×

Work-Life (ไม่) Balance เมื่องานบั่นทอนความสุขในชีวิต

20.12.2023
  • LOADING...

ชีวิตคนทำงานไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือต่างจังหวัดก็แบกรับเอาภาระในงานที่หนักหนาไว้ไม่ต่างกัน แม้คนทำงานในเมืองจะเริ่มงานเวลาประมาณ 09.00 น. เลิกงานเวลาประมาณ 17.00 น. แต่หากจะมองเห็นตามความเป็นจริงในแต่ละวัน เราให้เวลากับงานมากกว่านั้น เราเดินทางตั้งแต่พระอาทิตย์แตะเส้นขอบฟ้า ผจญภัยไปบนท้องถนนเพราะความหนาแน่นของผู้คนที่เดินทางผ่านเส้นทางขนส่งสาธารณะ และกว่าจะกลับถึงที่พักก็เย็นย่ำ บางวันไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน จนแทบจะจำท้องฟ้าสีส้มอมม่วงในช่วงตอนเย็นไม่ได้เลย

 

ในขณะที่คนทำงานในต่างจังหวัดที่แม้จะไม่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการเดินทางมากนัก แต่เส้นขอบของเวลางานกับเวลาส่วนตัวก็อาจไม่ชัดเจน บางคนทำงานในชุมชนหรือในหมู่บ้าน เช้าก่อนเข้างานก็อาจเจอเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักตามแหล่งชุมชน หลังเลิกก็ชวนกันกินอาหารไปพร้อมกับการชวนประชุมวางแผนงานในคราวเดียวกัน มากกว่านั้นด้วยความใกล้ชิดของสัมพันธภาพงานกับเรื่องส่วนตัวก็มักพัวพันแยกจากกันได้ยาก 

 

“พี่ฝากงานนี้หน่อยนะ ลูกมีแข่งกีฬาโรงเรียน เขาอยากให้พี่ไปเชียร์” งานเราก็หนักเอาการ งานชาวบ้านก็เข้ามาให้ต้องทำแทน ทำให้ชีวิตส่วนใหญ่เราใช้ไปกับงานทั้งทางตรงและทางอ้อม 

 

จะเกิดอะไรเมื่อ Work-Life (ไม่) Balance ในขณะที่ร่างกาย ความคิด และจิตใจ ต้องใช้พลังงานจำนวนมากและยาวนาน จะทำให้เกิดภาวะเหนื่อยล้า ซึ่งเกิดได้ทั้งทางกายและทางจิตใจ โดยแสดงออกได้ในหลายรูปแบบและสัมพันธ์กันเป็นวงจร เราจะมาหาวิธีรับมือไปด้วยกัน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ Work-Life (ไม่) Balance

 
ความไม่สมดุลที่เกิดกับร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ อาจทำให้เกิดภาวะนอนหลับไม่สนิท ขาดสมาธิ อ่อนแรง และปวดเมื่อยหรือเกร็งตามร่างกาย ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความอ่อนล้าทางจิตใจ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรก็ไม่ไหวเพราะไม่มีแรง บางคนแม้จะลุกขึ้นไปทำงานได้ แต่จิตใจก็ห่อเหี่ยว ไม่สนุก อารมณ์ไม่แจ่มใสเหมือนที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาวะแบบนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และคลี่คลายได้ยากหากตกอยู่ในวงจรนี้เป็นเวลานาน

 

และแม้ว่าเราจะเป็นคนที่มีพื้นฐานชอบการทำงานแค่ไหนก็อาจต้องเฝ้าระวังใจ เพราะนอกจากการตกอยู่ในวงจรของความเหนื่อยล้าแล้ว การทำงานที่หนักและมีแนวโน้มหนักขึ้น อาจเป็นสัญญาณซ่อนเร้นว่ามีสิ่งอื่นในชีวิตที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเราอยู่โดยไม่รู้ตัว 

 

หากเราใช้กลไกในการดูแลใจด้วยการเลือกการทำงานที่หนัก จะได้มีความคิดส่วนใหญ่เกี่ยวกับงาน เพื่อใช้เป็นตัวช่วยให้เราหลีกหนีจากความคิดที่เป็นความทุกข์ใจ แต่หารู้ไม่ว่านั่นกลับไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมื่อวันหนึ่งที่เหนื่อยล้าจากการทำงานจนเกินจะต้านทานไหว เราอาจต้องจมกับความทุกข์ใจในหลายด้านพร้อมกัน แม้แต่คนที่ชอบทำงานอย่างหนักมากเกินไปก็อาจสูญเสียสิ่งสำคัญอื่นในชีวิตโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น ครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิท จึงควรแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมตามความสนใจด้วยการให้เวลากับตนเอง

 

Work Hard Play Hard

 

เป็นวลีที่พูดถึงวิธีการสมดุลชีวิตและการทำงานที่ทำงานอย่างหนัก โดยมีความคิดต่อการทำงานว่า ‘ทำเต็มที่จะได้ไม่มีความรู้สึกเสียใจภายหลัง’ และการพักอย่างเต็มที่โดยมีแผนในการดูแลกายและใจแบบหลายวันและจัดเต็ม เช่น การไปทริปต่างประเทศหลายวันหลังการทำงานที่หนักหน่วง การสังสรรค์อย่างเต็มที่กับช่วงวันศุกร์สุดท้ายปลายเดือน

 

ซึ่งภาพอาจดูคล้ายหัวรถจักรไอน้ำที่พุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงขับมหาศาล จังหวะและการผ่อนแรงให้ตัวขบวนไหลปล่อยไปตามราง พุ่งและผ่อน พุ่งและผ่อน ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีสำหรับหลายคน แต่อาจพุ่งจนตกหล่นจากราง หรือไม่ก็ผ่อนคลายและปล่อยไปจนใจไม่อาจกลับมามีแรงได้เท่าที่เคย

 

จึงอยากชวนมารู้จักกับ B A R S Model

(Copyright @2022 Noraphan Tongchueam)

 

B คือ Body Care หมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์แก่สุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ ให้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งพบว่าการบริหารจัดการร่างกายนั้นส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบสารสื่อประสาท และระบบย่อยอาหาร ซึ่งทำให้สมองแจ่มใสและจิตใจสงบมากขึ้น โดยกิจกรรมด้านร่างกายนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การออกกำลังกายเท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่แบบ Well-being สร้างเสริมกิจวัตรประจำวันที่จะช่วยปรับปรุงสุขภาวะได้ทั้งทางกาย ใจ และอารมณ์ ให้บาลานซ์กัน เช่น การนอนและตื่นตามเวลา การเลือกกินอาหารที่สมดุลและมีสารอาหารครบ การรักษาความสะอาด การมีสุขภาวะทางเพศที่ดี และการดูแลผิวพรรณให้สุขภาพดีอยู่เสมอ เป็นต้น 

 

A คือ Achievement หมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์ด้านความรู้สึกพึงพอใจ รู้สึกถึงความสำเร็จ การได้รู้สึกถึงสิ่งที่ลงมือทำด้วยตนเอง (Sense of Control) แม้การจะประสบความสำเร็จต่างๆ จะต้องอาศัยความพยายามและความสามารถในการควบคุมตนเอง แต่เมื่อทำได้สำเร็จก็จะส่งผลต่อความรู้สึกพอใจ ภูมิใจ หากแต่แท้จริงแล้วความสำเร็จในงานจำเป็นต้องอาศัยหลายปัจจัยและมีหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นแล้วการมองหาความสำเร็จอื่นที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • การได้เรียนรู้เส้นทางใหม่ในการเดินทางไปพบลูกค้า 
  • การสามารถให้ความช่วยเหลือคนรอบข้างได้ 
  • การปรุงอาหารเมนูสร้างสรรค์จากวัตถุดิบที่เหลือในตู้เย็น
  • การจดจ่อทำงานจนเสร็จตามเวลา โดยเปิดโอกาสให้ตนมีความพอใจทั้งการได้ผลสำเร็จ การทำจนเสร็จ หรือแม้การลงมือทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต

 

R คือ Relax and Enjoyment หมายถึงกิจกรรมต่างๆ ตามความชอบ ถนัด และสนใจ ที่ไม่ต้องอาศัยพลังในการขับเคลื่อนมากนัก อาจเป็นไปได้ในกิจกรรมที่มีเนื้อหาชัดเจน เช่น เล่นเกม ดูหนัง หรืออาจเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกับความรู้สึกผ่อนคลายด้านประสาทสัมผัส เช่น แช่น้ำ มาสก์ผิว นวดศีรษะ หรือนอนเล่นฟังเสียงลมพัดเบาๆ กิจกรรมเหล่านี้มีคุณค่าให้เราได้มีโอกาสในการผ่อนคลายความเหนื่อยล้า แม้กิจกรรมเหล่านี้จะมีประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องหมั่นเตือนให้ระมัดระวังคือการควบคุมเวลาในการผ่อนคลาย เพราะ ‘ความสบายมักไร้ขอบเขตกาลเวลาเสมอ’ ควรมีการกำกับเวลาไว้ล่วงหน้าในการทำกิจกรรมผ่อนคลายเหล่านั้น เช่น ดูซีรีส์ 2 ตอน หรือเล่นโทรศัพท์ 30 นาที เป็นต้น

 

S คือ Social Interaction หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะคนอื่นและสิ่งอื่นในโลกใบนี้คือหนึ่งในคำตอบที่จะตอบกับเราว่า ‘ฉันเป็นใคร’ ทั้งยังมีประโยชน์ในการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและผ่อนคลายความรู้สึกร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหมายรวมถึงเพื่อนตามวัย เพื่อนต่างวัย เพื่อนตามความสนใจ ผู้ใหญ่ที่ปรารถนาดี เด็กที่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับเรา ต้นไม้ที่ปลูกไว้ หรือสัตว์เลี้ยง ผ่านช่องทางทั้งชีวิตจริงและโลกออนไลน์ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ้างเป็นสิ่งที่มีความหมาย

 

การปรับบาลานซ์ในชีวิตตนเองเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ แต่อาจใช้เวลาในการปรับหรือบริหารจัดการ บางช่วงเวลาอาจมีเรื่องยากที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเป็นอุปสรรค หากแต่การค่อยๆ มองตนเองแบบภาพกว้างและปรับใช้  B A R S Model อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าการสมดุลกายและใจจะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ในทุกวันของชีวิต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising