×

Red Flag Sign สัญญาณปวดแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์

24.05.2024
  • LOADING...

ร่างกายของมนุษย์นั้นเมื่อเข้าสู่วัย 30 ปีเป็นต้นไปมักจะประสบปัญหาใหญ่คือร่างกายเริ่มถดถอยลงช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้า ระบบเผาผลาญของร่างกายลดลง กินอะไรก็น้ำหนักขึ้นง่าย หรือจะเป็นเรื่องความฟิตของร่างกายที่ลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด และอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของชาวออฟฟิศก็คืออาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง เริ่มเข้ามาถามหาบ่อยขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งที่เคยปวดแล้วหายไปในไม่กี่ชั่วโมง กลับปวดนานขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่หายสักที ไปนวดก็แล้ว ไปกายภาพบำบัดก็แล้ว จนบางครั้งทำให้เกิดความรำคาญ หรือรุนแรงจนต้องขาดงานเลยทีเดียว แล้ว Red Flag Sign หรือสัญญาณปวดแบบไหนที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์ อย่ารีรอ หมอจะมาไขข้อข้องใจให้ทุกคนดังนี้

 

รู้จักอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง ในวัยทำงานกันก่อน

 

ตามปกติอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง ของออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ ก็คือปวดจากกล้ามเนื้อที่ตึงตัวเป็นปมแน่น (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด และมักอาการดีขึ้นได้จากการดูแลตัวเอง ยืดกล้ามเนื้อ หรือนวดรักษา และอีกสาเหตุคือการปวดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังในระดับต่างๆ ตั้งแต่คอ อก หลังล่าง และกระเบนเหน็บ เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมกับอาการปวดร้าวชาลงแขนหรือขา ในกรณีนี้ควรต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจมีอาการกดทับไปถึงไขสันหลังในระดับนั้นๆ เพิ่มอีกด้วย

 

นอกจากนั้นอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในอวัยวะที่อยู่แกนกลางลำตัว การบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา จากกระดูกที่แตกหักหรือเคลื่อนเมื่อมีอุบัติเหตุ และอาการที่เกิดจากโรคอื่นๆ ที่ส่งผลให้ปวด เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อในกรวยไต เป็นต้น

 

อาการปวดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

 

สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาการ ‘ปวด’ ไม่ว่าจากกิจกรรมใดๆ ที่ควรต้องไปพบแพทย์ เพื่อการประเมินหาสาเหตุมากกว่าการดูแลรักษาด้วยตนเอง ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า ‘Red Flag Sign’ ของอาการปวด มีดังนี้

 

  • อาการปวดนั้นรุนแรงมาก ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ หรือหากหลับไปแล้วต้องตื่นเพราะอาการปวด (Night Pain)
  • อาการปวดนั้นรุนแรงจนไม่สามารถนั่ง ยืน หรือเดิน ได้ตามปกติ หรือไม่ดีขึ้นหากนอนราบ
  • อาการปวดเกิดร่วมกับอาการชา หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น เช่น มีอาการปวดคอและบ่าร่วมกับชาแขนและมือ หรือหยิบจับของหล่นทั้งที่ปกติสามารถทำได้ อาการชาแขน ขา หรือรอบรูทวารหนัก ฯลฯ
  • อาการปวดเกิดร่วมกับอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
  • อาการปวดเกิดร่วมกับอาการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วในหลักสัปดาห์หรือหลักเดือนแม้ว่าไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก
  • อาการปวดเกิดร่วมกับลักษณะของการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเปลี่ยนแปลง เช่น กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ทั้งที่แต่เดิมไม่มีปัญหา ฯลฯ
  • อาการปวดแย่ลงเมื่อมีอาการไอ จาม หรือเบ่ง เป็นต้น
  • เมื่อมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 6 สัปดาห์ ร่วมกับมีประวัติโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง โรคที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวานที่คุมไม่ได้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน เป็นต้น
  • เมื่อมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 6 สัปดาห์ ร่วมกับมีประวัติการใช้สารเสพติดฉีดเข้าหลอดเลือด
  • เมื่อมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 6 สัปดาห์ ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินโรคเรื้อรังอื่นๆ
  • อาการปวดไม่ดีขึ้นจากการกินยา ทำกายภาพบำบัด หรือแพทย์ทางเลือก ที่ได้ทดลองไปรักษามากกว่า 6 สัปดาห์

 

ข้อสำคัญในการรับรู้ Red Flag Sign ของตนเอง

 

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเพิ่มเติมสำหรับ Red Flag Sign คือ หากเรามีอาการนั้นๆ อยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความผิดปกติที่รุนแรงเสมอไป แต่เป็นสัญญาณให้คนทั่วไปได้สังเกตตนเอง เพื่อให้ตัดสินใจเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องลังเล ทั้งนี้เมื่อแพทย์ได้ทราบประวัติเหล่านี้ร่วมกับการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ก็จะสามารถวางแผนการรักษาได้ดีขึ้น โดยหากมีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเอ็กซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอ ก็จะทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จนทำให้การรักษาได้ผลสำเร็จ รวดเร็ว ตรงจุดมากขึ้น และช่วยป้องกันการแย่ลงของโรคในระยะยาวได้

 

สรุปว่าอาการปวดต่างๆ โดยเฉพาะอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง นั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่ในวัยทำงานที่อาจไม่มีเวลามากนักในการดูแลตัวเอง ก็ควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการปวดร่วมกับอาการใน Red Flag Sign ด้วยหรือไม่ หากมีก็ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจประเมินเพื่อรักษา อย่ารอหรือปล่อยไว้นานจนอาจทำให้ผลการรักษาแย่ลงและใช้เวลานานขึ้นในการหายเป็นปกติ ซึ่งทำให้รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising