×

ทุกข์ใจเรื่อง ‘ผีตู้เย็น’ เราควรหงุดหงิดกับเรื่องนี้ไหม?

13.05.2023
  • LOADING...
ผีตู้เย็น

เราควรหงุดหงิดกับเรื่องนี้ไหม? เมื่อของที่เราแช่ไว้ในตู้เย็นตกไปอยู่ในมือคนอื่น (ใครหยิบไปกินก็ไม่รู้) หรือการไม่รักษาความสะอาดของการใช้ตู้เย็นในบริษัทร่วมกัน?

 

ในหนึ่งวันเราใช้เวลากับที่ทำงานค่อนข้างมาก บ้างก็ 6 ชั่วโมง บ้างก็ 8 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น การได้รับการดูแลจากองค์กรให้พนักงานได้มีพื้นที่สำหรับหย่อนใจ นับเป็นสวัสดิการที่หลายบริษัทให้ความสำคัญ เช่น มุมกาแฟ พื้นที่สำหรับหย่อนใจ ห้องเล่นเกม ฟิตเนสเล็กๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำร่วมกัน อาทิ การออกกำลังกายด้วยกันหลังเลิกงาน

 

‘ตู้เย็น’ เป็นสวัสดิการในการหย่อนใจที่มีในเกือบทุกบริษัท ตู้เย็นเป็นสวรรค์ของใครหลายคน โดยเฉพาะในฤดูร้อน หากเรามีชาไข่มุกที่น้ำแข็งไม่ละลายและสามารถคงรสชาติได้นาน หากเราจะมีมะม่วงอกร่องแช่เย็นกินคู่กับข้าวเหนียวหวานมัน หรือแม้กระทั่งการที่เราแค่มีน้ำเย็นไว้ดื่มตอนกระหาย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

 

แต่ตู้เย็นตู้เล็กๆ กับการฝากความสุขและความคาดหวังของใครหลายคนเอาไว้ จึงมักเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันได้ไม่น้อยในตู้เย็น เช่น

 

  • ของที่เราแช่ไว้ตกไปอยู่ในมือคนอื่น  
  • การไม่รักษาความสะอาดของการใช้ตู้เย็นร่วมกัน 
  • ความใส่ใจที่น้อยเกินไป อาทิ ดื่มน้ำเย็นหมด แล้วใส่ขวดเปล่าเข้าไปในตู้เย็น
  • การขาดความระมัดระวังในการเอาสิ่งของที่รบกวนผู้อื่นมาแช่รวม อาทิ อาหารที่มีกลิ่นรุนแรง

 

เหล่านี้ทำให้ตู้เย็นที่เคยสร้างความเย็นกายเย็นใจ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความรบกวนจิตใจให้หงุดหงิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือบางคนกลับมีความคิดวกวนต่อความหงุดหงิดใจว่า “เราควรหงุดหงิดกับเรื่องนี้ไหม?” และสับสนว่า “เรื่องเล็กน้อยแค่นี้เราถึงขึ้นต้องหารือหรือพูดคุยกันหรือไม่” ยิ่งสร้างความลำบากใจต่อการใช้ชีวิตในออฟฟิศ เพราะไม่พูดอะไรก็อึดอัดใจ พูดออกไปก็กลัวว่าจะกลายเป็นคนคิดเล็กคิดน้อย

 

ในขณะที่มนุษย์มีกฎและเส้นแห่งการยอมรับอยู่ในใจ ต่อพฤติกรรมที่ผู้อื่นกระทำกับเรา บางคนอาจมีกฎต่อการใช้ตู้เย็นร่วมกันว่า 

 

  • สิ่งของเป็นพื้นที่ส่วนตัว คนอื่นจะมาละเมิดไม่ได้ 
  • หากใครต้องการแบ่งปันหรือใช้สิ่งของ ควรสื่อสารและได้รับอนุญาตเสียก่อน 
  • การใช้สิ่งของร่วมกันต้องรักษาความสะอาด 
  • เอาใจเขามาใส่ใจเราคือพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน 

 

ซึ่งกฎภายในเหล่านี้เป็นกฎที่สะสมมาจากประสบการณ์เดิมในชีวิตและคุณค่าทางสังคม โดยแต่ละคนอาจมีกฎต่อเรื่องแต่ละเรื่องที่ไม่เหมือนกัน บางคนยอมรับได้ที่จะให้คนอื่นหยิบสิ่งของในตู้เย็นของตนไปรับกินโดยไม่ต้องบอกกล่าว แต่สำหรับบางคนเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญที่สุดคือเราต้องยอมรับกับตนเองก่อนว่า “เราอาจมีกฎภายในที่ไม่เหมือนกัน และเราสามารถไม่พอใจได้” เพื่อจัดการอารมณ์ก่อนจะสื่อสารอย่างสุภาพในการรักษาสิทธิ์ของตนเอง 

 

จะทำอย่างไรเมื่อถูก ‘ผีตู้เย็น’ รบกวนจิตใจในที่ทำงาน 

 

  1. ยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกบางอย่าง ไม่ว่าสิ่งที่เข้ามากระทบกับเราจะเป็นเรื่องเล็กในสายตาใครๆ แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่ของเราก็ได้ เพราะแต่ละคนมีความคิดเห็นกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน อีกทั้งการพยายามอย่างมากในการกำกับอารมณ์ อาจยิ่งทำให้เกิดการระเบิดอารมณ์ออกมาในที่สุด

 

  1. ตั้งชื่อความรู้สึก (Naming Emotions) เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันว่ากำลังมีความรู้สึกเข้ามากระทบจิตใจเรา หลายครั้งพบว่าการบอกว่าตนเองโกรธเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้นการตั้งชื่อความรู้สึกในแบบฉบับของเราแต่พอเข้าใจได้ อาจช่วยให้เกิดการรู้เท่าทันไปพร้อมๆ กับการยอมรับ

 

  1. สังเกตอาการทางกาย (Body Sensation) หลายครั้งพบว่าคนที่มีอารมณ์โกรธจะมีความรู้เท่าทันปรากฏการณ์ทางอารมณ์ได้ช้ากว่าการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะการสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางกายนั้นค่อนข้างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ง่ายกว่า เช่น หัวร้อน มือเย็น คอเกร็ง ตาแข็ง เสียงเข้ม ฯลฯ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า ความโกรธกำลังเข้ามากระทบจิตใจ

 

  1. ทำความเข้าใจเนื้อหาความคิด (Content of Thought) ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ อาทิ ‘ไม่พอใจที่เขาหยิบสิ่งของไปกินโดยไม่บอก’ ซึ่งการเข้าเนื้อหาความคิดนี้จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างตรงไปตรงมา และรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง

 

  1. ระมัดระวังการสื่อสาร (Action-Reaction) เพราะการสื่อสารเมื่อยังมีอารมณ์โกรธระดับสูง อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากเจตนาของการรักษาสิทธิ์ในสิ่งของของตนเอง เป็นการตำหนิบุคคลที่เข้ามาละเมิด ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการชี้ให้เขาได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเข้มงวด แต่อาจส่งผลเสียต่อการทะเลาะเบาะแว้งและความสัมพันธ์ระยะยาว 

 

  1. I Message หลังอารมณ์สงบพอประมาณ การสื่อสาร ‘ทางตรง’ ที่จะช่วยให้เขาได้รับรู้ถึงผลกระทบจากพฤติกรรมที่ไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์คือ การสื่อสารแบบ I Message คือการสื่อสารที่ผู้พูดบอกความรู้สึก ความต้องการ หรือสิ่งที่คาดหวัง มากกว่าการมุ่งเป้าไปพูดหรือตำหนิที่ตัวบุคคลนั้นๆ อาทิ เราต้องการให้เธอบอกเราก่อนที่จะหยิบชาไข่มุกเราไปกิน แทนการพูดว่า เธอไม่เอาไหน ชาไข่มุกแก้วเดียวซื้อกินเองไม่ได้

 

  1. การสื่อสารทางอ้อมและการจัดการบริบท เป็นการป้องกันปัญหาโดยอาศัยความสร้างสรรค์ เพื่อให้สื่อสารเจตนาของเราให้ชัดเจนก่อนที่จะเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น การแปะป้ายชื่อลงบนสิ่งของ การนำอาหารใส่กล่องส่วนตัวเพื่อแยกให้เห็นชัดเจน หรือเขียนโน้ตบอกเจตนา อาทิ ‘จะหยิบไป ไลน์มาบอกก่อนนะจ๊ะ’ 

 

  1. การอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มากมักทำให้เกิดปัญหาในใจ หากแต่การได้มีโอกาสยอมรับอารมณ์ จัดการอารมณ์ และสื่อสารออกไปอย่างเหมาะสม เป็นการฝึกทักษะประจำตัวและอาจนำไปปรับใช้ในงานอื่นที่มีผู้คนคิดเห็นแตกต่างกัน และกระทำพฤติกรรมในรูปแบบที่อาจกระทบใจเรา เพื่อการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการอย่างเหมาะสม โดยเริ่มฝึกฝนจากการใช้พื้นที่ในชีวิตประจำวันร่วมกัน 

 

‘ให้ตู้เย็นได้กลับมาสร้างความเย็นในใจ’

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising