อาการ ปวดสะโพก ร้าวลงขาเกิดจากอะไรได้บ้าง?
อาการปวดสะโพกร้าวลงขาในทางการแพทย์จะเรียกว่า Sciatica Pain (อ่านว่า ไซ-อา-ติ-กา-เพน) ซึ่งเป็นอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ซึ่งเส้นประสาทจะทอดจากในสะโพก (บริเวณแก้มสะโพก) ลงมาทางด้านหลังของต้นขาก่อนจะแตกกิ่งก้านไปยังขาและเท้า Sciatica Pain จัดเป็นอาการเจ็บปวดที่พบได้บ่อยในวัย 30-40 ปี
จากลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ เส้นประสาทไซอาติกจะวางพาดผ่านกล้ามเนื้อในสะโพกซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อหลายชนิด หากมีความผิดปกติของโครงสร้างหรือกล้ามเนื้อจนไปเบียดระคายเส้นประสาทก็จะทำให้เกิด Sciatica Pain ได้ กล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุบ่อยที่สุดคือกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (Piriformis Muscle) หรือในทางแพทย์แผนไทยจะใกล้เคียงกับสลักเพชรนั่นเอง
อาการแสดงของการปวดสะโพกร้าวลงขาที่เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส หรือสลักเพชรเป็นอย่างไร?
ลักษณะของการ ปวดสะโพก ร้าวลงขาที่เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสที่เรียกว่า Piriformis Syndrome นั้น จะมีจุดกดเจ็บในบริเวณกลางแก้มสะโพก ซึ่งถ้ากดหรือนั่งทับก็จะรู้สึกเจ็บปวดและร้าวลงมาที่ต้นขาด้านหลังตามแนวของเส้นประสาทไซอาติก ซึ่งสามารถปวดร้าวลงไปถึงปลายเท้าได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนั่งนานๆ หลายครั้งเมื่อมีอาการนี้จะถูกเรียกในทางแพทย์แผนไทยว่ามีสลักเพชรจมนั่นเอง
สาเหตุที่พบบ่อยของ Piriformis Syndrome
อาการปวดจากสลักเพชรจม (Piriformis Syndrome) เกิดจากการที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (Piriformis Muscle) ตึงตัว และไประคายเส้นประสาทไซอาติก เนื่องจากตัวเส้นประสาทนั้นวางแนบอยู่บน ใต้ หรือปักทะลุกล้ามเนื้อนี้ก่อนวิ่งเข้าสู่ต้นขาด้านหลัง ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสมีความหดรัดตัวขึ้น หรือถูกดึงเหยียดตึงตลอดเวลาก็จะทำให้ไปกด เบียด หรือระคายเส้นประสาทได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่พบได้บ่อยมาก
ทั้งนี้ ตัวกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสเอง หากหดรัดตัวเป็นปมกล้ามเนื้อหรือ Taut Band ก็ทำให้เกิดอาการร้าวลามลงขาได้ด้วยตัวของมันเอง หรือที่เรียกว่า Refer Pain ดังนั้นหากเราป้องกันหรือแก้ไขการหดรัดหรือตึงตัวมากกว่าปกติของกล้ามเนื้อนี้ได้ อาการปวดสะโพกร้าวลงขาก็จะดีขึ้นได้อย่างชัดเจน
อีกสาเหตุที่พบได้บ่อยและบางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยพลาดเนื่องจากลักษณะอาการคล้ายกันก็คือ อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอวคู่ที่ 5 และกระเบนเหน็บคู่ที่ 1 ที่จะมีอาการปวดร้าวจากบริเวณสะโพกลงขาด้านหลังเช่นกัน แต่อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักจะมีอาการปวดหลังร่วมด้วย และมักมีอาการชาน่องและเท้า หากอาการรุนแรงจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
ทั้งนี้ ทั้งสาเหตุจากกล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูกนั้นสามารถพบได้ในวัย 30-40 ปีเช่นกัน แต่พบว่าสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขานั้นเกิดจากกลุ่มอาการพิริฟอร์มิสมากกว่าจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ก็สามารถเจอทั้ง 2 เหตุนี้พร้อมๆ กันได้
ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการพิริฟอร์มมิส
- การนั่งนาน โดยเฉพาะท่าไขว่ห้าง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและอื่นๆ เกร็งอยู่ท่าเดิมนานเกินไป และระคายเส้นประสาทได้
- การนั่งบนเก้าอี้หรือพื้นผิวที่แข็ง ทำให้มีการกดทับที่กล้ามเนื้อและเส้นประสาทบ่อยครั้ง ทำให้เส้นประสาทเสียหาย
- การใส่กระเป๋าสตางค์ กุญแจรถ หรือของจุกจิกอื่นๆ ที่แข็งในกระเป๋าหลังของกางเกงและนั่งทั้งที่ยังมีของนั้นเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่อยู่ตรงจุดนั้นได้รับการระคายจนเส้นประสาทเสียหาย
- การที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสไม่แข็งแรงหรือถูกใช้งานอย่างหนัก เช่น การเดินเยอะ วิ่งเยอะ และไม่ค่อยได้รับการยืดกล้ามเนื้อ
- การใช้งานที่ผิดปกติ เช่น การหมุนตัวเร็วและแรงโดยใช้ขาเป็นจุดหมุน
- อุบัติเหตุ เช่น การหกล้มก้นกระแทก
เมื่อมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาควรทำอย่างไร?
เมื่อเริ่มมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาให้เลี่ยงสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการดังข้างต้นก่อน และหากอาการยังไม่มากสามารถลองยืดเหยียดกล้ามเนื้อสะโพกด้วยตนเองได้ โดยวิธีการยืดเหยียดสามารถทำได้โดย
- นั่งเก้าอี้ที่มั่นคง ลำตัวตั้งตรง และยกขาข้างเดียวกับที่มีอาการปวดสะโพกขึ้นวางพาดต้นขาอีกข้างคล้ายการไขว่ห้างของผู้ชาย
- เอามือและแขนคล้องประคองที่ใต้เข่าของขาข้างที่งอพาดอยู่ และค่อยๆ ดึงแขนข้างที่ประคองขึ้นแนบตัวพร้อมกับเอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย
- เมื่อถึงจุดที่ตึงใต้สะโพกให้ค้างไว้ 15-20 วินาทีแล้วคลายออก
- หากมีความรู้สึกคล้ายไฟฟ้าวิ่งจากสะโพกลงขาชัดเจนหรือปวดมาก ให้คลายมือออกทันทีเพื่อให้อาการปวดหายไป
- ทำวันละ 5-10 รอบ และแนะนำให้ทำในข้างที่ไม่มีอาการไปด้วยกัน
ท่าการยืดนี้สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยที่ต้องนั่งนานๆ แม้ว่ายังไม่มีอาการก็สามารถที่จะป้องกันการเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้ แต่หากผู้ที่มีอาการแล้วและได้ทำท่านี้ในเวลา 1-2 สัปดาห์อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดมากขึ้นจนรบกวนชีวิตประจำวัน แนะนำให้เข้ารับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยแยกโรคกับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาอาการ Piriformis Syndrome หรือสลักเพชรจม
สามารถทำได้โดยการทำกายภาพบำบัดและการยืดคลายกล้ามเนื้อ หากกล้ามเนื้อมีความแข็งตึงมากอาจใช้วิธีการคลายกล้ามเนื้ออื่นๆ เช่น การฝังเข็ม Dry Needling หรือการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดอื่นๆ นอกจากนี้การนวดแผนไทยโดยผู้เชี่ยวชาญ หากนวดได้ถูกต้องและไม่บดขยี้เส้นประสาทก็สามารถทำให้อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่เกิดจากสลักเพชรจมดีขึ้นได้เช่นกัน
สรุป
อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่พบบ่อยในวัยทำงานนั้น โดยมากเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อสะโพกที่ชื่อว่า Piriformis Syndrome หรือที่รู้จักกันในอาการสลักเพชรจม ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการยืดกล้ามเนื้อและการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรตรวจประเมินเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตอีกต่อไป