×

อะไรคือภาวะ Orthosomnia อาการนอนไม่หลับเพราะพยายามที่จะนอนให้หลับ

06.11.2023
  • LOADING...
ภาวะ Orthosomnia

เคยไหม ตั้งใจเข้านอนเร็ว จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนดีทุกอย่าง เตรียมวัดผลการนอนด้วยการเปิดแอปพลิเคชันหรือสวมใส่นาฬิกาที่สามารถวัดผลระหว่างการนอนหลับได้ แต่กลายเป็นว่ายิ่งพยายามหลับก็ยิ่งนอนไม่หลับ?


ตอนนี้มีคำว่า Orthosomnia เกิดขึ้น และกำลังเป็นกระแสในหมู่ของคนที่ให้ความสนใจเรื่องคุณภาพการนอนหลับ (คำว่า Orthosomnia มาจากคำในภาษากรีก Orthos ซึ่งแปลว่าถูกต้องหรืออย่างถูกต้อง และ Somnia แปลว่าการนอนหลับ) โดยเฉพาะคนที่มีปัญหานอนไม่หลับและพยายามแสวงหาวิธีการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพการนอนที่ดียิ่งขึ้น ทำให้หลายคนพึ่งพาการวัดผลต่างๆ ทั้งจากแอปพลิเคชันหรือจาก Smartwatch ที่แสดงผลหรือสถิติการนอนหลับออกมาเป็นกราฟหรือค่าตัวเลข ซึ่งสามารถติดตามผลการนอนได้ในทุกๆ วัน ฟังดูเหมือนจะดี แต่กลายเป็นว่าในต่างประเทศมีผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ออกมาเปิดเผยผลวิจัยจากหัวข้อ ‘Orthosomnia: Are Some Patients Taking the Quantified Self Too Far?’ และพบว่าในคนที่หมกมุ่นเรื่องคุณภาพมากเกินไปและให้ความสำคัญกับการวัดผล เพื่อให้ได้ตัวเลขคุณภาพการนอนที่ถูกต้องหรืออยู่ในเกณฑ์ดี อาจส่งผลกระทบต่อความเครียด เกิดความวิตกกังวล จนกลายเป็นว่าพอกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับการวัดผล ก็ยิ่งทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากความพยายามอย่างมากที่จะนอนให้หลับนั่นเอง

 

Orthosomnia มาจากคำในภาษากรีก Orthos ซึ่งแปลว่าถูกต้อง เมื่อรวมกับคำว่า Somnia ทำให้ Orthosomnia เป็นคำที่ใช้อธิบายภาวะที่บุคคลหมกมุ่นอยู่กับการนอนหลับที่สมบูรณ์แบบหรือถูกต้อง จนวิตกกังวลเกี่ยวกับการวัดผลมากเกินไป และส่งผลให้อาจนอนหลับยากกว่าเดิม 

 

คนที่เสี่ยงอยู่ในภาวะของ Orthosomnia คือคนที่มักจะอินกับการใช้เครื่องติดตามคุณภาพการนอนหลับ ไม่ว่าจะผ่านแอปพลิเคชันหรือการสวมใส่ Smartwatch และมักจะพึ่งพาข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอย่างมาก จนบางครั้งทำให้เกิดความกังวลที่มากเกินไปเกี่ยวกับการวัดผล และอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ จนทำให้นอนหลับยากขึ้นได้ 

 

แม้ว่าข้อมูลจากเครื่องมือติดตามการนอนหลับอาจมีประโยชน์ในการระบุรูปแบบและปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ แต่ก็อาจทำให้ผู้คนโฟกัสไปที่ความไม่สมบูรณ์แบบของข้อมูลการนอนหลับของตัวเอง และพยายามค้นหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นในทุกด้าน สิ่งนี้อาจยิ่งทำให้การนอนหลับเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะเกิดอาการวิตกกังวลและหมกมุ่นกับการวัดผลมากเกินไป ส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับลดลงในที่สุด 

 

ปัจจุบันภาวะ Orthosomnia ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นความผิดปกติโดยสถาบันทางการแพทย์หรือในวงการจิตวิทยา แต่แนวคิดนี้ได้เน้นย้ำถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการติดตามผลการนอนหลับ ต่อรูปแบบการนอนหลับของผู้คนในปัจจุบัน จึงควรมีการใช้เทคโนโลยีติดตามการนอนหลับอย่างเหมาะสม

 

ไม่ผิดที่คุณอยากมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น แต่ถ้าความสมบูรณ์แบบที่ต้องการ มันไม่ได้เป็นไปตามค่าวัดผลที่น่าพอใจ จนกระทบความสุขในการนอน และส่งผลให้คุณนอนหลับยากยิ่งกว่าเดิม อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีหรือใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี ไม่หมกมุ่นจนเกินไป อยากชวนลองวิธีต่อไปนี้ ซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆ ในการส่งเสริมคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น

 

 

จำกัดการใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดตามการนอนหลับ

 

หากคุณพบว่าตัวเองกำลังหมกมุ่นอยู่กับข้อมูลมากเกินไปแล้ว ให้ลองหยุดพักจากอุปกรณ์เหล่านี้ชั่วคราว เพื่อลดความวิตกกังวลหรือความเครียดที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว 

 

สร้างกิจวัตรการเข้านอนที่ผ่อนคลาย

 

จัดเตรียมสภาพแวดล้อมก่อนนอนที่ช่วยส่งสัญญาณให้ร่างกายรับรู้ว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว เช่น อ่านหนังสือเชิงบวกหรือหนังสือสวดมนต์ก่อนนอน การอาบน้ำอุ่น การนั่งสมาธิ หรือการยืดเส้นยืดสายเบาๆ ปิดไฟในห้องนอน เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เอื้อต่อการนอน  

 

ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

 

หากความกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของคุณ อย่าลังเลที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับที่สามารถให้คำแนะนำส่วนบุคคลได้ และอาจแนะนำการบำบัดด้านอื่นๆ ที่ช่วยได้ เช่น การบำบัดพฤติกรรมสำหรับการนอนไม่หลับ (CBT-I) ด้วยการปรับความคิดและปรับพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการนอน เพื่อช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X