ปวดส้นเท้าตอนเช้า เดินนานๆ แล้วเจ็บ หรือใส่รองเท้าส้นสูงแล้วรู้สึกไม่สบายเท้า หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติของคนทำงานออฟฟิศ แต่รู้หรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของ ‘โรครองช้ำ’ ที่หากปล่อยไว้นานอาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เมื่อรองช้ำเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดกับนักกีฬาหรือนักวิ่งอย่างที่เราเข้าใจ แต่ใครๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้หากว่าคุณเดินมากและมีน้ำหนักตัวเยอะ
วันนี้เรามาที่ Bangkok Physiotherapy Center หรือ BPC สาขาศุภาลัย ไอคอน สาทร เพื่อพูดคุยกับ นพ.ภานุ กรเณศ ผู้ก่อตั้ง เพื่อสอบถามถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาโรครองช้ำอย่างถูกวิธี
นพ.ภานุ กรเณศ
ต้องบอกว่าที่เราเลือกที่นี่เพราะ Bangkok Physiotherapy Center เป็นคลินิกกายภาพบำบัดระดับพรีเมียมที่ได้รับความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน ด้วยทีมนักกายภาพบำบัดมืออาชีพ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล ซึ่งไม่ได้รักษาแค่อาการบาดเจ็บจากเกมกีฬาเท่านั้น แต่ยังเชี่ยวชาญด้านออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้
Bangkok Physiotherapy Center หรือ BPC สาขาศุภาลัย ไอคอน สาทร
มาดูกันว่าโรครองช้ำที่หลายคนมองข้ามนั้นอาจส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิด และเราจะดูแลป้องกันได้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นเลยอยากให้คุณหมออธิบายว่าโรครองช้ำเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
นพ.ภานุ: รองช้ำ (Plantar Fasciitis) เกิดจากการอักเสบของพังผืดบริเวณส้นเท้าและอุ้งเท้า ถ้าเราเดินบนพื้นแข็ง มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือรองเท้าไม่มีการรองรับที่ดีพอ มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ หรือเดินเยอะๆ ยิ่งถ้าน้ำหนักเยอะด้วยก็ยิ่งเสี่ยง ถ้าเป็นมากๆ อาการจะลามไปที่เส้นเอ็น อาจทำให้เกิดการอักเสบ บาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้
ส่วนนักกีฬาเกิดจากการใช้งานเท้ามากเกินไป อย่างนักวิ่งมาราธอนจะมีการกระแทกซ้ำๆ นอกจากนี้รูปร่างเท้าก็มีผลด้วย อย่างเช่น คนเท้าแบนจะมีความเสี่ยงมากกว่า และที่สำคัญคือเรื่องน้ำหนักตัว ถ้าค่า BMI 25 ขึ้นไปถือว่าเสี่ยงแล้ว
แสดงว่าไม่ใช่นักกีฬาก็เป็นได้ใช่ไหม คนทำงานออฟฟิศก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน?
นพ.ภานุ: ใช่ครับ สำหรับคนทำงานออฟฟิศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าส้นสูงจะทำให้ปลายเท้ารับน้ำหนักมากกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มแรงกดที่ฝ่าเท้า ทำให้พังผืดที่ฝ่าเท้าอยู่ในความยาวที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดแรงกระแทกสะสมจนเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดเล็กๆ ในที่สุด ซึ่งพังผืดพวกนี้ใช้เวลาในการหายนาน
สำหรับผู้ชายที่ใส่รองเท้าหนังพื้นแข็งก็มีความเสี่ยงด้วย?
นพ.ภานุ: มีครับ โดยเฉพาะรองเท้าหนังที่พื้นแข็ง ไม่มีการรองรับแรงกระแทกที่ดี เวลาใส่เดินนานๆ ก็มีโอกาสเกิดอาการได้ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องเดินมากๆ เช่น วิศวกรที่ต้องเดินตรวจไซต์งาน
แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรเมื่อเริ่มมีอาการรองช้ำ
นพ.ภานุ: สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดคือ เวลาตื่นนอนตอนเช้า ก้าวแรกที่ลงพื้นจะรู้สึกเจ็บที่ส้นเท้าชัดเจน นี่เป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรค เพราะตอนกลางคืนร่างกายมีกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง หรือที่เราเรียกว่า Night Time Healing ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อหดตัว พอตื่นเช้ามาก้าวแรกเนื้อเยื่อจะถูกยืดออกทันที ก็เลยรู้สึกเจ็บ
ถ้าอาการแรกมาแล้ว เราควรเริ่มการรักษาอย่างไรไม่ให้ลุกลามต่อไป
นพ.ภานุ: เราต้องดูก่อนว่าคนไข้มีเป้าหมายอะไร ถ้าเป็นนักกีฬาที่ต้องแข่งใน 2 เดือนเราก็ต้องวางแผนการรักษาแบบ Pain Management เราใช้เครื่อง Shock Wave ที่จะสร้าง Micro Injury ที่ส้นเท้า เพื่อกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้นและช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมของร่างกายนอกเหนือจาก Night Time Healing ที่ร่างกายทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่อยากหายขาดเราจะเริ่มจากการจัดการความเจ็บปวดด้วยยาแก้อักเสบ แช่น้ำร้อน ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยลดการอักเสบ แล้วก็มาดูเรื่องการใช้ชีวิต ทั้งลักษณะเท้า การใช้รองเท้า และวิธีการเดิน เพราะถ้ายังใช้ชีวิตแบบเดิมมันก็จะกลับมาเป็นซ้ำ
ส่วนใหญ่ใช้เวลารักษานานขนาดไหน
นพ.ภานุ: โดยทั่วไปประมาณ 8 สัปดาห์ครับ แต่สิ่งที่เราพบคือคนไข้มักอยากหายเร็วๆ บางคนเป็นมา 4-5 ปี แต่หวังจะหายใน 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราต้องได้รับความร่วมมือจากคนไข้ด้วย ทั้งการทำตามคำแนะนำและทำการบ้านที่ให้ไป ถ้าคนไข้มาทำกายภาพอย่างเดียว แต่กลับบ้านไม่ทำตามที่แนะนำ อาทิ ไม่ยืดเหยียดตอนเช้า อาการก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
แล้วคนที่เป็นมานาน 4-5 ปี เขาทนกับอาการได้อย่างไร
นพ.ภานุ: ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดทุกวัน แต่ความรุนแรงไม่เท่ากัน บางวันปวดน้อย บางวันปวดมาก จนกลายเป็นความเคยชิน หลายคนจะเดินกะเผลกข้างที่ปวด ไม่อยากลงน้ำหนักเป็นปีๆ ซึ่งการรักษาในกรณีที่เป็นเรื้อรังจะยากกว่ากรณีที่เพิ่งเริ่มมีอาการมาก
หากมาที่ Bangkok Physiotherapy Center กระบวนการรักษาจะเป็นอย่างไร
นพ.ภานุ: เริ่มจากการวินิจฉัยก่อนครับ นักกายภาพบำบัดจะซักประวัติอย่างละเอียดก่อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนักวิ่งก็จะถามเกี่ยวกับรูปแบบการวิ่ง พฤติกรรมการใช้ชีวิต หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายแบบองค์รวม ไม่ได้ดูแค่เท้าอย่างเดียว แต่ดูตั้งแต่หัวจรดเท้า เพราะบางทีปัญหาอาจมาจากสะโพกหรือขาไม่เท่ากัน ทำให้ลงน้ำหนักที่เท้าไม่สมดุล
เมื่อวินิจฉัยได้ว่าเป็นรองช้ำก็จะดูว่าสาเหตุหลักมาจากอะไร แล้วค่อยวางแผนการรักษา เริ่มจากการจัดการความเจ็บปวด แล้วค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเลือกรองเท้า การออกกำลังกาย และการดูแลตัวเองที่เหมาะสมกับสภาพเท้าของแต่ละคน
ที่นี่ดูแลรักษากันแบบส่วนตัวเลยใช่ไหม เหมือนมีนักกายภาพบำบัดส่วนตัว?
นพ.ภานุ: ใช่ครับ เราดูแลคนไข้แบบเฉพาะบุคคล ไม่มีสูตรตายตัวว่าทุกคนต้องรักษาเหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน หลายคนเลยกลายเป็นเพื่อนกันไปเลย เพราะเราเน้นการดูแลระยะยาว ไม่ใช่แค่รักษาให้หายแล้วจบ แต่ยังต้องมีการติดตามผลและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นอีก
จริงๆ แล้วผมอยากให้ทุกคนเข้าใจว่ากายภาพบำบัดไม่ใช่แค่การรักษาอาการเจ็บป่วย แต่เป็นการป้องกันด้วย คนที่จะได้ประโยชน์จากการกายภาพมากที่สุดคือคนที่มาปรึกษาตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะคนที่ต้องยืนหรือเดินเยอะๆ หรือคนที่ชอบวิ่ง ควรมาตรวจดูลักษณะเท้าของตัวเอง เข้าใจโครงสร้างร่างกาย และทดสอบความสมดุลของร่างกาย เพื่อที่จะได้ปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม
สำหรับคนที่ไม่สามารถมาที่คลินิกได้ อยากให้คุณหมอแนะนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นที่สามารถทำได้เองที่บ้าน
นพ.ภานุ: สำหรับการดูแลตัวเองที่บ้าน แนะนำให้แช่น้ำร้อนเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และที่สำคัญคือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนลงน้ำหนักตอนเช้า ส่วนการนวดก็ทำได้ แต่ต้องระวังไม่ใช้แรงมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง การยืดเหยียดและการแช่น้ำร้อนจะช่วยบรรเทาอาการได้ โดยเฉพาะในระยะแรกที่อาการยังไม่มาก
ที่ว่าการนวดต้องระวังเป็นพิเศษคืออะไรบ้าง และการกินอาหารเสริมช่วยได้ไหม
นพ.ภานุ: ตอนนวดไม่ควรใช้แรงกดมากเกินไป ส่วนพวกอาหารเสริมหรือสเตียรอยด์ไม่แนะนำเลย เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิด สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจสภาพร่างกายของตัวเองก่อน เพราะแต่ละคนมีโครงสร้างเท้าไม่เหมือนกัน บางคนเท้าแบน บางคนเท้าโก่ง วิธีการดูแลก็ต้องแตกต่างกันไป แม้แต่เท้าซ้ายกับเท้าขวาของคนเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย
ส่วนเรื่องการป้องกัน เราจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการรองช้ำได้อย่างไรบ้าง
นพ.ภานุ: สิ่งสำคัญคือต้องระวังการใช้เท้า หลังวิ่งเสร็จควรหมั่นยืดเหยียด เลือกรองเท้าที่มีการรองรับที่ดี ถ้าใส่รองเท้าส้นสูงก็ไม่ควรใส่นานเกินไป และที่สำคัญคือเรื่องน้ำหนักตัว เพราะยิ่งน้ำหนักมาก แรงกระแทกก็ยิ่งมากตามไปด้วย และถ้าเป็นก็อย่าปล่อยไว้นาน เพราะอาการเรื้อรังจะรักษาหายได้ยากมาก
รีวิวประสบการณ์ที่ได้รับ
สิ่งที่สัมผัสได้จากที่นี่คือความพรีเมียมทั้งสถานที่และเครื่องมือต่างๆ มีความเป็นส่วนตัว เราชอบที่มีนักกายภาพส่วนตัวคอยดูแลทุกครั้งที่มา ซึ่งทำให้มั่นใจว่านักกายภาพที่กำลังดูแลเราอยู่นั้นรู้ถึงปัญหาและทางแก้ของเราจริงๆ ทุกครั้งหลังจบ Session นักกายภาพที่ดูแลเราอยู่จะส่งข้อความมารีแคปปัญหาที่พบและคำแนะนำไว้ให้ เพื่อให้เราย้อนกลับมาอ่านได้เรื่อยๆ มาแค่ครั้งแรกอาการก็บรรเทาได้แล้ว
บทสรุป
โรครองช้ำอาจดูเป็นปัญหาเล็กน้อยที่หลายคนมักมองข้าม แต่หากปล่อยไว้อาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รักษายาก การป้องกันและดูแลตั้งแต่เริ่มมีอาการ ‘สำคัญกว่า’ การรอให้อาการหนักแล้วค่อยรักษา โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศที่ต้องยืน เดิน หรือใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงเลือกรองเท้าที่เหมาะสม นอกจากนั้นการปรึกษานักกายภาพบำบัดตั้งแต่เนิ่นๆ ยังช่วยให้เข้าใจสภาพร่างกายของตัวเองและป้องกันปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะสุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้จากการใส่ใจดูแลตัวเองในทุกๆ ก้าวที่เดิน
Bangkok Physiotherapy Center (BPC)
Location: ศุภาลัย ไอคอน สาทร
Contact: 09 2257 5089
Website: https://www.bpcphysio.com/th