขึ้นมา และต่อให้เราพูดว่าโลกหมุนไวแค่ไหน วัสดุก็ต้องตามให้ทันกระแสเหมือนกับแฟชั่นหรือเรื่องอื่นๆ แต่สุดท้ายก็ยังมีเบสิกที่ทุกคนยังต้องวกกลับมาหามันอยู่วันยันค่ำ
เพื่อที่คุณจะได้มีไอเดียนำไปปรับใช้ในการทำบ้าน ลองมาดูข้อเด่นและข้อด้อยของวัสดุท็อปฮิตติดลมบนตลอดกาล ที่ไม่ว่ายุคจะเปลี่ยน เวลาจะผ่าน เทรนด์จะหมุนไปอย่างไร พวกมันก็ยังเป็นเมนคาแรกเตอร์ที่สร้างสรรค์งานดีไซน์ได้ท็อปฟอร์มเสมอมา
โดยในตอนแรกต่อไปนี้ เราจะพูดถึง 5 วัสดุสำหรับการสร้างสรรค์ออกแบบโครงสร้างหลักของบ้าน ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งมั่นใจนักว่าคุณรู้จักกับมันดี หากพร้อมแล้วก็มาร่วมพิจารณาคุณสมบัติของวัสดุท็อปฮิตเหล่านี้กันได้เลย!
1. ไม้ (wood) คุณสมบัติคือ ยืดหยุ่นได้ดี สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก เป็นได้ทั้งตัวอาคาร ทำผนัง ปูพื้น ทำโครงสร้าง เรียกว่าครบเครื่องสุดๆ แต่ก็ต้องปะมือกับศัตรูตัวฉกาจอย่างปลวก ที่ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไรก็ยังมีเล็ดลอดเข้ามากวนใจอยู่เนืองๆ
Substitute: ปัญหาที่ใหญ่กว่าปลวกคือ ปริมาณต้นไม้ที่ลดลงฮวบฮาบ ต่อให้ปลูกทดแทนก็ยังไม่ทันการณ์ ในตลาดจึงจะมีทั้งไม้อัด (การฝานผิวหน้าไม้หลายๆ ชนิด แล้วนำมาอัดรวมกันด้วยกาว) หรือไม้เทียม ซึ่งมีทั้งแบบใช้ไม้จริงผสมกับวัสดุอื่น เพื่อเพิ่มความทนทาน แต่ยังได้ลุคของงานไม้อยู่
How to: แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง เพราะความอับชื้นเป็นสาเหตุหลักที่ปลวกขึ้น และควรใช้ไม้จริงพร้อมเคลือบนำ้ยากันปลวกที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ระดับหนึ่ง
2. หิน (stone) เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุและซากพืชซากสัตว์ตามธรรมชาติ สังเกตได้ว่าถ้าผ่าหินในแนวขวางจะมองเห็นชั้นตะกอนของสิ่งต่างๆ ที่ทับถมกัน ดังนั้นคุณสมบัติของมันคือ มีความแข็งแรง ทนทาน ทั้งยังมีสีสันลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย
Substitute: ข้อเสียของหินคือ มีน้ำหนักมาก ทำให้เคลื่อนย้ายหรือจัดการให้เป็นรูปทรงตามต้องการได้ยาก รวมถึงรูพรุนตามธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดเชื้อรา แบคทีเรีย จึงมีการผลิตหินสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันมีทั้งหินแบบที่ผสมอะคริลิก โพลีเอสเตอร์ ฯลฯ
How to: ถ้าใช้งานภายนอก เรายังคิดว่าหินแท้ตามธรรมชาติให้สัมผัสที่สวยกว่า แต่ถ้าเป็นภายใน เช่น การทำท็อปเคาน์เตอร์ในครัว หรือตกแต่งผนัง หินสังเคราะห์จะตอบโจทย์และทำงานด้วยง่ายกว่า
3. เหล็ก (steel) การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1750 -1850) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน และเหล็กคือวัสดุที่เจริญรุ่งเรืองมาจากเหตุการณ์นี้ มันแข็งแรงกว่าไม้ ทนทานกว่าอิฐและดิน เมื่อผ่านความร้อนก็ดัดงอให้เกิดรูปทรงตามต้องการได้ง่ายกว่าหิน
Substitute: เหล็กอาจทนอะไรได้มาก แต่ไม่ใช่กับสนิม ดังนั้นจึงมีการพัฒนาวัสดุโลหะในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น อะลูมินัม สเตนเลสสตีล ที่น้ำหนักเบาและทนความชื้นได้มากกว่า
How to: จะเห็นว่าปัจจุบันมีการสร้างบ้านเหล็กมากขึ้น เพราะข้อดีอีกอย่างของมันคือ มันเหมาะกับงานระบบโมดูลาร์ ผลิตเป็นชิ้นแล้วนำมาต่อประกอบหน้างาน ลดงานเปียก (พวกผสม ฉาบ และก่อปูนทั้งหลาย) ซึ่งทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น เจ้าของบ้านหรือผู้ประกอบการหลายรายจึงยอมเพิ่มต้นทุนที่แพงกว่าโครงสร้างอย่างอื่น เพื่อแลกกับข้อดีนี้
4. คอนกรีต (concrete) หลักๆ คือการผสมกันระหว่างปูนซีเมนต์ วัสดุผสม (ทรายหรือหิน) และน้ำ เรียกว่าเป็นวัสดุที่รวมเอาข้อดีของหลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน คอนกรีตสามารถรับแรงอัดได้สูง รับน้ำหนักได้มาก และมีต้นทุนถูกเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นในปริมาณเท่าๆ กัน
Substitute: ส่วนมากจะเป็นการผสมวัสดุอย่างอื่น เช่น คอนกรีตเสริมแรง หรือเสริมเหล็ก เพื่อใช้ทำโครงสร้างขนาดใหญ่มากๆ หรือทำการอัดแรงเข้าไปในคอนกรีตหล่อสำเร็จ เพื่อให้รับน้ำหนักได้มากขึ้นไปอีก
How to: คอนกรีตน่าจะกลายเป็นไอคอนของ Industrial Look ไปแล้ว บางบ้านทำผนังคอนกรีตเปลือย หรือโชว์โครงสร้างเหล็กผสมคอนกรีตไปเลย ข้อดีคือ มันดูแลทำความสะอาดง่าย แต่คุณต้องมั่นใจว่าช่างที่ทำงานให้คุณมีความเชี่ยวชาญมากพอ ไม่อย่างนั้นแทนที่จะเท่ อาจกลายเป็นเหมือนบ้านยังสร้างไม่เสร็จ
5. อิฐ (brick) อิฐเกิดจากการผสมดินเหนียว แกลบ ทราย และน้ำ นวดให้เข้ากันแล้วใส่ลงในแบบพิมพ์ ก่อนนำไปเผา ดังนั้น จุดเด่นของมันคือเรื่องของสีสันที่แปลกตา (จนกลายเป็นชื่อเรียกสีส้มตุ่นๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า สีอิฐ) รวมถึงเมื่อผ่านกระบวนการเผาแล้ว ทำให้ดูดซึมน้ำได้น้อย ทำให้ใช้ในพื้นที่อับชื้นได้ค่อนข้างดี หรือถ้าทำเป็นผนังก็ยังเจาะหรือยึด ตอกพุก (อุปกรณ์สำหรับช่วยยึดน็อตหรือสกรูเข้ากับผนัง) ได้ง่าย
Substitute: อิฐต้นตำรับนั้นเรียกกันว่า อิฐมอญ แต่ปัจจุบันมีทั้งอิฐบล็อก และอิฐมวลเบามาให้เลือกใช้กันด้วย อย่างอิฐบล็อกก็จะราคาถูก แต่ไม่ทนเท่าไร ส่วนอิฐมวลเบานั้น ราคาค่อนข้างสูงแต่ลดปัญหาเศษอิฐแตกหัก ตกแต่งให้เข้ารูปได้ง่าย และมีน้ำหนักเบา
How to: ถ้าเป็นพื้นที่ภายนอก อิฐมอญยังคงตอบโจทย์ ทุกวันนี้อิฐมอญเข้าสู่การผลิตอย่างเป็นมาตรฐาน ทุกก้อนออกมาเท่ากัน แตกหักเสียหายได้ยากขึ้น ในขณะที่อิฐบล็อกซึ่งราคาถูกกว่าแต่ทนทานน้อยกว่า ก็นำมาใช้ทำทางเดินในสวนได้สบายๆ และสำหรับอิฐมวลเบานั้น โดดเด่นเรื่องการป้องกันเสียง จึงเหมาะกับการใช้งานภายใน แต่ควรระมัดระวังเรื่องการเจาะ หรือตอกให้ดี เพราะอาจทำได้ไม่สะดวกเท่าผนังคอนกรีต หรือผนังอิฐมอญ
Cover Photo: el lobo/shutterstock
- ‘ไม้ลั่น’ เกิดขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยน อายุการใช้งานมากขึ้น เนื้อไม้ด้านในก็จะเกิดการยืดหรือหดตัว จนลั่นเปรี๊ยะๆให้เจ้าของบ้านได้ตกใจกันอยู่บ่อยๆ
- หนึ่งสิ่งก่อสร้างในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สะท้อนถึงการใช้งานวัสดุเหล็กได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘หอไอเฟล (Eiffel Tower)’ ที่สร้างให้เป็นแลนด์มาร์กของงาน World’s Fair ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1889
- พีระมิดแก้ว บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (The Louvre Museum) ก็ถือเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ที่นำเอาโลหะและกระจกมาใช้งาน (ส่วนของพีระมิดนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1993 เป็นผลงานของ ไอ. เอ็ม. เพ (I. M. Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งยังมีข้อถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ว่า มันคือส่วนเพิ่มเติมความงดงามของพิพิธภัณฑ์ หรือเป็น ‘A scar on the face of Paris’ กันแน่
- ถ้ามีโอกาสได้ไปแถวสุขุมวิท 26 คุณจะมองเห็นตึกโครงสร้างเหล็กสะดุดตาหลังหนึ่ง นั่นคือ Villa Vinotto ร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากอิตาลี ที่ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยใช้เหล็กที่ทำให้เป็นสนิม ถือเป็นงานทดลองที่ทำให้รู้ว่า ในเมื่อหลีกเลี่ยงสนิมไม่ได้ ก็นำมาใช้เป็นจุดขายเสียเลยก็แล้วกัน (แต่เป็นเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีและกระบวนการที่ก่อให้เกิดสนิม แล้วฟรีซหยุดการเกิดสนิมนั้นไว้ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง)