เมื่อเอ่ยถึง หมอโอ๊ค-นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล ภาพจำของใครหลายคนอาจยังคงเป็นแพทย์ด้านผิวหนังความงาม แต่วันนี้หมอโอ๊คไม่ได้หยุดอยู่แค่ในวงการความงามอีกต่อไป เขากลายเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญที่ขับเคลื่อนแนวคิด Lifestyle Medicine หรือศาสตร์แห่งการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่เน้นการป้องกันมากกว่ารักษา และเชื่อว่าการจะมี ‘สุขภาพดี’ นั้นไม่จำเป็นต้องฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้
มากไปกว่านั้นเขายังเชื่อว่า บทบาทของแพทย์ในวันนี้ไม่ใช่แค่การรักษา แต่คือการเป็นผู้นำด้านการสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้สังคมเข้าใจและสามารถนำไปดูแลตัวเอง รวมถึงคนรอบข้างได้ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง
จากแนวคิดและความมุ่งมั่นทั้งหมดนี้ เราจึงชวนหมอโอ๊คมาเจาะลึกประเด็นร้อนในวงการสุขภาพอย่าง ‘ปากกาลดน้ำหนัก’ ที่กำลังเป็นกระแสทั้งในไทยและต่างประเทศ ว่าจำเป็นแค่ไหน เหมาะกับใคร และจะใช้ควบคู่กับการปรับไลฟ์สไตล์อย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและปลอดภัย พร้อมชวนคุณมองลึกไปกว่าการลดน้ำหนัก เพื่อเข้าใจนิยามของคำว่า ‘สุขภาพดี’ ในยุคข้อมูลล้นมือแบบทุกวันนี้
ในมุมมองของหมอโอ๊ค ปากกาลดน้ำหนักถือเป็นความฟุ่มเฟือยในวงการสุขภาพไหม
หมอโอ๊ค: ยอมรับว่าเป็นครับ เพราะว่ายามันยังราคาสูง มันเข้าถึงได้ไม่ทุกคนแน่ๆ แต่เราต้องทำความเข้าใจกับมัน ยาในกลุ่มนี้จริงๆ เป็นยาในกลุ่มเปปไทด์ที่ไปออกฤทธิ์ลักษณะคล้ายกับโมเลกุลหนึ่งที่เรียกว่า GLP-1 Agonist มันสามารถที่จะไปกดศูนย์ความหิวได้ ทำให้เราโหยอาหารน้อยลง ความอยากลดลง
นอกจากนี้มันยังไปแอ็กชันที่ส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งต้องเรียนตามตรงเลยว่า ข้อมูลมันยังไม่ออกมาได้ทั้งหมด เพราะพอขึ้นชื่อว่าเปปไทด์แล้ว มันมี Receptor หรือตัวรับของ GLP-1 Agonist เต็มไปหมดในร่างกาย แน่นอนว่าตัวหลักคือ ศูนย์ความหิว ตัวอื่นก็มี เช่น ทางเดินอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนไหวจากกระเพาะเราช้าลง
ทำให้เราอิ่มนานขึ้น บางส่วนก็อาจจะไปจับถึงตับ ไปถึงอวัยวะภายในอีกมากมาย ซึ่งการแพทย์เรายังไม่สามารถหาคำตอบออกมาได้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นพอเราเล่นกับอะไรที่มันเป็นโมเลกุลใหม่ๆ มันก็จะมีดีเทลที่ต้องศึกษาต่อไปเยอะ แต่โดยหลักแล้วมันช่วยในเรื่องเบาหวาน มันทำให้ร่างกายไวต่อการควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น แล้วก็ยังปรับนิสัยการรับประทานด้วย ก็เลยนำมาใช้กับคนไข้โรคอ้วน
ซึ่งในการนำมาใช้ต้องมีเกณฑ์ด้วยใช่ไหมว่าคนไข้แบบไหนที่ใช้ได้
หมอโอ๊ค: ถูกต้องครับ อันนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมจะพูดเสมอ แล้วก็ถือเป็นเรียกว่า เป็นมิชชันอย่างหนึ่งของผมเลย เกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับตาม Indication ของยากลุ่มนี้จะอยู่ที่ BMI 30 ขึ้นไป ก็คือคนไข้โรคอ้วนของเกณฑ์ตะวันตก หรือมากกว่า 27 โดยมีความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งในข้อเหล่านี้ ได้แก่ ความดันสูง ไขมันสูง เบาหวาน หรือหยุดหายใจขณะหลับ
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่ามีตัวยาบางตัวที่ทำงานวิจัยแล้วในกลุ่มคนไข้เอเชีย เพิ่งออกมาไม่นานเหมือนกัน ประมาณปีที่แล้วนี่เองนะครับว่า ในเชื้อสายเอเชียจริงๆ เกณฑ์โรคอ้วนเราไม่ใช่ BMI 30 เกณฑ์โรคอ้วนเราอยู่ที่ BMI 25 เรื่องนี้มีวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่ครับ
เราพบว่าคนเอเชียมีข้อเสียเปรียบ คือ จำนวนกล้ามเนื้อเราไม่ได้เยอะ แล้วมันมีความไวต่อโรคบางอย่าง เราพบว่าคนเอเชียตั้งแต่ BMI 25 ขึ้นไปมีความเสี่ยงของโรคหัวใจมากขึ้น เกณฑ์ของไขมันสูง เบาหวานก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นเกณฑ์โรคอ้วนของเอเชียปัจจุบันมันเลยลดมาเหลือ 25 ก็เลยมีการทำวิจัยสำหรับตัวยากลุ่มนี้ในคนไข้เอเชีย โดยทำ 2 เซ็นเตอร์ ที่ไทยและเกาหลี
มีการใช้ในคนไข้เกณฑ์โรคอ้วนของเอเชีย พอใช้ไปแล้วพบว่ามีความปลอดภัย แก้ไขปัญหาโรคอ้วนได้จริง อันนี้ยังไม่ได้อยู่ในข้อบ่งชี้ของการใช้ยาที่ระบุไว้ในฉลาก แต่ว่ามีงานวิจัย รับรองว่าในเชื้อสายเอเชีย คนที่มี BMI 25 ใช้ได้
ซึ่งมันต้องเป็นตัวยาเฉพาะเจาะจงด้วยใช่ไหม
หมอโอ๊ค: ใช่ครับ ถ้าตัวที่ทำงานวิจัยกับ BMI 25 มีตัวเดียว สามารถสอบถามคุณหมอได้ แต่ละตัวก็จะมีงานวิจัยที่ต่างกันไป เรื่องนี้ก็จะขยายไปถึงผลต่อสุขภาพด้วยครับ
ยาในกลุ่มนี้มันเข้ามาหลายตัว มีหลายบริษัทที่กำลังทำงานด้านนี้อยู่ และเชื่อว่าในอนาคตจะเข้ามาอีกเยอะมาก
ทีนี้เวลาทางการแพทย์เราพิจารณาว่ายานี้ดีกับคนไข้หรือไม่อย่างไร ต้องเรียนตรงนี้เลยนะครับว่า ‘ไม่มียาตัวไหนเพอร์เฟกต์’ คือตอนนี้ไม่มีผู้ชนะอันดับหนึ่งครับ แต่ละตัวเขามีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน
แบบนี้แต่ละตัววัดกันที่อะไร
หมอโอ๊ค: วัดกันที่งานวิจัยครับ ยาบางตัวเราพบว่า นอกจากลดน้ำหนักแล้ว ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ลดภาวะหัวใจวายบางประเภท ลดเรื่องของตับอักเสบและไขมันเกาะตับ ลดการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม
ดังนั้นเวลาเราจะเลือกมันก็ต้องขึ้นกับคุณหมอที่พิจารณาว่าตัวยาไหนที่มีหลักฐานเพียงพอ แล้วก็นำมาชนกับภาวะและเป้าหมายผู้ป่วย รวมถึงอื่นๆ ด้วย เช่น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ตัวไหนมากน้อยกว่ากัน คนไข้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร
จะเห็นเลยว่ากระบวนการมันเยอะในการที่เราจะพิจารณายาหนึ่งตัวให้คนไข้ มันคือการต้องดูก่อนว่า หนึ่ง เขาต้องใช้หรือเปล่า เพราะบางคนไม่ถึงเกณฑ์เลยแล้วก็มาใช้ก็ถือว่าผิด เป็นการใช้ยาผิดประเภทถูกไหมครับ
อันที่สองก็คือ ตัวยาเนี่ยเราตั้งใจที่จะให้เขาลดน้ำหนักเท่าไร จำเป็นต้องลดถึงขั้นไหน เกณฑ์นี้ต้องมีอยู่ แพทย์ต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ว่าน้ำหนักที่ดีที่สุดต่อสุขภาพระยะยาวของคนไข้คืออะไร มันไม่ใช่ว่าลดเยอะสุดคือดีสุด
ข้อต่อมาก็คือ ผลข้างเคียงต่างๆ มีข้อห้ามสำหรับตัวยาตัวใดบ้าง และข้อสุดท้ายคือประโยชน์ร่วม ถ้าคนไข้มีปัญหาหลายๆ อย่างพร้อมกัน การใช้โซลูชันหนึ่งอย่างแล้วได้ประโยชน์หลายๆ อย่างพร้อมกัน น่าจะเป็นชอยส์ที่ดีที่สุด ดังนั้นไม่ใช่การซื้อใช้เองแน่ๆ มันต้องมีกระบวนการคิด
ปัจจุบันเห็นว่ามีขายในช่องทางออนไลน์อย่างแพร่หลายแล้วก็ยังมีสอนวิธีจิ้มด้วย
หมอโอ๊ค: นั่นน่ะสิ หรือบางทีมันก็แบบมีการเอามาปล่อยต่อกันไป จริงๆ แล้วต้องบอกเลยว่ามันเป็นยาควบคุม บริษัทเขาก็ควบคุมอย่างดี ไม่ได้ปล่อยไปในระบบร้านขายยาทั่วไป มันต้องมีการสกรีนนิง ต้องมีการ Educate อย่างเหมาะสม
เพราะฉะนั้นแบบที่หิ้วมาขายเนี่ย อยากเตือนไว้เลย เราไม่รู้ว่าของจริงหรือเปล่า ที่ผมเคยเจอคือมันเป็นยาอื่นไปเลย
บางท่านก็ใช้วิธีว่า “ของจริงแน่นอน” เพราะเพื่อนไปตรวจมาแล้วก็มาแบ่งขาย แบบนี้ก็ไม่ควรเหมือนกันเพราะว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าตัวยานี้มันเหมาะกับเรา
เรียกว่ามันก็มีเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับเราได้ อยากรู้ว่ายาแต่ละตัว มีผลข้างเคียงเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
หมอโอ๊ค: อันแรกที่แรงสุดก่อนคือ ข้อห้าม ข้อห้ามแต่ละตัวไม่เท่ากัน แต่คล้ายๆ กัน มันมีงานวิจัยหนึ่งที่คุณหมอที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ต้องเคยอ่าน เป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่ามันเพิ่มการเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ชนิด Medullary (MTC) เพราะฉะนั้นยาหลายๆ ตัวจะอยู่ในคำแนะนำเลยว่า ห้ามใช้โดยเด็ดขาด
ยาบางตัวอาจจะพิสูจน์แล้วว่าความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีอยู่ในคำเตือนแต่ว่าไม่อยู่ในข้อห้าม
ข้อที่สองก็คือ ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับมะเร็งต่อมไร้ท่อ ซึ่งอันนี้ต้องเป็นคุณหมอแล้วล่ะ เราไม่มีใครตรวจได้ด้วยตัวเองหรอก ถ้ามีประวัติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งกลุ่มนี้ก็จะไม่แนะนำให้ใช้
อันที่ห้ามเด็ดขาดแน่ๆ คือผู้ที่ตั้งครรภ์ แล้วก็เคยแพ้ ถ้าเคยแพ้ห้ามใช้เด็ดขาด ข้อห้ามแบบรองลงมาก็จะมีเรื่องของตับอ่อนอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี เราพบว่าความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดีอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ว่ามันยังไม่ได้มีนัยสำคัญ แล้วก็อย่าลืมว่าคนไข้โรคอ้วนเขาก็จะมีความเสี่ยงต่อตับอ่อนอักเสบและนิ่วในถุงน้ำดีอยู่แล้ว พอวัดมามันเลยยังไม่ได้ต่างมากนัก แต่ก็เป็นโรคหนึ่งที่ต้องติดตาม
อีกอันก็คือคนไข้ที่มีภาวะเรื่องโรคไต การทำงานของไตเสื่อม ก็จะต้องได้ รับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยว่าเหมาะหรือไม่ เพราะว่าบางตัวมันก็เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนข้อห้ามอื่นๆ ก็จะมีความค่อนข้างซับซ้อนกว่านั้น เช่น มีปัญหาทางด้านอารมณ์ กรณีแบบซึมเศร้ารุนแรง มันอาจจะมีผลได้ ต้องปรึกษาคุณหมอ อันหนึ่งที่ต้องระวังอย่างมาก และคิดว่าอาจจะส่งเสริมให้เกิดปัญหาเหล่านี้มากขึ้นด้วย คือภาวะการกินผิดปกติ จะเป็นในกลุ่มโรคคลั่งผอม
เพราะฉะนั้นเกณฑ์ที่จะให้ใครอยู่ในแคนดิเดตสำคัญมาก เพราะบางคนน้ำหนักน้อย (Underweight) อยู่แล้ว มันไม่ควรที่จะพุชให้น้ำหนักเราต่ำเกินไป มนุษย์เราไม่ใช่ยิ่งผอมยิ่งดีนะครับ มันมีช่วงหนึ่งเท่านั้น ประมาณ BMI 20-22 ที่อายุมันจะยืนยาวที่สุดแล้วก็สุขภาพดีที่สุด ต่ำกว่านั้นก็อายุสั้นลง สูงกว่านั้นก็อายุสั้นลง
ด้วยความที่เกณฑ์มันเยอะมาก ก่อนที่คุณหมอจะตัดสินว่าคนคนนี้สามารถใช้ได้ ต้องมี Protocol อย่างไรบ้าง
หมอโอ๊ค: ต้องมีการซักประวัติอย่างละเอียดนะครับ ทั้งเรื่องของโรคประจำตัวประวัติในครอบครัว การตรวจร่างกาย วัดส่วนสูง น้ำหนัก Body Composition ซึ่งก็คือองค์ประกอบในร่างกายทั้งมวล กล้ามเนื้อมวลไขมัน
มวลกระดูก ก็มีผล
สิ่งเหล่านี้มันต้องมีรายละเอียดและต้องให้คนไข้เขาพร้อมจริงๆ บางทีต้องมีการเช็กสุขภาพด้วยว่ามันมีอะไรที่เป็นเป้าหมายเพิ่มเติม เช่น ระดับเบาหวาน ไขมัน หรือความดันที่เราต้องไปด้วยกัน หรือบางอย่างที่เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง เขาอาจจะมีโรคอะไรซ่อนอยู่ หรือโรคที่ทำให้ใช้ยาหรือหรือไม่ใช้ยา เป็นต้น
การตรวจเลือดจำเป็นไหม
หมอโอ๊ค: จำเป็นนะครับ สำหรับผมนี่ผมใช้ดูหลายอย่าง หลายประเด็นด้วยกัน ทั้งเป็นเป้าหมายในการรักษา แล้วก็ทั้งสำหรับติดตามกันด้วย แล้วอีกอันที่ลืมไม่ได้เลยคือประวัติใช้ยา
คือยาเหล่านี้เวลาเราฉีดเข้าไป มันจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการผ่านของอาหาร เรียกว่า Gastric Emptying Time บางครั้งจะไปเกี่ยวกับการดูดซึมยาบางชนิด บางยี่ห้อมีปัญหาเรื่องนี้
มันเคยเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น ยาบางตัวในท้องตลาด มีผลทำให้ประสิทธิภาพยาคุมกำเนิดลดลง แล้วคนไข้ดันตั้งครรภ์ขึ้นมาระหว่างใช้ยา ซึ่งเราถือว่ามันน่ากลัวมากถูกไหม เพราะว่าอย่างหนึ่งคือคนไข้ผู้หญิงที่น้ำหนักลดลง คือหลุดจากความเป็นโรคอ้วน จะมีความสามารถในการตั้งครรภ์ดีขึ้น คนที่น้ำหนักเกินมากก็จะเป็นคนไข้ Infertile ก็คือมีบุตรยาก
ถ้าเกิดว่าประสิทธิภาพยาคุมมันแย่ลง ดันท้องขึ้นมาระหว่างใช้ยา เรา ก็ไม่มีหลักฐานว่ายามันไปทำอะไรกับเด็กไหม แล้วยังมีภาวะที่เขายังไม่พร้อมที่จะมีบุตร เรื่องก็จะมีปัญหายาวอีก เพราะฉะนั้นบางตัวยามาพร้อมคำเตือนเลยว่าต้อง Double Protection ต้องมีแบบคุมกำเนิดวิธีอื่นด้วย
พูดถึงเรื่องเอฟเฟกต์แล้ว เคยได้ยินว่ามีคนที่หยุดใช้แล้วเจอภาวะน้ำหนักดีด (โยโย่เอฟเฟกต์)
หมอโอ๊ค: อันนี้มีงานวิจัยรับรองเหมือนกันว่า เมื่อหยุดยาไปแล้วภายในเวลา 2-3 ปี น้ำหนักมักจะค่อยๆ ไต่ระดับกลับเข้ามาสู่น้ำหนักเดิม ร่างกายของคนเรามันแปลกครับ มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Homeostasis ก็คือเวลาที่เราน้ำหนักขึ้นไปแล้ว ร่างกายมันจะจดจำว่า นี่คือมาตรฐานของร่างกาย เรา ร่างกายมนุษย์มันกลัวอดตาย มันจะชอบให้เราอ้วน
คือเมื่อไรที่เราลดเนี่ยมันจะส่งสัญญาณรุนแรงมาก มันจะมีฮอร์โมนหลายๆ ตัว อย่างเลปติน (Leptin) มันจะเป็นตัวที่ทำให้อิ่ม ร่างกายมันไปตัดสัญญาณเลปติน ให้มันแอ็กชันได้น้อยลง คือหลั่งออกมาแล้วก็ไม่รับรู้ว่ามันอิ่ม ให้กินเพิ่มอีก เกรลิน (Ghrelin) ก็คือตัวที่หิว หลั่งออกมาเพิ่ม ทำให้รู้สึกเหมือนท้องว่าง อยากกินเพิ่ม
ไม่ใช่แค่สองอย่างนี้ แต่มันยังไปเกี่ยวกับทั้งระบบเมตาบอลิซึม การเผาผลาญลดลง ร่างกายพยายามทำทุกวิถีทางให้มันกลับไปเป็นน้ำหนักเดิม เพราะมันดันจำไปแล้วว่าน้ำหนักเดิมของเราคือแบบนั้น
นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงสัญญาณที่ส่งไปทางอารมณ์ด้วย เพราะว่ามนุษย์เนี่ย หิวด้วย 3 กลไก Homeostasis คือพยายามดีดให้เป็นน้ำหนักเดิมให้ได้, Hedonic คือหิวแบบผูกพันกับอารมณ์ เช่น รู้สึกว่าวันนี้มีความสุข ก็อยากกินอะไรบางอย่างเพื่อเฉลิมฉลอง หรือเป็นวัฒนธรรม เช่น ต้องกินครบ 3 มื้อ อาหารเช้าต้องหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขมากมายที่ถูกกำหนดขึ้นมา เขาเรียกว่า Hedonic Eating ครับ
ซึ่งตัวยาสามารถช่วยเบรกทั้งสองระบบนี้ได้ แต่ยาจะช่วยอีกอันไม่ได้ ก็คือ Cognitive กินจากความคิด เช่น ดูรีวิว การบอกกล่าวของเพื่อนฝูง สิ่งเหล่านี้มันเป็นคำสั่งจากสมองระดับ High Brain ดังนั้นจะเห็นเลยว่า โอ้โห ขนาดใช้ยาอยู่ยังเบรกได้แค่ 2 อันเลย พอเราหยุดยาไปแล้ว แน่ๆ Homeostasis ทำงานหนักมาก คือร่างกายมันจะพยายามพุชกลับมา ก็ไม่แปลกที่น้ำหนักจะค่อยๆ กลับมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องกลับมาทุกคน โยโย่จะไม่เกิดเลยถ้าคนไข้ใช้ยาอย่างถูกต้อง และมีวิถีชีวิตใหม่ที่ทำได้อย่างยั่งยืน
การใช้ยาเนี่ย ระยะเวลามันยาวนานพอสมควรนะ โดยเฉลี่ยเราใช้กันที่ประมาณ 6 เดือน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับการดัดนิสัย พอเราปรับพฤติกรรมเกิน 6 เดือน มันจะเริ่มกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัว
ถ้าเรายอมรับและได้รับความรู้จากคุณหมอว่า เอาล่ะ ต่อไปวิธีกินเราจะเป็นแบบนี้ ต่อให้เราจะชีตเดย์หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องกลับมาเป็นอาหารปกติของเราแบบนี้ คู่ไปกับการออกกำลังกายและสัดส่วนของโปรตีน เราเสียน้ำหนักไขมันส่วนเกิน แต่รักษามวลกล้ามเนื้อไว้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้โยโย่ยากขึ้น
เพราะฉะนั้นหมอเลยพูดเสมอว่า อย่าให้ยาพร่ำเพรื่อ ไม่ควรเกิดกรณีที่เทคยากลับไปโดยอิสระ เพราะถ้าคนไข้ไปซื้อง่ายๆ ปักๆ ไป ผอมไหม ผอมแน่ แต่คุณกำลังสร้างคนไข้กล้ามเนื้อลีบ คุณกำลังสร้างคนไข้ให้มี พฤติกรรมการกินผิดปกติ พอหยุดยาปั๊บ เขาก็จะกลับมาแย่กว่าเดิม อันนี้มีผลต่อมนุษยชาติ ผมไม่ยอม
โดยทั่วไปใช้ยาประมาณ 6 เดือน แล้วมีบางกรณีที่ใช้เวลาสั้นกว่านี้ไหม
หมอโอ๊ค: มีครับ มันไม่ได้อยู่ที่การกำหนดระยะเวลาตามใจเรา แต่มันอยู่ที่เป้าหมายที่เราจะดันไปให้ถึงและกลยุทธ์ที่เราจะไปนะครับ ถึงแม้จะใช้ยาหรือไม่ใช้ยาก็ตาม มันก็มีเรตการลดน้ำหนักที่ถือว่าเป็นเฮลตี้เรตอยู่
ปกติหมอจะติดตามอย่างน้อยทุกเดือนเพื่อดูมวลกล้ามเนื้อ ช่วงวีคแรกๆ อาจจะมี เข้ามาพบติดตามอาการ เพราะว่ายากลุ่มนี้มันจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของอาหารช้าลง ถ้าคนไข้มีปัญหาเรื่องกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในยุคนี้ไปแล้ว ก็อาจรุนแรงขึ้นได้ มันต้องมีกลยุทธ์ในการแบ่งมื้อให้ถูก หรือเว้นระยะเวลาการกินก่อนนอน อย่างที่โรงพยาบาลสมิติเวชอาจจะโชคดีที่มีแพลตฟอร์มที่เป็น Virtual แบบเป็นทางการ มีการติดตามกันอย่างเหมาะสมเป็นประจำเพื่อปรับขนาดยา แต่พอเข้าสู่เฟสที่ Maintenance แล้ว 1-3 เดือน ค่อยติดตามผลได้
ในกรณีที่คนไข้กำลังจะเป็นเจ้าสาว อยากลดหุ่นให้ทันงาน มีเวลาน้อย คุณหมอมีวิธีการรับมือกับเคสนี้อย่างไร
หมอโอ๊ค: ก็ต้องคุยกันให้เข้าใจก่อน อันที่หนึ่งเลย เขาเป็นแคนดิเดตที่เหมาะกับตัวยานี้จริงหรือเปล่า เช่น น้ำหนักเขาไม่ได้ถึงเกณฑ์ อย่าใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาลดสัดส่วน เพราะปัญหาเจ้าสาวเนี่ยโดยมาก จะมีปัญหากับความไม่มั่นใจในความสวยงามของร่างกายบางส่วนมากกว่า เช่น ต้นขา ต้นแขน ยากลุ่มนี้เป็นยาลดน้ำหนักครับ มันไม่ใช่ยาลดสัดส่วน เพราะฉะนั้นถ้าคุณผอมเพรียวอยู่แล้วเนี่ย มันไม่สามารถเลือกบริเวณได้ ก็ไปทำหัตถการด้านความงามจะคุ้มค่ากว่าด้วยซ้ำไป แถมยังปลอดภัยกว่าด้วย
ไหนๆ ก็พูดประเด็นนี้แล้ว สาวๆ มักจะโฟกัสที่น้ำหนักตัว โดยลืมไปว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือสุขภาพ เพราะว่าถ้าใครเคยอยู่ในงานแต่งงานจะรู้ว่ามันเหนื่อยนะ เราคงไม่ได้ต้องการให้มีเจ้าสาวที่เป็นลมในงาน หรือว่าหน้าตาเหม่อลอย มันไม่โชว์ความสวย คุณอาจจะผอมจริงแต่ว่ามันไม่ใช่วันที่สวยที่สุดในชีวิตแน่ๆ
บางทีลดด้วยเฮลตี้เวย์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจจะไม่ได้ผอมสุดๆ แต่ว่ามันเป็นเรา ดูสดชื่น มันจะเป็นวันที่เรามีความสุขที่สุดหรือเปล่า
ถ้าคนที่มีความจำเป็นอยากจะลดน้ำหนักเร็ว แต่ BMI ไม่ถึง 25 ตามเกณฑ์ พอจะมีทางเลือกอื่นในการลดไหม
หมอโอ๊ค: ต้องเรียนตามตรงเลยว่า ไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ใช้ยา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคือพื้นฐานคือดีที่สุด ขอย้ำเสมอว่า ยาไม่เคยเป็นตัวแทนอะไรได้เลย แม้แต่งานวิจัยของยานะครับ ถ้าจะให้ได้ผลที่ดีที่สุดของยาทุกๆ ตัวที่แสนจะแพงเนี่ย เราก็อยากจะเอาผลที่ดีที่สุดจากเขาถูกไหม
มีงานวิจัยพิสูจน์มาแล้วว่า มันมีระยะเวลาก่อนที่จะเริ่มยา ปกติเราให้คนไข้ปรับวิถีชีวิตอย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อน เราพบว่าคนไข้ที่สามารถลดน้ำหนักได้ในช่วง12 สัปดาห์ อย่างน้อยประมาณ 5% แล้วสตาร์ตยาต่อ มันจะสมูทมาก
จะเห็นเลยว่างานวิจัยที่เขาโชว์กันว่าลดได้ 16%, 20% มันต้องผ่านขั้นนี้ก่อน เพื่อให้มีอุปนิสัยที่ดีก่อน แล้วยามาเสริมอุปนิสัยนี้ให้ไปต่อเพื่อสู้กับภาวะ Homeostasis ที่จะเกิดขึ้น
พูดถึงปฏิกิริยาหลังใช้กันบ้าง ส่วนใหญ่คนไข้จะรู้สึกได้ทันทีเลยไหม
หมอโอ๊ค: ตามธรรมดาแล้วการให้ยา เราจะมีการให้เป็นขนาดและมีสเต็ปในการปรับ โดสที่คุณหมอให้สตาร์ตจะเป็นโดสต่ำที่สุด ซึ่งความรู้สึกบางท่านจะไม่เยอะ ถ้าคนไข้ได้รับความรู้อย่างถูกต้อง แล้วก็ไม่ได้มีโรคเดิมที่รุนแรงก็สามารถปรับตัวได้ส่วนหนึ่งนะครับ จะมีคนไข้บางท่านที่มีความไวต่อตัวยา ก็อาจจะสเต็ปช้ากว่าคนอื่น แต่บางท่านก็มีที่รุนแรงถึงขั้นต้องหยุดหรือเปลี่ยนวิธี อันนี้ก็เลยจำเป็นที่จะต้องมีคุณหมอที่ดูแลอยู่
ในส่วนของผลลัพธ์ก็จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เนื่องจากว่ามันมีทั้งคนที่เป็น High Responder คือไวมาก กับ Low Responder สิ่งที่หมอจะ Concern มากคือ No Responder แบบที่ไม่ตอบรับกับยาเลย คนไข้กลุ่มนี้คือไม่สามารถลดน้ำหนักได้ เรียกว่าลดได้ต่ำกว่า 5% ของน้ำหนักสตาร์ตอ่ะครับ ภายในเวลาประมาณ 3 เดือน เราอาจจะพิจารณาให้หยุดเพราะว่ายาไม่ได้ช่วยอะไรคุณ
เคยมีเคสแพ้ยาบ้างไหม
หมอโอ๊ค: อันนี้ยังยังเจอไม่มาก แต่ที่เจอบ่อยมากคือเกิดผื่นแพ้หรือลมพิษในจุดฉีด อันนี้เกิดได้หลากหลาย มีตั้งแต่ทำความสะอาดผิวไม่ดีเพียงพอ ตัวปากกาเนี่ยหน้าตามันดูเหมือนของเล่น แล้วเข็มมันเล็กมากจนคนไข้แทบไม่รู้สึกเลย ตอนฉีดบางคนเลยลืมไปว่านี่คือการฉีดยา ก็ไม่ได้เช็ดแอลกอฮอล์อะไรเลย ปักๆ ไปเรื่อย มันก็เลยมีการติดเชื้อ แบบเกิดอาการแบบระคายเคืองจากความไม่สะอาด
อีกกรณีก็คือคนไข้แพ้ตั้งแต่เข็ม ใช้ตัวไหนก็แพ้ คุณหมอก็ต้องมีประสบการณ์ในการแยก ถ้าไม่เหมาะก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์อื่น
ปกติตัวปากกา มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยเฉลี่ยประมาณเท่าไร
หมอโอ๊ค: ปกติจะหลักหมื่นต่อเดือนนะครับ ยังไม่เคยเห็นหลักพัน ด้วยต้นทุนด้วยอะไรหลายๆ อย่าง
ถ้าให้คุณหมอแนะนำนวัตกรรมทางเลือกอื่นๆ มีอะไรที่พอจะตอบโจทย์บ้าง
หมอโอ๊ค: ต้องเข้าใจก่อนว่าพฤติกรรมอย่างไรก็เป็นพื้นฐาน ยาก็เป็นตัวเสริมขึ้นมา ถ้าคนไข้ที่น้ำหนักเกินมากๆ โดยเฉพาะโรคอ้วนชนิดรุนแรง (Morbid obesity) กลุ่มนี้อาจจะต้องข้ามยาขึ้นไปถึงการผ่าตัดเลยเพราะถึงเกณฑ์ผ่าตัดกระเพาะ บายพาส หรือว่าใส่บอลลูน
อย่าสับสนการลดน้ำหนักกับการลดสัดส่วน เช่น การทำให้เซลล์ไขมันตายจากความร้อน/ความเย็น คลื่นวิทยุ คลื่นเสียง การกระชับผิว การดูดไขมัน ผ่าตัดกระชับสัดส่วน อะไรพวกนี้ก็จะอยู่อีกแท่งหนึ่งเลย
อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังสนใจใช้ปากกาลดน้ำหนัก
หมอโอ๊ค: หมอว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นนวัตกรรม ก็ยังเชื่อว่า นวัตกรรมเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ดีแหละสำหรับมนุษยชาติ เพราะมันจะช่วยคนจำนวนมาก แต่มันก็ไม่มีอะไรที่จะดี 100% เราต้องมีความเข้าใจในตัวเขาด้วย เพราะว่าในทุกอย่างที่เราเอาเข้าไปในร่างกาย มันจะมีผลข้างเคียง ข้อห้าม หรือความจำเป็น ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องใช้ปากกานี้แน่ๆ มันจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เหมาะสม และกลุ่มคนที่ห้ามใช้ หรือคุณอาจจะเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี หลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘สุขภาพต้องมาก่อน’
การลดให้อยู่ในน้ำหนักในฝันเนี่ย ต้องผ่านกลยุทธ์ที่ถูกต้อง และต้องทำให้เราแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่ได้น้ำหนักที่อยู่ในฝันแต่ทำให้เราอ่อนแอลง หรือป่วยง่ายขึ้น ผมมีความเชื่อเลยว่า สุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีต่างหาก คือเป้าหมายของมนุษย์
ภาพ: ณัฐนิชา หมั่นหาดี