×

ไม่อยากเป็นวัยรุ่นนิ้วล็อกต้องป้องกันตัวเองอย่างไร?

26.08.2023
  • LOADING...

อีกหนึ่งโรคที่สร้างความรำคาญให้วัยรุ่นหรือวัยทำงานในขณะนี้ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือโรคนิ้วล็อกหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trigger Finger ตัวโรคไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่สร้างความรำคาญในการใช้งานได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดบวมที่โคนนิ้วมือ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ดังใจ

 

โดยปกติแล้วการขยับงอ-เหยียดของนิ้วมือของเราจะขยับจากเส้นเอ็นนิ้ว ซึ่งมีทั้งจุดเกาะต้นอยู่ที่มือและแขน และการที่เส้นเอ็นดังกล่าวจะไปติดตามส่วนต่างๆ ของกระดูกนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วนั้น จะต้องลอดผ่านเส้นเอ็นที่วางตัวคล้ายทางลอดอุโมงค์ล้อมรอบเอ็นที่แยกเป็นสัดส่วยนของแต่ละนิ้ว โดยทางลอดนี้จะมีส่วนประกอบของของเหลวคล้ายการหล่อลื่นให้เส้นเอ็นสามารถขยับงอ-เหยียดนิ้วได้อย่างราบรื่นไม่สะดุด แต่หากเมื่อใดเส้นเอ็นทางลอดนี้เกิดการบาดเจ็บอักเสบก็จะบวมขึ้น และทำให้อุโมงค์ลอดนี้แคบลงจนทำให้เส้นเอ็นขยับลำบากและติดขัดได้ โดยเส้นเอ็นทางลอดนี้วางอยู่ที่โคนนิ้วแต่ละนิ้วของเรานั่นเอง ซึ่งโรคนิ้วล็อกนี้เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไร หมอรวบรวมแนวทางทั้งหมดมาให้แล้วในบทความต่อไปนี้

 


 

 

โรคนิ้วล็อกเกิดจากอะไร

 

โรคนิ้วล็อกนั้นสามารถจัดอยู่ในกลุ่มของโรคที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ และอยู่ในกลุ่มอาการ Office Syndrome ได้อีกด้วย สาเหตุของอาการนิ้วล็อกนั้นไม่ได้มีชัดเจน แต่มีปัจจัยที่เชื่อว่าทำให้เกิดขึ้นก็คือ การใช้มืออย่างหนักซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องออกแรงเกร็งงอนิ้วมากๆ เช่น การหิ้วถุงพลาสติกหนักๆ การจับดินสอปากกาเป็นเวลานาน การถักนิตติ้ง และที่พบมากขึ้นในวัยอย่างเราๆ ก็คือการใช้นิ้วมือลากตามหน้าจอขณะเล่นโทรศัพท์ หรือการเกร็งนิ้วมือบังคับเมาส์เป็นเวลานาน ฯลฯ ด้วยความที่ยุคสมัยนี้การใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ทำให้เราสามารถพบโรคนิ้วล็อกในคนอายุน้อยกว่าเดิมที่มักพบในอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปนั่นเอง

 

 

อาการของโรคนิ้วล็อก

 

อาการและความรุนแรงของโรคนิ้วล็อกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ โดยเริ่มจาก

 

ระดับที่ 1 มีเพียงอาการปวดที่โคนนิ้วและนิ้วตึงๆ แต่ยังเคลื่อนไหวใช้งานได้ดี 

ระดับที่ 2 มีอาการปวดที่โคนนิ้วและเริ่มมีอาการขยับติดขัด โดยมักจะงอได้ดี แต่ตอนเหยียดออกมีจังหวะสะดุด หรือมีเสียงคลิกแล้วค่อยเหยียดออกได้ 

ระดับที่ 3 มีอาการปวดโคนนิ้วร่วมกับการเหยียดนิ้วยากขึ้น โดยต้องใช้อีกมือมาช่วยจับนิ้วให้เหยียดออก ในขณะที่ตอนงอนิ้วอาจไม่มีปัญหาอะไรเลย 

ระดับที่ 4 มีอาการปวดและนิ้วงอแล้วติดแน่น ไม่สามารถเหยียดออกได้ หรือต้องใช้แรงมากในการจับเหยียดออก

 

โดยจะพบว่าหากเราเริ่มรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ ผลการรักษามักจะดีด้วยการกินยาแก้ปวด แก้อักเสบ และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือไปปรึกษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดเพื่อช่วยทำกายภาพบำบัดลดการอักเสบก็ได้ แต่ถ้าทำแล้วไม่ดีขึ้นก็จะขยับการรักษาไปใช้วิธีการฉีดยาสเตียรอยด์หรือผ่าตัดสะกิดเส้นเอ็นทางลอดแทนเป็นลำดับถัดไป

 

แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเราเริ่มมีอาการของโรคนิ้วล็อก

 

  1. เริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว อาจจะเป็น 1 นิ้ว หรือหลายๆ นิ้วร่วมกันก็ได้

 

  1. ตอนเช้ามีอาการตึงๆ นิ้วมือ งอ-เหยียดไม่ค่อยสะดวก อาจมีหรือไม่มีเสียงคลิก หรือจังหวะที่กระตุกเวลางอ-เหยียดนิ้ว

 

  1. อาจคลำได้เป็นปุ่ม (Nodule) ที่โคนนิ้วที่มีอาการ และมักกดเจ็บร่วมด้วย

 

 

การดูแลรักษาโรคนิ้วล็อก

 

เมื่อพบว่าตนเองเริ่มมีอาการนิ้วล็อกแล้ว เราสามารถดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นได้โดยการ

 

  1. การพักการใช้นิ้วมือ โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้นิ้วมือที่มีความเสี่ยงแบบข้างต้นก่อนเป็นอันดับแรก

 

  1. หากที่โคนนิ้วมีความบวมแดงอักเสบมากให้เลือกประคบหรือแช่น้ำเย็น 15 นาทีต่อครั้ง แต่หากไม่มีอาการบวมแดงชัดเจนสามารถประคบหรือแช่น้ำอุ่น 15-20 นาทีต่อครั้ง โดยอาจทำวันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น 

 

  1. หากไม่สามารถพักการใช้งานนิ้วได้ ให้ใส่สนับมือสำหรับอาการนิ้วล็อกเมื่อทำงานเพื่อลดการใช้งาน แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก 

 

 

  1. ถ้าอาการเจ็บที่โคนนิ้วลดลงแล้วและเริ่มควบคุมการขยับนิ้วได้มากขึ้น ก็สามารถออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการงอ-เหยียดนิ้วได้ เช่น

 

  • การขยับเอ็นนิ้วแบบเริ่มต้น ทำได้โดยวางมือแบราบไปกับโต๊ะ และค่อยๆ แอ่นยกเฉพาะนิ้วขึ้นมาทีละนิ้วจนครบ 5 นิ้ว เป็น 1 รอบ ทำซ้ำ 3-5 รอบ หรือทำเรื่อยๆ เมื่อมีเวลา แนะนำให้ระวังการแอ่นข้อมือ ซึ่งสามารถทำให้เจ็บข้อมือได้หากลงน้ำหนักไปที่ข้อมือมากเกินไป

 

 

  • เมื่อเริ่มขยับนิ้วมือคล่องมากขึ้นอีก ให้เริ่มออกกำลังกายขยับเอ็นนิ้วมือ (Tendon Gliding Exercise) โดยเริ่มจากการแบมือให้สุดแล้วค่อยๆ งอนิ้วมือ 4 นิ้วลงมาก่อน แล้วตามด้วยนิ้วโป้งช้าๆ จากนั้นค่อยๆ ขยับข้อต่อโคนนิ้วให้ยกขึ้นตรงแล้วกลับสู่ท่าแบมืออีกครั้ง ทำ 10 รอบ วันละ 3-5 เซ็ต โดยอาจทำขณะแช่น้ำอุ่นก็ได้

 

 

  • เมื่อไม่มีอาการปวดแล้วและขยับนิ้วมือได้คล่องมากขึ้น สามารถเริ่มออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งหมด เช่น การกำและคลายลูกเทนนิส และเหยียดนิ้วต้านกับหนังยาง โดยเอาหนังยางคล้องที่นิ้วทั้ง 5 ในขณะขยุ้มมือ แล้วค่อยๆ ออกแรงกางนิ้วออก โดยทำท่าละ 10 ครั้งต่อเซ็ต 3 เซ็ตต่อวัน

 

 

  • หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่หายจากอาการนิ้วล็อก ควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูและกายภาพบำบัด หรือด้านกระดูกและข้อเพื่อร่วมวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

 

เราสามารถป้องกันโรคนิ้วล็อกได้ไหม

 

เนื่องจากสาเหตุของโรคนิ้วล็อกยังไม่ชัดเจน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคได้ โดยการดูแลถนอมมือและนิ้วของเราอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้งานหนัก โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องออกแรงเกร็งนิ้วเป็นเวลานาน อย่างการใช้โทรศัพท์มือถือ เมาส์ หรือการถือถุงหนักๆ แต่หากจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ ก็ต้องหมั่นพักให้ถี่ขึ้น เปลี่ยนมาสะบัดหรือยืดเหยียดนิ้วมือบ่อยๆ ก่อนที่นิ้วของเราจะล็อกแล้วต้องหยุดทำงานนานกว่าเดิม เพียงเท่านี้ก็สามารถลดโอกาสการกลายเป็นวัยรุ่นนิ้วล็อกได้แล้ว ป้องกันไว้ดีกว่าแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising