×

วิธีหยุดวงจรความเครียดจากอาการปวดบ่า-ไหล่เรื้อรัง

12.08.2024
  • LOADING...
อาการปวด

อาการปวดบ่า ไหล่ และหลัง เป็นอาการยอดฮิตในวัยทำงาน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาให้หายปวด หรือทนปวดมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดเป็นอาการปวดที่เรื้อรังได้ หลายคนสังเกตว่าเมื่อใดที่ต้องประสบปัญหาความเครียด ไม่ว่าจะจากงานหรือเรื่องอื่นๆ อาการปวดมักจะเป็นมากขึ้น จนบางครั้งถึงกับตื่นไปทำงานไม่ไหว หรือต้องหยุดงาน และพอหยุดงานก็ทำให้ยิ่งเครียด ยิ่งกังวล จนอาการปวดทวีคูณมากขึ้นอีก พอเล่าให้ใครฟังก็มักจะไม่มีใครเข้าใจ จนสะสมและทำให้ตัวเองเครียดหนัก หรือคิดว่าตัวเองคิดไปเอง จนสุดท้ายในบางครั้งก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปโดยไม่รู้ตัว

 

จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้สามารถพบได้จริงและมีคำอธิบายทางการแพทย์ที่ชัดเจน โดยที่มีตั้งแต่อาการเริ่มต้น ไม่จำเพาะ ไปจนถึงมีอาการมาก จนสามารถวินิจฉัยเป็นโรคได้

 

อาการปวดเกี่ยวข้องกับความเครียดได้อย่างไร

 

อาการเจ็บหรือปวด หรือในภาษาอังกฤษนิยามเป็นคำว่า ‘Pain’ นั้นมีนิยามที่สรุปจากสมาคมความเจ็บปวดระดับนานาชาติ (IASP) ในปี 1976 ว่าหมายถึง ความรู้สึกไม่สบาย หรือประสบการณ์การรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวกับการมีอาการบาดเจ็บหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง จากนิยามดังกล่าวจะพบว่าความรู้สึกเจ็บปวดของร่างกายนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างแยกออกจากกันแทบไม่ได้


หากอธิบายลงลึกมากขึ้น เมื่อร่างกายของมนุษย์ได้รับการบาดเจ็บ เช่น ถูกมีดบาดนิ้ว เส้นประสาทรับความรู้สึกที่นิ้วก็จะตอบสนองทันที โดยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและสารอักเสบมาที่บริเวณแผล ทั้งยังส่งกระแสประสาทผ่านไขสันหลังขึ้นไปยังสมองเพื่อแปลผลให้รู้สึกเจ็บปวด ในเวลาเดียวกันก็จะส่งกระแสประสาทไปยังเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเพื่อให้เราชักนิ้วออกจากมีดทันทีทันใด กระบวนการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงคิดว่ายังไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์เลยแม้แต่น้อย


แต่ในทางคู่ขนาน เมื่อกระแสประสาทจากการบาดเจ็บส่งผ่านไขสันหลังไปยังสมอง ก็ได้มีกระแสประสาทวิ่งไปกระตุ้นใยประสาทอีกเส้นทาง เพื่อส่งสัญญาณให้หลั่งสารสื่อประสาท 2-3 ชนิดออกมาควบคุมความปวดนั้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่แท้จริง เพื่อทำให้ร่างกายไม่รู้สึกเจ็บมากเกินไป (เช่น เมื่อมีดบาดนิ้วเพียงเล็กน้อย ความเจ็บปวดไม่ควรมากเท่าอาการเจ็บปวดของแผลฉกรรจ์ที่เจ็บรุนแรงเหมือนจะเสียชีวิต) สารสื่อประสาทที่สำคัญในกระบวนการดังกล่าวนี้คือสารกลุ่มโอปิออยด์ที่อยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ (Endogenous Opioid คือสารที่มีลักษณะคล้ายฝิ่นที่หลั่งอยู่ในร่างกาย), เซโรโทนิน (Serotonin), นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และอื่นๆ โดยที่หลายๆ คนอาจทราบกันดีว่าสารสื่อประสาทกลุ่มนี้มีชื่ออยู่ในสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เครียดและซึมเศร้าด้วยนั่นเอง 

 

เซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินจัดเป็นสารสื่อประสาทที่ถูกพูดถึงในกระบวนการเกิดโรคซึมเศร้ามากที่สุด โดยเมื่อมนุษย์มีความเครียดจะพบว่าระดับของสารสื่อประสาท 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะเซโรโทนินจะลดลง และทำให้เกิดความไม่สดชื่น เศร้าหมอง หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

 

เมื่อเราทราบข้อมูลมาถึงจุดนี้จึงเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาการเจ็บปวดกับความเครียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือเมื่อร่างกายมีระดับของเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินที่ลดลงเป็นเวลาหนึ่ง ร่างกายก็จะไม่สามารถควบคุมระดับความเจ็บปวดได้ และยังสามารถทำให้มีความเครียดหรืออาการซึมเศร้ามากขึ้นได้อีกด้วย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอาการปวดหรือความเครียดที่เป็นจุดเริ่มต้นอาการของผู้ป่วยที่มีอาการปวดร่วมกับอารมณ์เครียดหรือซึมเศร้า หลายครั้งสองอาการนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันโดยที่ไม่รู้ตัว แต่อาการที่ทำให้มาพบแพทย์โดยมากจะเป็นอาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain) เนื่องจากสร้างความทุกข์ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิต โดยที่ไม่ได้สังเกตว่ามีอาการกังวลจนเกิดเป็นความเครียดและภาวะซึมเศร้าอยู่ด้วย

 

เราสามารถจัดการและรักษาอาการปวดที่ร่วมกับความเครียดได้หรือไม่

 

หากเริ่มสังเกตว่ามีอาการเจ็บปวดตามร่างกายร่วมกับความเครียด เราสามารถรับมือได้ด้วยตนเองโดยการจัดการอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการนวด กินยาแก้ปวดประจำบ้าน และอื่นๆ ได้ หรือออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียด หลายครั้งเมื่ออาการปวดดีขึ้น ความเครียดก็จะลดลงไปพร้อมๆ กัน แต่หากเริ่มไม่สามารถจัดการอาการได้ในระยะเวลาหนึ่งก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรักษา เนื่องจากหากเราสามารถจัดการรักษาสาเหตุของอาการปวดได้เร็วก็จะสามารถตัดวงจรความผิดปกติของสารสื่อประสาทได้ทัน ก่อนที่จะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งมีภาวะทางอารมณ์ที่ชัดมากขึ้นและรักษายากมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่ออาการปวดลดลงได้เร็วก็จะทำให้ร่างกายและจิตใจมีกำลังมากพอที่จะไปจัดการปัญหาความเครียดหรือความปวดในชีวิตจริงได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาวินิจฉัยและให้การรักษาตามสาเหตุของอาการปวดนั้นให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแผล การให้ยาระงับปวด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น แต่หากประเมินว่าอาการปวดนั้นเรื้อรัง และเริ่มมีอาการทางความเครียดหรืออารมณ์ เช่น นอนไม่หลับ ไม่สดชื่นยามเช้า ซึมเศร้าง่าย ฯลฯ ก็อาจพิจารณาเริ่มยารักษาอาการซึมเศร้า ซึ่งเข้าไปจัดการสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินถ้าจำเป็น ซึ่งการรับยาชนิดนี้ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงหากมีการใช้ยาเองที่ไม่ถูกต้อง และเมื่ออาการดีขึ้นก็จะสามารถหยุดยาได้ในเวลาที่เหมาะสม ไม่ได้จำเป็นต้องกินตลอดชีวิต

 

หากไม่ได้รักษาอาการปวดที่ร่วมกับความเครียดในระยะยาวจะส่งผลอย่างไร

 

หากไม่ได้รักษาอาการปวดร่วมกับความเครียดและยังคงมีอาการอยู่เป็นระยะยาว ร่างกายก็จะมีสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินต่ำเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นความเจ็บปวดเรื้อรัง ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้จำนวนมากจะแสดงอาการเป็นความปวดร่วมกับอาการเครียดหรือซึมเศร้าแฝงอยู่ และจะไวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก (เช่น อาการแปรปรวน อาหารบางชนิด มลภาวะ ฯลฯ) และภายใน (เช่น การพักผ่อนน้อย การออกกำลังกายหนัก อารมณ์โกรธ ฯลฯ) ได้ง่าย ซึ่งหากรวบรวมประวัติและตรวจร่างกายก็จะพบว่าคนไข้มักจะมีอาการทางกายที่ไม่เจาะจงกับรอยโรค เช่น กล้ามเนื้อตึงตัวมี Trigger Point แต่มีสาเหตุไม่ชัดเจน, มีข้อหรือกล้ามเนื้อบวมโดยไม่มีอุบัติเหตุนำมาก่อน ฯลฯ อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ศูนย์ระงับความปวดที่ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกตินั่นเอง โดยความปวดนั้นอาจรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงาน ส่งผลให้สภาพจิตใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะรักษาตามแผนดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือตัดความเครียดโดยการลาออก ก็ไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้มากนัก กลุ่มของคนไข้ที่มีอาการเช่นนี้จะเข้ากับกลุ่มอาการ Fibromyalgia ซึ่งการวินิจฉัยโรคจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวดโดยเฉพาะ โดยจะต้องประเมินและตรวจแยกโรคอื่นๆ ทางกายออกไปแล้วจึงจะสามารถวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ การรักษาจะต้องผสมผสานระหว่างการใช้ยา กายภาพบำบัด และจิตบำบัดเข้าด้วยกัน และใช้เวลานานมากขึ้นในการรักษา

 

ดังนั้นหากใครที่มีอาการปวดตามร่างกายเป็นเวลานาน พยายามรักษาอย่างไรก็ไม่หาย และอาการปวดนั้นเริ่มทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งศักยภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงอารมณ์ ก็ควรเข้ารับการตรวจประเมินจากแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้นจนต้องใช้เวลานานมากขึ้นในการรักษา ทั้งนี้ อาการปวดเรื้อรังที่มีภาวะอารมณ์มาเกี่ยวข้อง และกลุ่มอาการ Fibromyalgia นั้นไม่มีอันตรายถึงชีวิต และหากได้รับการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ จนสามารถกลับไปมีชีวิตที่สดใสได้อีกครั้งอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X