×

สัมภาษณ์พิเศษ ชิเงรุ บัน สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลัง ‘สถาปัตยกรรมกระดาษ’

16.09.2024
  • LOADING...
ชิเงรุ บัน

หลังจากที่สถาปนิกชาวญี่ปุ่นอย่าง ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) ได้บินมาร่วมพูดคุยในงาน AAD Global Forum 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย THE STANDARD LIFE จึงมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษสถาปนิกเจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize 2014 ผู้อยู่เบื้องหลังอาคารสวยๆ และบ้านพักฉุกเฉินที่ทำมาจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ

 

วันนั้นเราคุยกับชิเงรุหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเข้มข้นอย่างแนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมและความท้าทายที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ผลงานสร้างชื่อของเขา ผลงานที่เขาโปรดปรานมากที่สุด เรื่อยไปจนถึงสิ่งที่เขาอยากจะสร้างแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำสักที (เชื่อเถอะว่าคุณไม่มีทางเดาคำตอบถูก)

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

และเหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากบุคคลที่มองว่าสถาปนิกควรให้ความสำคัญกับการอธิบายไม่แพ้การออกแบบ

 

Q: อยากรู้ว่าหลักในการออกแบบสิ่งต่างๆ ของคุณเป็นอย่างไร?

ชิเงรุ: ผมเริ่มต้นจากการเข้าใจพื้นที่และสถานที่ตั้งก่อน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานที่ หลักการใช้งาน และความต้องการของเจ้าของโครงการ ปัจจัยจะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ ผมไม่มีไอเดียพิเศษตายตัวตั้งแต่ต้น แต่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวคิดตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ผมให้ความสำคัญกับบริบทมากกว่าไอเดียของผม มันทำให้การออกแบบในแต่ละโครงการพิเศษและเป็นเอกลักษณ์ไปตามโปรเจกต์นั้นๆ

 

Q: ขึ้นอยู่กับแก่นความคิดของ Sustainability ด้วยหรือไม่?

ชิเงรุ: (ส่ายหน้า) จริงๆ ผมไม่รู้นิยามของ Sustainability เท่าไรนะ ผมใช้วัสดุที่รีไซเคิล เช่น ไม้ และอื่นๆ มานานมาก ก่อนมีการรณรงค์เรื่อง Sustainability จริงๆ แล้วผมก็แค่ไม่อยากใช้วัสดุให้สิ้นเปลือง ปัจจุบันคำว่า Sustainability ใช้กันทุกกรณี จนบางครั้งก็เป็นคำเชิงการตลาดไปแล้ว ตอนนี้มันกว้างและหลากหลายมากจนผมไม่เข้าใจว่าอะไรคือ Sustainability ผมจึงเลือกที่จะไม่ใช้คำว่า Sustainability มาเป็นวิธีการออกแบบของผม

 

 

Q: คุณเริ่มสนใจการออกแบบสถาปัตยกรรมกระดาษตั้งแต่เมื่อไร?

ชิเงรุ: ตั้งแต่ตอนเริ่มทำงานช่วงแรกๆ ผมออกแบบนิทรรศการจัดแสดงงานของ Alva Alto ปกติงานนิทรรศการจะใช้ไม้กัน แต่ผมไม่มีงบพอสำหรับการก่อสร้างไม้ ผมก็เริ่มตามหาวัสดุที่มาทดแทนได้ แล้วก็เจอกระดาษใส่แบบอยู่เต็มดีไซน์สตูดิโอ เลยเลือกสะสมกระดาษใส่แบบจนได้จำนวนมากเพียงพอเพื่อมาสร้างเป็นโปรเจกต์จบของผม แล้วก็ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/works/exhibitions/alvaro-aalto-exhibition/

 

Q: คุณคิดอย่างไรกับอนาคตของการสร้างสถาปัตยกรรมกระดาษและสถาปัตยกรรมจากวัสดุรีไซเคิล?

ชิเงรุ: ก่อนยุค 90 ผู้คนไม่ได้สนใจหรือยอมรับการออกแบบสถาปัตยกรรมจากกระดาษขนาดนั้น แต่พอมายุคนี้เราสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้สังคมเข้าใจสิ่งที่ผมทำ พวกเขาเข้าใจความหมายของวัสดุเหล่านี้มากขึ้น และมันก็ทำงานง่ายขึ้นมากๆ แต่ก็นั่นแหละ วัสดุใหม่ก็จะมีความยากในเรื่องของการออกแบบโครงสร้าง ทำให้เกิดความท้าทายกับการจัดการให้มันผ่านกฎหมายอยู่เสมอ

 

จากประสบการณ์ที่ทำมาตลอด สิ่งที่ยากสำหรับสถาปัตยกรรมแนวนี้คือไม่มีประเทศไหนที่มีกฎหมายรองรับสถาปัตยกรรมที่ออกแบบจากวัสดุเหล่านี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการทดลองและสร้างโปรโตไทป์ที่มีการทดลองรองรับ เพื่อขออนุญาตในการก่อสร้าง

 

แต่มันก็มีจุดแข็ง ความเป็นจริงแล้ววัสดุเหล่านี้มักมีอยู่ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไทย รวันดา แอฟริกา และที่อื่นๆ วัสดุชั่วคราวสามารถหาได้ในทุกพื้นที่ในสภาวะสงครามหรืออุบัติภัย โดยเฉพาะระบบฉากกั้นที่เราพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง มันสามารถหาวัสดุได้ในภาวะวิกฤตและปรับใช้ได้อย่างทันท่วงทีมากๆ

 

โบสถ์กระดาษหลังแผ่นดินไหวในออสเตรเลีย

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/works/cultural/cardboard-cathedral/

 

Q: คุณคิดว่าสถาปัตยกรรมสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างไรบ้าง?

ชิเงรุ: ผมขอเล่าในมุมมองของผมนะครับ เพราะผมทำงานด้าน NGO โดยมีมูลนิธิและโครงการออกแบบเชิงปฏิบัติการเป็นของตัวเองอยู่ด้วย หากมองจากกรณีแผ่นดินไหว เราพบว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่สิ่งที่คร่าชีวิตผู้คนโดยตรง แต่สถาปัตยกรรมที่เสียหายต่างหากที่โยงไปสู่การสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ผมจึงเชื่อว่ามันเป็นความรับผิดชอบของสถาปนิกด้วย ที่ควรมีบทบาทในการเข้าร่วมช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยแผ่นดินไหว

 

พอเกิดแผ่นดินไหว สถาปนิกส่วนมากจะช่วยกันสร้างสถาปัตยกรรมใหม่และโปรเจกต์ขนาดใหญ่หลังแผ่นดินไหว แต่ผมมองว่ามันไม่เพียงพอ เราควรร่วมกันสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสวัสดิการที่เป็นอาคารชั่วคราวด้วย เพราะสำคัญมากกับคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้พวกเขาสามารถผ่านวิกฤตการณ์หลังแผ่นดินไหวนี้ได้

 

ชิเงรุ บัน

 

Q: การสร้างบ้านพักพิงสำหรับผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัยมีความท้าทายอย่างไรบ้าง?

ชิเงรุ: มันเป็นสิ่งที่ผมทำมาอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายเลยไม่อยู่ที่แนวคิดการออกแบบ แต่อยู่ที่การออกแบบภายใต้งบประมาณเพื่อให้ได้งานที่คงทนมากกว่า เพราะการออกแบบที่พักในระยะชั่วคราวมีแผนการใช้งานประมาณ 2 ปี งบประมาณก็จะกำหนดมาสำหรับสถาปัตยกรรมที่อยู่ได้ประมาณ 2 ปี แล้วหลังจากนั้นก็กลายเป็นขยะอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

 

ความท้าทายของผมต่อไปนี้คือทำอย่างไรให้อาคารชั่วคราวในงบประมาณแบบชั่วคราวนี้ สามารถใช้ได้ยาวนานกว่านั้นเหมือนอาคารถาวรทั่วไป

 

โบสถ์กระดาษที่สร้างขึ้นมาชั่วคราวในโกเบ ถูกสร้างใหม่อีกครั้งที่ไต้หวัน และใช้งานต่อเนื่องเชิงถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/works/cultural/paper-dome-taiwan/

 

Q: เล่าให้ฟังหน่อยว่าช่วงนี้คุณทำโปรเจกต์อะไรอยู่บ้าง?

ชิเงรุ: ช่วงนี้ผมกำลังทำโปรเจกต์ที่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เราทราบกันดีว่าช่วง 2 ปีนี้มีการรุกรานจากรัสเซีย ผมจึงได้ออกแบบเชิงทดลองเกี่ยวกับฉากกั้น (Partition) แบบต่างๆ ที่สร้างความเป็นส่วนตัว (Privacy) ได้เพียงพอที่จะรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และยังตอบรับพฤติกรรมการอยู่อาศัยแบบผู้ลี้ภัยที่ต้องอยู่ร่วมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โรงยิมของโปแลนด์ และประเทศอื่นๆ โปรเจกต์นี้ผมทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวโปแลนด์ เราร่วมกันออกแบบพื้นที่เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองในสถานที่พักพิงชั่วคราว

 

กิจกรรมของเราต่อเนื่องกันหลายโปรเจกต์ รวมถึงการออกแบบโรงพยาบาลทางฝั่งตะวันตกของยูเครน สงครามในฝั่งตะวันออกทำให้มีผู้บาดเจ็บอพยพมาทางฝั่งตะวันตกเยอะมาก จนโรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ผมจึงได้ออกแบบโรงพยาบาลที่สร้างจากไม้

 

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/news/hospital-in-lviv/

 

นอกจากโปรเจกต์ในยูเครนแล้ว ช่วงเดือนมกราคมของปีนี้ยังมีแผ่นดินไหวใหญ่ที่โนะโตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมก็ไปช่วยออกแบบฉากกั้นสำหรับที่พักพิง ตอนนี้อยู่ในช่วงออกแบบบ้านพักพิงสำหรับผู้ประสบภัย เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังแผ่นดินไหว

 

ชิเงรุ บัน

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/news/2024-noto-peninsula-earthquake-disaster-relief-project/

 

Q: อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบงานของคุณ?

ชิเงรุ: การเข้าใจสถานการณ์ของสถานที่ออกแบบเป็นแรงบันดาลใจที่ดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการก่อรูปของวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ กระดาษ หรือคอนกรีต ทุกอย่างจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่เสมอ แม้แต่สภาวการณ์ที่โหดร้าย ก็อาจกลายเป็นวัตถุดิบทางความคิดที่ดีในการออกแบบ

 

การเลือกวัสดุก็เช่นกัน มันขึ้นอยู่กับเสียงของลูกค้า งบประมาณ และข้อมูลจากสภาวะแวดล้อมในบริบท ผมพยายามจะวางตัวเองแบบไม่ยึดติด แล้วรับฟังเสียงจากเจ้าของ ผู้ใช้งาน และเสียงจากองค์ประกอบแห่งไซต์ ผมไม่เคยมีแนวทางที่กำหนดตายตัว ทุกอย่างพลิ้วไหวไปตามชุดข้อมูลที่เหมาะกับการเกิดของสถาปัตยกรรม

 

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วผมมักไม่นำแรงบันดาลใจจากงานออกแบบพื้นถิ่นมาใช้ในการออกแบบสักเท่าไร แต่สำหรับโปรเจกต์ Pompidou Metz (ออฟฟิศของเขาบน Pompidou Centre ประเทศฝรั่งเศส) ผมเลือกใช้ฟอร์มหกเหลี่ยม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของฝรั่งเศสมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างงานออกแบบ

 

ภาพ: https://shigerubanarchitects.com/works/cultural/centre-pompidou-metz/

 

Q: ยังมีอะไรในโลกใบนี้ที่คุณอยากสร้างอีกบ้างไหม?

ชิเงรุ: ผมรักไวน์มากเลยครับ และหนึ่งในสิ่งที่ผมใฝ่ฝันมาตลอดคือการออกแบบสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับโรงผลิตไวน์ ผมมีความหลงใหลในไวน์ ผมส่งผลงานประกวดออกแบบโรงผลิตไวน์ไป 2-3 งานแล้ว แม้ตอนนี้จะยังไม่มีแบบที่ชนะการประกวด แต่ผมก็ยังหวังว่าจะมีโอกาสได้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงผลิตไวน์ในอนาคต

 

Q: มีโปรเจกต์ไหนที่มีความหมายหรือน่าจดจำเป็นพิเศษไหม?

ชิเงรุ: ตอบได้แบบไม่ลังเลว่า “ทุกโปรเจกต์ครับ” โปรเจกต์ก็เหมือนลูกๆ เราเลือกไม่ได้ว่าลูกคนไหนสำคัญกว่ากันจริงไหม เพราะลูกทุกคนสำคัญมาก เช่นเดียวกับทุกโปรเจกต์ที่ผมสร้างสรรค์ขึ้น

 

Q: คุณคิดอย่างไรกับแนวทางการทำงานของนิสิตนักศึกษาหลังจากที่ได้เห็นผลงานของพวกเขา?

ชิเงรุ: พวกเขาดีไซน์ได้น่าสนใจ แต่พวกเขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร เด็กใช้คอนเซปต์ในการออกแบบแต่ไม่มีเหตุผลและความหมายที่อยู่เบื้องหลัง บางครั้งก็เป็นการออกแบบโปรดักต์ที่อธิบายกลไกเชิงโครงสร้างได้ไม่ดี ผมว่าเด็กๆ สมัยนี้สามารถเป็นนักออกแบบที่ดีได้ บางทีในการเรียนการสอน ครูอาจมีหน้าที่ในการถามว่าทำไม แล้วให้เขาได้ฝึกอธิบายให้ชัดเจนและลงลึกกว่านี้ได้ก็น่าจะดีครับ

 

ชิเงรุ บัน

 

การฝึกอธิบายให้ดีเป็นส่วนสำคัญมาก เราจำเป็นต้องโน้มน้าวลูกค้าให้เข้าใจสิ่งที่เราทำ เราจำเป็นต้องทำให้เข้าใจ เห็นด้วย และอยากได้สิ่งนั้น เราจำเป็นต้องทำให้เขาเข้าใจได้ว่าทำไมนี่คือคำตอบที่ดีที่สุด ทำไมนี่คือทางเลือกที่ดีที่สุด และมันต้องมีตรรกะที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้

 

 

การฝึกให้นิสิตนักศึกษาอธิบายจึงสำคัญมากๆ ไม่แพ้การฝึกเรื่องออกแบบเลย เด็กที่หัวแข็งไม่ได้ผิด เพราะจะเป็นสถาปนิกต้องมีอีโก้ระดับหนึ่ง แต่อีโก้ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงอีโก้ในความเป็นตัวเอง ผมหมายถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ แต่แน่นอนครับต้องเป็นคนที่รับฟังด้วย เพราะสถาปนิกไม่ใช่ศิลปิน ศิลปินอาจทำงานที่อยากทำได้อย่างอิสระกว่า แต่สถาปนิกต้องปรับตามและรับฟังลูกค้าผู้จ่ายเงิน

 

และนั่นแหละ เราเลยมีหน้าที่ต้องอธิบายสิ่งที่เราทำให้เขาเข้าใจให้ได้ด้วย ดังนั้นอีโก้ในสถาปนิกจึงไม่ใช่อีโก้ของตัวตน แต่คืออีโก้ที่มีต่อหน้าที่ในการอธิบายให้ผู้คนเข้าใจสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้คนในชุมชน รัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด คุณต้องอึดพอที่จะพร้อมอธิบายให้ทุกคนเข้าใจคุณ

 

Q: อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นสถาปนิกในอนาคตไหม?

ชิเงรุ: ก็เหมือนกับคนรุ่นใหม่ในทุกวงการ การออกเดินทางสำคัญมาก การได้ไปเยือนประเทศต่างๆ สัมผัสวัฒนธรรมต่างๆ ดูอาคารที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งอาหารที่แตกต่าง สำหรับผมการออกเดินทางยังคงเป็นการศึกษาที่สำคัญมากสำหรับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X